แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 363

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถึงความประพฤติผิดในภริยาของเรา ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงถึงความประพฤติผิดในภริยาของคนอื่น ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร

อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วน ๓ อย่างนี้

ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสถึงการกล่าวเท็จ การกล่าวคำส่อเสียด ยุยงให้แตกจากมิตร การพูดคำหยาบ การพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ

ถ. ข้อความที่อาจารย์กล่าวนี้ เป็นสิ่งซึ่งน่าอนุโมทนา และที่อาจารย์สอนให้รู้รูปนาม ก็เพื่อให้เข้าถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งจะต้องกำหนดรูปนามให้ระลึกรู้ในขณะนั้น เป็นปัจจุบันด้วย ฟังอาจารย์มา ก็มีศรัทธาและปีติ แต่ก็คิดไปว่า คนสมัยพุทธกาลได้ฟังคำของพระพุทธองค์ ได้บรรลุธรรมเป็นขั้นๆ เรานี้อยากจะให้เป็นเช่นนั้นบ้าง แต่เราก็ไม่ได้ฟังถ้อยคำจากพระพุทธองค์ ซึ่งอาจารย์ก็มาวางรูปแนวสอนว่า การปฏิบัตินั้น ควรให้รู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีรูปและนามด้วย นี่เป็นแนวทางคนละสมัยกับพระพุทธองค์

สมัยของพระพุทธองค์นั้น ได้ฟังถ้อยคำของพระพุทธองค์ นั่นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ชนเหล่านั้นย่อมมีวิบาก มีมหากุศลจึงเกิดทันพระพุทธองค์ บัดนี้เราเกิดไม่ทัน เราก็มาฟังคำสั่งสอน มีอาจารย์ เป็นต้น ซึ่งกำลังแนะนำอยู่บัดนี้ ผมก็สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมอัดเทปของอาจารย์ไว้ ๓๐๐๐ กว่าฟุต และฟังทุกวัน ทั้งเช้า กลางคืนด้วย ตั้งใจมาวันนี้ก็เพื่อจะเรียนถามว่า จุดประสงค์ คือ จะเข้าถึงธรรม เข้าถึงสภาวะ แต่ว่าท่านทั้งหลายรวมทั้งผมด้วย ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเข้าถึงธรรม เข้าถึงสภาวะ สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง

อาจารย์สุจินต์กล่าวอยู่เสมอว่า ขอให้ระลึกว่า เวลาได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส อะไรต่างๆ นานานี้ ให้ระลึกรู้ เจริญสติ อาจารย์สอนเสมอเรื่องเจริญสติ

ผมจะสรุปอย่างนี้ คือ ทุกคนมีจุดประสงค์ที่อยากจะไปให้ถึงพระโสดาบัน พระโสดาบันนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แวบเดียว ไม่ใช่เห็นที่ละคราว แต่เห็นอย่างหนึ่งก็เท่ากับเห็นอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน นั่นคือผล ไม่ใช่เหตุ คราวนี้อาจารย์ก็วางรูปเป็น ๓ รูป ผมถือว่าเป็น ๓ รูปด้วยกัน อาจารย์สุจินต์วางในรูปที่ว่า สมมติว่าอาจารย์สุจินต์ถือค้อนกายสิทธิ์ จะตีฆนสัญญาให้แตก เพื่อเข้าถึงธรรม ทำไมผมจึงพูดเช่นนี้ เพราะว่ามีอยู่ ๓ อย่าง กล่าวโดยย่อว่า สันตติปิดบังอนิจจัง อริยาบถปิดบังทุกขัง ฆนสัญญาปิดบังอนัตตา

