แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 365

ถ. ขอถามอาจารย์ว่า ผมนั่งกำหนดว่า อ่อน เพราะที่นอนก็นุ่ม ไม่ได้นั่งบนกระดาน ผมกำหนดอ่อนๆ ไม่ใช่ตัวตน เป็นภาพนึกไปเสีย เป็นมโนภาพ คิดไป สภาวะจริงๆ คืออ่อน สักประเดี๋ยวก็คิดว่าอ่อน อย่างนี้จะทำอย่างไร อ่อนๆ อยู่เรื่อย ไปอย่างนี้หรือ ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติครับ ไม่รู้จะทำอย่างไร

สุ. ยังไม่รู้ลักษณะของสติใช่ไหม เพราะฉะนั้น ยังเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ไม่ชื่อว่าเจริญสติปัฏฐาน อีกประการหนึ่ง การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่มีตัวตนว่าขณะนี้จะทำ แต่จะต้องรู้ว่า สภาพที่กำลังรู้ตรงลักษณะที่ปรากฏ ในขณะนี้มีลักษณะที่ปรากฏ ลองจับ สัมผัสที่นี่ ลักษณะที่ปรากฏตรงนี้

ถ. แข็ง

สุ. ไม่ใช่ตัวตนใช่ไหม

ถ. ไม่ใช่ตัวตน

สุ. ไม่ใช่ตัวตน รู้อย่างนี้ถูกไหม ถูก และทางตารู้แล้วหรือยัง ทางหูรู้แล้วหรือยัง ทางจมูกรู้หรือยัง จะไปปิดทวารอื่นหมดเพื่อจะให้รู้ลักษณะของทวารเดียว นั่นไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญสติที่ระลึกและรู้จริงๆ ว่า แต่ละลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

อย่างขณะนี้ สติจะระลึกที่กายที่แข็ง ระลึกแล้วสติดับไหม ดับ ตลอดวัน กี่ภพ กี่ชาติก็ตาม ทางกายที่จะรู้เกินอ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงไหวได้ไหม ก็ไม่ได้ นี่แหละคือ สิ่งที่เจริญไป อบรมไป จนกว่าจะรู้ชัด เวลาที่ระลึกทีไร ก็มีแต่ลักษณะที่อ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงไหวที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นี่เป็นเรื่องของกาย

แต่เวลาที่นึกว่าอ่อน สภาพที่คิดนึกไม่ใช่อ่อน นี่เป็นการเจริญอบรมจนกระทั่งสามารถที่จะระลึกได้แม้ในขณะที่กำลังเห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ้าคิดนึกเกิดขึ้น ไม่ได้บังคับ คิดนึกมีปัจจัยก็เกิด ซึ่งจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมที่คิด ไม่ใช่เรา ตัวตนจึงจะไม่มีได้

ถ. เท่านั้นหรือครับ ทำอยู่เท่านั้น

สุ. เท่านั้น ตลอดกี่ภพ กี่ชาติ ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ. อยู่ในมุ้ง ก็นึกอยู่เท่านั้นแหละ

สุ. ไม่ใช่นึก แต่รู้ว่าที่นึกก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่ลักษณะอ่อนที่ปรากฏ ซึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นจะต้องรู้ว่า แล้วแต่สติที่จะระลึกเมื่อไร เพราะอาศัยการฟัง แต่อย่ามีตัวตนที่จะทำขณะนั้น เพราะฉะนั้น ทางตาในขณะนี้ อาศัยการฟัง ยังไม่เคยระลึกรู้ทางตา ก็เริ่มระลึกที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ตามปกติ ทางหูอีก ยังไม่เคยระลึก เวลาที่ได้ยินได้ฟังมาว่า สติระลึกตรงลักษณะของเสียง ตรงลักษณะที่กำลังได้ยิน ที่กำลังรู้ รู้ว่าเป็นเพียงสภาพรู้เท่านั้น ระลึกอย่างไร ก็ระลึกไปเรื่อยๆ ๖ ทางเท่านั้น

เพราะฉะนั้น อุปสรรคของการเจริญปัญญา คือ ไม่ได้พิจารณาโดยถ่องแท้ว่า ขณะใดเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้รู้ได้ ถ้ายังคงผสมวิธีต่างๆ ขณะนั้นก็จะไปยึดถือว่าเป็นความรู้ แต่ความจริงแล้ว ไม่มีลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดปรากฏให้รู้

