แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 508

ความเป็นตัวตนมีมากเหลือเกิน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เวลาที่สติเกิดอดไม่ได้ที่จะมีความรู้สึกว่า กำลังปฏิบัติ เป็นตัวตนไหมขณะที่รู้สึกว่ากำลังปฏิบัติ ใครหล่ะที่กำลังปฏิบัติ ไม่ใช่การสังเกต สำเหนียก รู้ในลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังรู้อ่อนเป็นลักษณะรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราที่กำลังรู้อ่อน ปัญญาจะต้องเกิดระลึกรู้ สังเกต สำเหนียกจนรู้ว่า ลักษณะรู้ ธาตุรู้ในขณะนั้น รู้อ่อนเท่านั้น เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นการสังเกต สำเหนียกจนเป็นการรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่เกิดมีความรู้สึกว่า กำลังปฏิบัติ จะพ้นความเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะว่าใครกำลังปฏิบัติ ก็ต้องเป็นเราที่กำลังปฏิบัติ แต่เมื่อไม่มีการศึกษา สังเกต สำเหนียกที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ตัวตนก็กระทำกิจของตัวตนต่อไป

การฟังเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ต้องฟังด้วยดี สังเกต สำเหนียก ในขณะที่สติระลึกรู้ เพื่อขัดเกลาการที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งปวงว่าเป็นตัวตน จนกว่าจะเป็นปัญญาที่เริ่มรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละทาง ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จริงๆ

ผู้ฟัง เท่าที่ผมฟังๆ ดู สังเกตดู ผู้ถามเป็นผู้ที่พยายามศึกษา และเป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งผู้ถามสงสัยข้อปฏิบัติว่า ตามที่ท่านฟังมามีการขัดแย้งกัน ท่านก็ไม่รู้ว่า จะปฏิบัติตามอาจารย์ท่านใด ส่วนมากอาจารย์ที่บรรยายทางวิทยุต่างๆ ก็เป็นผู้ที่ประชาชนนับหน้าถือตากันทั้งนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว จะเลือกอาจารย์ไหนก็ถูกทั้งนั้น ท่านก็เลยปฏิบัติทั้งสองอย่าง

เรื่องสมาธิรู้สึกว่า ท่านเข้าใจเรื่องของสติดี ท่านบอกว่า เวลาเข้าห้องปฏิบัติแล้วไปนั่งสมาธิสติจะเกิดมาก คือ การทำสมาธินั้นที่เป็นกุศล จะเกื้อกูลสติ เรื่องทำสมาธิ ก่อนๆ นี้ที่ผมยังไม่ได้ฟังอาจารย์บรรยายเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผมก็ทำอยู่ ขณะที่ทำสมาธิสติเกิด และเกิดมากกว่าขณะที่ไม่ได้ทำสมาธิ แต่ไม่รู้ว่า การทำสมาธินั้นสติเกิดมากกว่า ซึ่งสตินั้นก็มีทั้งมิจฉาสติและสัมมาสติ ลักษณะของสตินั้น ทั้งสัมมาสติก็ไม่รู้ ทั้งมิจฉาสติก็ไม่รู้ แต่รู้สภาพธรรมบางอย่าง

เมื่อก่อนนี้ผมทำสมาธิ อาจารย์ให้กรรมฐาน ท่องพุทโธ ท่องไปๆ เดี๋ยวก็นึกคิดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ เวลากลางวันเราก็ทำกิจกรรมต่างๆ บางวันถ้าไม่มีอุปสรรค วันนั้นพุทโธก็ตั้งอยู่ได้ดีหน่อย ถ้าวันไหนมีอุปสรรคอย่างรุนแรง พุทโธได้ ๓ – ๔ คำเท่านั้น ก็นึกไปถึงเรื่องอุปสรรคที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ แล้ว ซึ่งขณะนั้นเราก็ไม่รู้ ขณะที่ท่องพุทโธมีสติ เราก็ไม่รู้ว่ามีสติ แต่พอใจว่า วันนี้จิตอยู่กับพุทโธได้นานดี พอใจเท่านั้น ถ้าวันไหนจิตไม่ได้อยู่ที่พุทโธ คืนนั้นไม่พอใจ จิตฟุ้งซ่านบ้าง ไม่รวมบ้าง ก็ว่ากันไปต่างๆ นานา