อาจารย์นี่ก็มี ๓ กลุ่ม คือ ควรจะแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีกลวิธี รายละเอียดที่จะอธิบายให้เข้าถึงจุดเดียวกันทั้ง ๓ กลุ่ม ทั้ง ๓ สาย คือ จะให้ถึงนิพพานเหมือนกัน ซึ่งแต่ละจุดก็ใช้สติปัฏฐาน ๔ เพราะฉะนั้น โปรดเข้าใจว่า ที่ศึกษากับอาจารย์สุจินต์นั้น ถึงธรรมโดยแน่นอน เพราะอาจารย์มีค้อนอาญาสิทธิ์อันหนึ่ง ผมสมมติว่าอย่างนั้น จะตีฆนสัญญาให้แตก เพื่อเพิกถอนอัตตาให้เป็นอนัตตา ใช่ไหมครับ อาจารย์รับรองว่าใช่ นี่เป็นความประสงค์ของอาจารย์สุจินต์ที่ปลุกปั้นมานักหนา ๓ - ๔ ปี ผมจับประเด็นได้ว่า ต้องการตีฆนสัญญา ข้อสำคัญ คือ เรา

อีกสายหนึ่งเขาทำอย่างไร เขาจ้องจะดู อาจารย์สุจินต์ใช้คำว่าจดจ้อง จะดูว่า อิริยาบถปิดบังทุกข์ ตรงไหนที่อิริยาบถปิดบัง ปิดบังทางไหน เขาก็สอนเข้าไปทางนั้น นี่เป็นเรื่องของอีกสายหนึ่ง เพื่อจะเพิกถอนอิริยาบถซึ่งปิดบังทุกข์ เพราะว่ามี ๓ จุดด้วยกัน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเป็นผล ก็สาวเข้าไปหาเหตุ เมื่อสาวเข้าไปหาเหตุแล้ว ทุกอาจารย์ก็มีรายละเอียดบอกว่า วิธีสาวไปหาเหตุนั้น ทำอย่างนั้นๆ

แต่ว่าตามความเข้าใจของผม ผมเรียกว่า จริต นิสัยถูกกับธรรมอันนี้ เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ เป็นต้นว่า อาจารย์สุจินต์สอนให้ตีฆนสัญญาให้แตก พูดก็ให้รู้ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ฟันฆนสัญญาออกหมดเป็น ๖ ส่วน และอาจารย์สุจินต์ก็สอน บอกว่า ให้รู้ร้อน รู้เย็น รู้อ่อน รู้แข็ง เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ว่า ที่เขาสอนมีความมุ่งหมายอะไร ต้องรู้ความประสงค์ของอาจารย์ด้วย มิฉะนั้น เราก็ไม่รู้ว่าอาจารย์สุจินต์พูดทำไม จ้ำจี้จ้ำไชทำไม ก็เพื่อให้เรากระจายฆนสัญญาออกไป

ทีนี้ อีกพวกหนึ่งไม่เป็นเช่นนั้น พร่ำสอนทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน นั่นเขาเพื่อ อริยาบถปิดบังทุกข์ อีกสายหนึ่งเหมือนกัน

แต่อีกพวกหนึ่ง สันตติปิดบังอนิจจัง นี่ไม่มีที่สอน ผมยังไม่เคยเรียน

ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์สุจินต์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๗ ก็ ๑๒ - ๑๓ ปีมาแล้ว ที่ผมมาพูดเช่นนี้ เพื่อมาสรุปความว่า จุดประสงค์ของนักศึกษาและผู้ฟังทั้งหลาย ก็มีความมุ่งหมายไปสู่นิพพาน แต่จะไปถึงขั้นโสดาบัน ต้องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แวบเดียว เพราะฉะนั้น ก็มี ๓ จุด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และคืออย่างไร ก็มี ๓ สาย แต่ละสายก็มีรายละเอียดของอาจารย์แต่ละคนๆ มีวิธีการสอนแตกต่างๆ กันไป