ถ. รูปแต่ละรูป ต่างก็มีสภาพของมันแต่ละอัน ใช่ไหม ผมสงสัยว่า จิตระลึกรู้ว่าไหว คราวนี้เกิดความยากขึ้นมาว่า สภาพของการไหวนี้ เป็นภาพนึก เพราะว่าสภาพไหว เมื่อรู้สึกว่าไหว เป็นนามเสียแล้ว สภาพของรูปเป็นการนึกไปเสียแล้ว ผมเห็นว่าเป็นการนึก ถ้ารู้เมื่อไร เป็นนามทุกที

สุ. ทีละทวารดีไหม ทางตาขณะนี้ อะไรกำลังปรากฏทางตา

ถ. รูปที่ปรากฏทางตา นี่นึกเอา

สุ. รูปที่ปรากฏทางตา นึกอย่างไรถึงจะมาปรากฏทางตา กำลังลืมตาและกำลังปรากฏ มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทำไมจึงว่านึก

ถ. พออาจารย์พูดคำว่าปรากฏ ขาดคำลงไป ก็เป็นนามแล้ว

สุ. เดี๋ยวนี้กำลังเห็นอะไร มีสิ่งที่กำลังปรากฏ

ถ. เห็นนาฬิกา

สุ. นาฬิกาเป็นนาม หรือเป็นรูป

ถ. นาฬิกาเป็นรูป

สุ. ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ สภาพรู้ต่างหากที่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น มีรูปปรากฏด้วย ที่สติจะต้องระลึกและรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

ก่อนที่จะมีการเจริญสติปัฏฐาน คน สัตว์ วัตถุสิ่งของต่างๆ ปรากฏอยู่เสมอให้เห็นได้ ใช่ไหม

แต่เวลาที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว ขณะใดที่เห็น รู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏนั้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ระลึกรู้บ่อยๆ เพราะความจริงเป็นอย่างนั้นจริงๆ จนกว่าจะรู้ชัดประจักษ์แจ้งว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นแต่เพียงสภาพของจริงที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่ว่าไม่มีสิ่งใดปรากฏ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะว่าปรากฏทางตา ปรากฏให้เห็นได้ทางตา แต่ที่กำลังรู้ คือ กำลังเห็น เป็นของจริงเหมือนกัน ซึ่งสติก็จะต้องระลึกรู้ว่า ขณะนี้ ที่กำลังเห็นนี้ เป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตาเท่านั้น

นี่คือ การอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถที่จะแยก รู้ลักษณะของนามธรรมว่าไม่ใช่รูปธรรม รู้ว่าลักษณะของรูปธรรมว่าไม่ใช่นามธรรม ซึ่งปัญญาที่รู้อย่างนี้ สามารถที่จะละคลายความไม่รู้ที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ทางตา ไม่ใช่มีแต่นามธรรม รูปธรรมมีด้วย ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ด้วย อย่ากล่าวว่า ระลึกทีไรก็มีแต่นามธรรมเท่านั้น อย่างนี้จะไม่เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะถึงความสมบูรณ์ที่จะแยก รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญสมบูรณ์ถึงขั้นการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

เพราะฉะนั้น สำหรับทางตา พูดไปทีละทาง ทีละทวารก่อน ทางตาเห็นหรือยังว่ามีรูปปรากฏ

ถ. เห็นแล้ว

สุ. ต่อไปทางหู ในขณะนี้ เสียงปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นของจริง เป็นรูปที่ปรากฏเฉพาะทางหูเท่านั้น แต่ขณะที่กำลังรู้ คือ กำลังได้ยินเสียง สภาพที่รู้เสียง คือ ขณะที่กำลังได้ยินนั้น เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สติจะต้องระลึกบ่อยๆ

เสียงมีปรากฏตลอดชีวิต เมื่อวานนี้ก็ปรากฏ ขณะนี้ก็ปรากฏ ต่อไปก็ปรากฏเพราะฉะนั้น ถ้าสติกำลังระลึกที่ลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏ ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าสติไม่เคยรู้เลยว่าเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้เสียง ไม่เคยระลึกได้ หมายความว่า ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ตัวว่ายังไม่ได้รู้ในลักษณะของนามใดของรูปใด สติก็จะเกิดระลึกรู้ลักษณะที่กำลังได้ยิน พิจารณา รู้ จนกระทั่งเป็นความรู้จริงๆ ว่า ที่กำลังได้ยินนี้ ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น แต่ว่าเป็นสภาพรู้เสียง เป็นสภาพรู้ทางหู