ขณะที่จิตอยู่ที่พุทโธ ภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ ขณะนั้นไม่ได้รู้เลยว่า จิตที่ตรึกว่าพุทโธนั้น ก็รู้แต่ว่าเราท่องพุทโธ แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น และขณะที่จิตนึกคิดไปในอารมณ์ที่ประสบ ที่ไม่พอใจในวันนั้น ก็ไม่รู้ว่าจิตที่คิดนั้นก็มีสภาพเป็นอนัตตา ก็พยายามที่จะบังคับให้อยู่กับพุทโธ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ส่วนมากผู้ที่ทำสมาธิมักจะเป็นอย่างนี้

คืนไหนที่จิตอยู่กับอารมณ์กรรมมัฏฐานที่รับมาจากอาจารย์แล้ว คืนนั้นก็พอใจ ถ้าจิตไม่ได้อยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน ก็ไม่พอใจ ซึ่งแสดงว่า ผู้ที่ปฏิบัติสมาธินั้นไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ถ้าไปบอกผู้นั้นว่า ไม่รู้จักสภาพธรรมว่าเป็นอนัตตา เขาจะโกรธ เพราะเขาเชื่อว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ว่าลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาที่เกิดขึ้น ผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ปฏิบัติ เขาจะไม่รู้จริงๆ แต่อย่าไปบอกว่า เขาไม่รู้ เขาจะโกรธแน่

ที่อาจารย์เคยบรรยายว่า ผู้ใดที่จะปฏิบัติธรรม ไม่ให้เป็นนักปราชญ์ ผู้ที่จะศึกษาพระพุทธศาสนานี้ ไม่ให้เป็นนักปราชญ์เจ้าความคิด ถ้าเจ้าความคิดหรือเป็นนักปราชญ์แล้ว ผิดหมด เพราะว่าสัพพัญญุตญาณ ไม่ใช่ธรรมที่ธรรมดาสามัญชนที่จะคิดได้ ฉะนั้น จะต้องศึกษาตามพระธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงแล้ว และปฏิบัติตามพระองค์เท่านั้น ที่มีข้อปฏิบัติต่างๆ กันทุกวันนี้ ก็เกิดจากความคิดนี้ เพราะบางคนถือว่า เป็นเจ้าปัญญา เจ้าความคิด แต่คิดออกมาทีไรก็ผิดทุกที ถ้าจะปฏิบัติธรรมตามพุทธศาสนาแล้ว อย่าพยายามคิด

เวลานี้การศึกษาก็มีปัญหา ส่วนมากคนมักจะกลัวพระไตรปิฎก ทั้งที่ไม่เคยอ่านก็กลัวว่า อ่านแล้วจะไม่รู้เรื่อง ถ้าเป็นผู้ที่ฟังน้อย ปฏิบัติไม่ถูก และไม่รู้เรื่องจริงๆ ก็ต้องอ่าน ต้องพยายาม

คนส่วนมากมักจะไปหาหนังสือที่เกจิอาจารย์ต่างๆ แต่งขึ้นมา และมักจะไขว้เขว มักจะนำหัวข้อของพระพุทธเจ้ามาอ้าง และเอาความเห็นของตัวเองใส่ไป เพราะฉะนั้น การศึกษาเวลานี้ยาก และข้อปฏิบัติก็ยาก ขอเน้นว่า ถ้าตั้งใจจะศึกษาพระพุทธศาสนาและปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องพยายามศึกษาในพระไตรปิฎกให้ละเอียด ก็จะปฏิบัติได้ถูกหนทางแน่

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ได้แสดงความคิดเห็นของท่านที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์และเกื้อกูลต่อท่านผู้ที่สนใจจะศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มศึกษา

ขอกล่าวถึงการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘

สติปัฏฐานมี ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เป็นที่ยอมรับใช่ไหม ไม่มีใครคิดที่จะตัดออกไปสักหัวข้อเดียว หรือว่าบรรพเดียวใช่ไหม เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่ากิเลสมาก กายก็ยึดถือว่าเป็นเรา เวทนา ความรู้สึกต่างๆ ทั้งหมด ในวันหนึ่งๆ ก็เป็นเรา ยึดถือว่าเป็นตัวตน จิตแต่ละชนิด แต่ละขณะ แต่ละประเภท ก็ยึดถือว่าเป็นเรา ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ ก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเรา เป็นของเรา นี่คือกิเลส และในวันหนึ่งๆ จะมากสักแค่ไหน

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ คือ สภาพธรรมทุกอย่างที่มีจริง ที่ปรากฏ เพื่อที่จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น จะเลือกว่า สถานที่นี้ สำนักนี้ อยู่ที่นี่ จึงเป็นการปฏิบัติ เพียงเท่านี้ก็ไม่ถูก เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลาย ต้องเป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น เสมอกันหมด