เพราะฉะนั้น สติจะระลึกรู้ลักษณะของรูป คือ เสียงก็ได้ สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ได้ยินก็ได้ แต่จะต้องอบรมจนกว่าจะชิน จนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าไม่ว่าสติจะเกิดระลึกที่ได้ยิน ก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางหูเท่านั้น ไม่มีเยื่อใย สงสัย ยึดโยงว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล

เป็นของจริง ธรรมดาที่สุด ปกติที่สุด ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้เป็นปกติด้วย แต่ถ้าหวั่นไหวว่าจะทำ หรือว่าจะจ้อง หรือว่าจะดู ขณะนั้นจะไม่รู้ แม้แต่ว่าจะจ้องอย่างไร จะทำอย่างไร จะดูอย่างไร

ที่มีปัญหากันอยู่นี้ ก็คือว่า จะจ้องที่ไหน จะทำอย่างไร จะดูอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องไม่รู้ และเป็นเรื่องตัวตน ที่แม้ว่าจะพยายามจ้อง ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่การรู้ว่าลักษณะที่ได้ยินเป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น

ถ. ตรงนี้สำคัญมาก และดีมากด้วย เสียงกับได้ยิน เพราะว่าผมเรียนมาในระยะ ๑๐ ปีเศษนี้ อาจารย์ผู้สอนหลายคนบอกว่า เพื่อละกิเลส แต่ของท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวว่า เพื่อละความไม่รู้ นี่ก็ต่างกัน

ที่ผมเรียนมาจากอาจารย์ตั้ง ๖ - ๗ อาจารย์กล่าวว่า เสียงไม่เป็นเหตุให้เกิดบุญบาป แต่ได้ยินต่างหากที่เป็นเหตุให้เข้าใจผิดหรือเข้าใจถูก เขาว่าอย่างนี้ ที่เสียง ไม่มีการทำลายกิเลส รับรู้เสียงแวบเดียวมาถึงได้ยินเลย ตรงได้ยินนี้ ให้กำหนดระลึกรู้ สติพยายามระลึกให้ทันว่าได้ยิน ไม่ใช่เราได้ยิน ไม่มีเราได้ยิน คือ หูเป็นผู้ได้ยิน ก็จะถอนสักกายทิฏฐิไปนิดหนึ่ง ถ้าว่าเราได้ยิน ใครมาด่า ก็ด่าเรานี่ เรื่องเสียงนั้นไม่สำคัญ คล้ายๆ กับว่าผ่านไปนิดเดียว เกือบไม่ต้องกำหนดเลย โดดข้ามไป ไปกำหนดที่ได้ยิน เพื่อละกิเลส

ทีนี้มาถึงอาจารย์สุจินต์ ไม่ยอมให้ข้ามสภาวะไป เป็นสิ่งที่ถูกเหมือนกัน และอาจารย์สุจินต์สร้างเข็มไว้ว่า สติระลึกรู้เพื่อละความไม่รู้ เป็นภาษาไทยตรงที่สุด เข้าใจง่ายที่สุด ไม่ยอมให้ข้ามเสียงไป ไม่ยอมให้ข้ามสภาวธรรมไป แต่อาจารย์อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ต่ำกว่า ๖ - ๗ คน ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ทั้งหญิง ทั้งชาย กล่าวว่า เสียงนี้ไม่เป็นเหตุให้เกิดกิเลส กิเลสนั้นอยู่ที่ได้ยิน ถ้าเมื่อใดเรารู้ว่า ไม่ใช่เราได้ยิน แต่เป็น โสตวิญญาณเป็นผู้รู้ เป็นผู้ได้ยิน เพราะฉะนั้น สักกายทิฏฐิก็ถอนออกไปนิดหนึ่ง ออกไปหน่อยหนึ่ง เป็นการถอนสักกายทิฏฐิ

แนวทางที่ได้ศึกษามาทั้ง ๒ ทางนี้ ผมไม่รู้ว่าจะดำเนินตามท่านผู้ใดดี เพราะว่าถูกทั้งสองข้าง อาจารย์สุจินต์ว่าข้ามไม่ได้ สภาวะต้องเป็นไปตามลำดับของเขา ต้องเป็นไปตามนั้น และเป็นไปเพื่ออะไร เพื่อละความไม่รู้ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ไม่ต้องอธิบายอีก เป็นภาษาไทยที่ตรงที่สุด ผมก็เห็นว่าถูก แต่พอมาฟังอาจารย์ที่ว่าเพื่อละกิเลส เพราะว่ากิเลสไม่ได้อยู่ที่เสียง กิเลสมันอยู่ที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น มี ๒ ทาง อาจารย์โปรดแก้ปัญหาให้ผมด้วยครับ

สุ. จะละกิเลสอะไรก่อน เวลาที่ได้ยินเสียง

ถ. ละสักกายทิฏฐิ

สุ. ละสักกายทิฏฐิ คือ การไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน อย่าลืม ท่านตอบว่า ละสักกายทิฏฐิ แน่ใจนะว่า ละสักกายทิฏฐิ ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าได้ยินเป็นนามธรรม ไม่ใช่เสียง ขออภัยที่คงจะต้องซักถามกันเป็นเวลานาน เพื่อความแจ่มแจ้งในข้อปฏิบัติที่จะเกื้อกูลท่านอื่นด้วย

ธรรมเป็นเรื่องละเอียด อย่างที่ท่านบอกว่า ให้ข้ามเสียง ไม่ต้องรู้ ให้รู้แต่ที่ได้ยินเท่านั้น แต่ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่า ได้ยินนั้นเป็นสภาพรู้ เพราะว่านี่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ เป็นเรื่องของความจริง เป็นเรื่องของเหตุกับผล

ถ. ตามที่กล่าวแล้วว่ามี ๒ ทาง แต่ละทางก็มีเหตุผลด้วยกัน จึงได้ถามท่านอาจารย์ว่า โดยเหตุผลแล้วอย่างไหนจึงจะถูก อาจารย์โปรดตอบเลยทีเดียว

สุ. ถ้าท่านต้องการความเข้าใจเป็นของท่าน ท่านคิด พิจารณา และตอบจึงจะแสดงว่าเป็นความเข้าใจของท่าน ที่ดิฉันบรรยายไป ดิฉันตอบไป เป็นความเข้าใจของดิฉัน แต่ไม่ใช่ความเข้าใจของท่าน เพราะฉะนั้น ที่จะทราบว่าเป็นความเข้าใจของท่าน คือ ท่านพิจารณาในเหตุผล คิด และตอบ จึงจะทราบว่า ท่านเข้าใจอย่างไรจากคำตอบของท่าน ในเมื่อดิฉันบรรยายแล้ว ตอบแล้วว่า ข้ามไม่ได้

แม้แต่การสำเหนียก สังเกต พิจารณา พร้อมสติที่ระลึกรู้ ปัญญาที่จะรู้ชัดว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ และเสียงเป็นแต่เพียงสภาพที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพรู้ เพียงเท่านี้ยังต้องเจริญอบรมจนกว่าจะเป็นความรู้ชัดจริงๆ จึงจะเกิดความสมบูรณ์ของปัญญา ที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณได้

ถ. คนที่นั่ง นอน ยืน เดินนี้ ท่านว่าไม่ใช่รูป เป็นปัญหาเรื้อรังมาว่า ไม่ใช่รูป เป็นคำขัดแย้งจากอาจารย์ซึ่งตัดบทว่า นั่ง นอน ยืน เดิน ไม่ใช่รูป ผมมีปัญหาต่อไปว่า อิริยาบถบรรพนี้ ให้รู้นั่ง นอน ยืน เดิน เมื่อเราเอาอิริยาบถบรรพนี้เป็นอารมณ์ หรือเป็นสภาวะที่ปรากฏ ที่สติจะต้องระลึกรู้ ซึ่งก็มีหลักอยู่ว่า จะต้องมีทั้งรูปและนามใช่ไหม เมื่อต้องมีทั้งรูปและนามแล้ว หลักของวิปัสสนาต้องมีรูปและนามควบคู่กันไป ถ้าอย่างนั้น นั่ง นอน ยืน เดิน เอารูปไปทิ้งไว้ที่ไหน ถ้านั่ง นอน ยืน เดิน ไม่ใช่รูป ก็เกิดปัญหาซ้อนปัญหาขึ้นมา เพราะว่าอิริยาบถบรรพนั้นกล่าวถึง นั่ง นอน ยืน เดิน ก็เมื่อนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่ใช่รูปแล้ว อารมณ์นั้นมิขาดไปหรือ