จิตที่สงบก็ไม่ใช่ตัวตน จิตที่ไม่สงบก็ไม่ใช่ตัวตน พระผู้มีพระภาคทรงให้รู้ลักษณะของจิตที่ไม่สงบหรือไม่ เพราะเหตุใด เพราะเมื่อยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ จึงต้องอบรมเจริญปัญญา ให้สามารถรู้ได้จริงๆ ว่า แม้จิตที่ไม่สงบก็ไม่ใช่ตัวตน จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ สำหรับพุทธบริษัททั้งบรรพชิตและฆราวาส ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา หรือมิได้เจริญสมถภาวนาก็ตาม สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา จิตสงบ พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสให้ระลึกรู้ ลักษณะเฉพาะของจิตที่สงบ แต่ไม่ว่าจะบิณฑบาต ไม่ว่าอาหารจะประณีต ไม่ประณีต ไม่ว่าความรู้สึกจะเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นโสมนัส เป็นโทมนัสประการใดก็ตาม ไม่ว่าสัญญาจะเป็นความจำทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ทรงแสดงธรรมให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ เพื่อที่จะไม่ยึดถือสภาพของสัญญา ความทรงจำต่างๆ นั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคลด้วย ทั้งรูปขันธ์ ทั้งเวทนาขันธ์ ทั้งสัญญาขันธ์ ทั้งสังขารขันธ์ ทั้งวิญญาณขันธ์

เพราะฉะนั้น ปกติของบุคคลใดเป็นผู้เจริญสมถภาวนา ก็อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมที่สงบ ที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าบุคคลนั้นจะสงบตลอดเวลาไม่ได้ จะมีแต่จิตที่สงบเท่านั้นไม่ได้ จิตที่ไม่สงบก็มี จิตเห็นก็มี จิตได้ยินก็มี ด้วยเหตุนี้ พระสาวกทั้งหลายจึงเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานตามชีวิตจริงๆ ที่ท่านได้สะสมมา

ขณะที่คิดนึก บอกว่าระลึกไม่ได้ เมื่อยังไม่ได้อบรมเหตุปัจจัยที่จะระลึก การระลึกได้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็อบรมเจริญสติปัญญาที่จะรู้ว่า แม้สภาพที่คิดนึกก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังรู้เรื่อง เป็นธาตุรู้เรื่อง เป็นสภาพรู้คำ ไม่ใช่สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพรู้เสียงที่ปรากฏทางหู เป็นธรรมทั้งหมด ตามปกติ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นปกติของแต่ละชีวิต

สภาพธรรมตามความเป็นจริงมีหลายระดับขั้น รู้ชัด กับ รู้

รู้ชัด เพราะกำลังประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียงคิดนึก

รู้ชัด เพราะประจักษ์อย่างนั้น จะใช้คำว่า เห็นแจ้ง หรือว่าเห็นในสภาพธรรมที่ปรากฏได้ไหม ไม่ใช่เห็นโดยไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เพียงขั้นเข้าใจและคิด และก็คาดคะเน และก็รู้เฉยๆ แต่ยังมีความรู้ระดับขั้นต่างๆ ด้วย

ถ. เกี่ยวกับจดหมายฉบับนี้ ท่านอาจารย์ตอบปัญหาแล้ว และยกตัวอย่างบางเรื่อง เช่น คำว่า อ่อน ซึ่งทุกคนแตะลงไปที่ไหนที่อ่อน บุคคลนั้นย่อมรู้ว่า สิ่งนี้อ่อน แต่เป็นขั้นสติปัฏฐานหรือยัง คนส่วนมากก็บอกว่า ฉันก็รู้ว่าอ่อน ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แต่เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่าไม่รู้ ไม่เห็นมีสติอะไร และขั้นตอนที่ว่า เมื่อรู้อ่อนก็ระลึกถึงว่า อ่อนนี้เป็นรูป แล้วก็ระลึกอีกว่า รูปนี้ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นระดับขั้น เป็นตอนๆ อย่างนี้ คล้ายๆ กับว่า รวบยอดเข้าไปปนกันทีเดียว รู้อ่อนและก็รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นแต่เพียงรูปธรรม อะไรอย่างนี้ ไปรวบยอดอย่างนี้ จะมีสติตรงไหนใน ๓ ตอนนี้

ขั้นต้นใครๆ ก็รู้ แตะไปที่ไหนอ่อน ก็รู้ว่าอ่อน แต่เขาก็ไม่รู้ว่า อ่อนนี้เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ถ้าศึกษามาก็ระลึกได้ว่า อ่อนนี้เป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น และก็ระลึกอีกว่า รูปธรรมนี้ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล นี่ ๓ ระยะแล้ว ตรงไหนที่จะเรียกว่า สติเกิด และปัญญาเกิด รู้ชัดตามความเป็นจริง

สุ. การที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยการประจักษ์ ไม่ใช่เพียงแต่การรู้เพราะคิด หรือเพราะสติเพิ่งเริ่มระลึก นี่ต่างกัน การที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมจริงๆ การที่จะรู้ลักษณะของรูปธรรมจริงๆ ปัญญาจะต้องเกิดเพิ่มขึ้นเป็นความละเอียดจริงๆ

ขอกล่าวถึงทางตา เห็นอะไร ท่านมีความคิดนึกในสิ่งที่เห็นบ้างไหม ท่านอาจจะไม่สังเกตเลย แต่ความจริงการจดจำในรูปพรรณสัณฐาน เป็นความรู้ที่ซึมซาบ ว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ถ้าไม่นึกถึงสัณฐานนั้น จะมีความจำในลักษณะของโต๊ะ ในลักษณะของเก้าอี้ได้ไหม เพราะฉะนั้น เห็นกับการนึกถึงสัณฐานของรูปสิ่งที่ปรากฏ เป็นคนละขณะที่ต่างกัน ที่จะรู้ว่าเห็นในขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ในสีสันวัณณะที่เพียงปรากฏเท่านั้น โดยความเป็นนามธาตุ เป็นนามธรรมไม่ใช่ตัวตน และความรู้ต้องละเอียดขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความต่างกันว่า ที่เห็นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยที่ไม่ได้ตรึกหรือนึกถึงสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏนั้น ไม่ว่าจะตา หู จมูก ลิ้น กาย การระลึก การรู้ ต้องตรงลักษณะเพิ่มขึ้น

ขณะนี้เห็นหลายอย่างใช่ไหม เพราะสัณฐาน มีสัญญา ความทรงจำในสัณฐานนั้น ซึ่งไม่ใช่เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น การอบรมเจริญปัญญาต้องเพิ่มขึ้นจนเป็นความรู้ชัดขึ้นจริงๆ จึงจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรมทีละลักษณะได้

ถ. เท่าที่อาจารย์ชี้แจงมาแล้วนั้น สำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมทั่วๆ ไป ท่านทราบ ไม่ใช่ท่านไม่ทราบ สมมติว่า เราอยู่ในที่มืด ไปกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าที่เป็นของอ่อน แต่ยังไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เขาไม่รู้ในขณะนั้น ขั้นนี้เขารู้ว่าอ่อน ไม่ใช่รู้อย่างอื่น รู้ว่าอ่อนจริงๆ แต่ไม่มีสติ ไม่มีความคิดที่จะไปนึกถึงว่า อ่อนนี่เป็นรูปธรรมหรือเป็นตัวตนหรือเปล่า ถ้าไม่มีสติที่จะระลึกถึงอย่างนั้น จะไปรู้หรือว่าไม่ใช่ตัวตนอะไรอย่างนี้ เขารู้ว่าอ่อนในขณะนั้น แต่เขาไม่รู้ว่า อ่อนนี้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล อะไรทั้งนั้น เขายังไม่รู้ในขั้นนี้ เขารู้แต่ว่าอ่อน และไม่รู้ว่าอ่อนนั้นคืออะไร

สุ. ชีวิตจริงเป็นอย่างนี้ อ่อนต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดแน่ๆ ในความรู้สึกของเขา ไม่ใช่รู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพของรูปอ่อนที่ไม่ใช่อะไรทั้งหมด ไม่ใช่ ตัวตน สัตว์ บุคคล แต่ในความรู้สึกของเขา เป็นอะไรอย่างหนึ่งซึ่งอยากจะรู้ว่า อ่อนนั้นคืออะไร ไม่ใช่ความรู้ว่า เป็นแต่เพียงลักษณะของธาตุชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏเวลากระทบกาย เพราะฉะนั้น ต้องเจริญสติที่จะรู้ว่า คิด ไม่ใช่กำลังรู้ในสภาพที่รู้อ่อน หรือไม่ใช่การรู้ลักษณะอ่อนที่ปรากฏว่า เป็นสภาพที่ปรากฏ ไม่ใช่อะไรสักอย่างเดียว เป็นแต่เพียงธาตุอ่อน ลักษณะอ่อนเท่านั้นเอง

เปิด  164
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566