สุ. ขอถามเป็นข้อๆ เพื่อความเข้าใจชัดเจน ท่านมีความเห็นว่า รูปมีเท่าไร ๒๘ หรือว่า ๒๙

ถ. ๒๘ ครับ

สุ. กายคตาสติ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีรูปกี่รูป รูปยังคงเป็น ๒๘ รูปหรือเปล่า ปฏิกูลมนสิการบรรพ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น รูปยังคงเป็นรูป ๒๘ หรือเปล่า

ถ. มีรูป ๒๘ ผมไม่ได้เถียงหรอกครับ อิริยาบถบรรพ เขาเอายืนเป็นรูป นั่งเป็นรูป แต่ว่านั่ง นอน ยืน เดินนี้ ไม่เหมือนลักษณะของรูป ๒๘ เพราะรูป ๒๘ แต่ละรูปก็มีแต่ละลักษณะ ส่วนนั่ง นอน ยืน เดิน เป็นรูปรวม เป็นก้อนเป็นแท่ง อยู่มากมาย เขาเอารูปนี้มาใช้ ก็เลยตีกัน พอพูดว่ารูปปั๊บ ก็เป็นรูป ๒๙ ไป ก็ว่าผิดแต่ถ้าว่าไม่ผิด ก็เป็นรูปรวมกัน เขาว่าเป็นรูปนั่ง รูปกับรูปมาเจอะกันเข้า มีความหมายไม่เหมือนกันเสียแล้ว

สุ. ส่วนขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เป็นอาการของกาย ยังคงเพิ่มเป็นรูปรวมอะไรๆ อีกหรือเปล่า หรือว่ายังคงเป็นรูปใน ๒๘ รูปนั่นเอง

ถ. ก็อยู่ในรูป ๒๘

สุ. ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ปฏิกูลมนสิการ เป็นรูปที่รวมอยู่ในรูป ๒๘ อิริยาบถบรรพเป็นรูปที่รวมอยู่ในรูป ๒๘ หรือเปล่า

ถ. นั่ง นอน ยืน เดินนี้ หลักการต้องอาศัยรูปนามเป็นอารมณ์ จะปฏิบัติในอิริยาบถบรรพนี้ ถ้าหากนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่เป็นรูป เราจะเอาอะไรเป็นอารมณ์อาจารย์ต้องตอบผมก่อน เอาอะไรเป็นอารมณ์ แต่อาจารย์ฉลาดพอที่จะไม่ตอบ ผมไม่มีความรู้จึงถาม อาจารย์บอกว่าไม่เข้าใจให้ถาม พอเราถามอาจารย์ แทนที่อาจารย์จะตอบ อาจารย์กลับมาถามเรา ก็เราไม่รู้เราจึงถามอาจารย์ กลับไปกลับมาอย่างนี้เสียเวลา

สุ. เสียเวลาหรือ ขอให้กรุณาฟังดีๆ อีกครั้งหนึ่ง รูปมี ๒๘ รูป ไม่มีเกิน ไม่ว่าจะเป็นบรรพไหนก็ตาม เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูป จะต้องเป็นรูปหนึ่งรูปใดใน ๒๘ รูป นี่คือคำตอบ รูปมี ๒๘ รูป ไม่ว่าจะเป็นบรรพใด เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของรูป ต้องเป็นรูปใน ๒๘ รูป เท่านั้น

ถ. เข้าใจดีตอนนี้ แต่ท่านยังไม่ได้ตอบที่ว่า อิริยาบถบรรพนั้น ต้องอาศัยรูปเป็นอารมณ์ เมื่อนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่ใช่รูปแล้ว อะไรจะเป็นอารมณ์ที่เป็นรูป ถามอย่างนี้ครับ

สุ. ที่เป็นอาการ เป็นอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม อะไรจะนั่ง อะไรจะนอน อะไรจะยืน อะไรจะเดิน แสดงว่าได้ตอบว่า ที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดินนั้น ก็คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และรวมรูปอื่นที่เกิดที่กายด้วย ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ทรงอยู่ ตั้งอยู่ ไม่ว่าจะในอาการลักษณะนอน หรือนั่ง หรือยืน หรือเดินก็ตาม ที่เป็นรูปที่ปรากฏ จะไม่พ้นจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่คือคำตอบ

ถ. คือ อาจารย์ยอมรับว่า นั่ง นอน ยืน เดินนั้น เป็นรูปรวมใช่ไหม

เปิด  188
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566