เพราะฉะนั้น ประชาชนทั้งหลาย งงกันหมด หาว่าอาจารย์สอนขัดกันบ้าง ที่จริงไม่ขัดเลย

สุ. เพื่อความแจ่มแจ้งของการเข้าใจในข้อปฏิบัติ ที่ว่าจุดประสงค์ของทุกท่าน คือ ต้องการที่จะบรรลุความเป็นพระโสดาบันบุคคล ถูกไหม บรรลุเมื่อไร

ถ. ความศรัทธานั้นมี ทุกคนก็อยากจะไปนิพพาน แต่อีกกี่ร้อยกี่พันชาติก็ไม่ทราบ แต่พยายาม ไม่มีกำหนด อาจารย์ถามว่าเมื่อไร ไม่มีกำหนดครับ แต่มีเจตนาเท่านั้นเอง

สุ. หมายความว่า ไม่สามารถจะทราบได้ว่า จะสามารถบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันได้เมื่อไร ขณะนี้ได้ไหม

ถ. คนอื่นอย่างไรไม่ทราบ ส่วนตัวผมไม่มีบารมี ไม่มีปัญญา รู้ว่าไม่ถึงแน่

สุ. ขณะนี้ยังบรรลุไม่ได้ เพราะว่าเหตุยังเจริญไม่สมควรแก่ผล เมื่อเหตุ คือ การอบรมเจริญปัญญายังไม่สมควรแก่ผลแล้ว ผลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนี้เกิดไม่ได้ แต่ถ้ามีการเจริญอบรมมาแล้วในอดีต ขณะนี้จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม

ถ. ถ้ามีผล มีอานิสงส์ มีวิบากมาแต่อดีต อาจรู้ได้เหมือนกัน

สุ. หมายความว่า การที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็คือ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงนั่นเอง ถ้าได้อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งถึงกาลที่จะรู้แจ้งได้ เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะได้ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ในขณะหนึ่งขณะใด ซึ่งเหมือนกับขณะนี้นั่นเอง ไม่ผิดกันเลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ จะเจริญอบรมอย่างไร สำหรับท่านผู้ฟังเอง

ถ. สำหรับตัวผมเอง เจริญสติให้ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น แต่ได้นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง ประมาณ ๕ ใน ๑๐๐

สุ. นอกจากนั้น ยังมีวิธีอื่นอีกไหม

ถ. มีเหมือนกัน มีเพิ่มเติมบางอย่าง แต่ก็อยู่ในนี้แหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ผมเพิ่มกายเข้าไปด้วย กาย หมายความว่าอิริยาบถ คือ ผมปฏิบัติ ๒ ทาง ของอาจารย์สุจินต์ก็ปฏิบัติ คือ ตา หู จมูก ลิ้น เท่าที่ระลึกได้ ที่บอกว่า ๕ ใน ๑๐๐ แต่บางคราว ผมก็ปฏิบัติในเรื่องอิริยาบถ อิริยาบถปิดบังทุกข์อย่างไร ผมก็สังเกตดูเหมือนกัน ทำทั้ง ๒ ทาง

สุ. วิธีปฏิบัติอิริยาบถ ปฏิบัติอย่างไร

ถ. ก่อนอื่น ผมอยากจะถามท่านอาจารย์สักนิดหนึ่ง และผมถึงจะตอบ คือ ในอิริยาบถบรรพ ที่ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงรู้นั่ง นอน ยืน เดิน เหยียด คู้ เคลื่อนไหว เดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง นี่เป็นพุทธพจน์ใช่ไหม

สุ. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายความว่า เห็นกายในกาย ในขณะที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน ที่พูด ที่นิ่ง ที่เหยียด ที่คู้ แล้วแต่จะเป็นอะไรก็ตาม แต่อย่าลืมคำว่า เห็นกายในกาย ซึ่งหมายความว่า รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะว่ามีลักษณะอาการของกายที่ปรากฏ มีลักษณะปรากฏ อย่าลืม

ที่ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่คิดเองว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่หมายความว่า มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏจึงรู้ว่า ลักษณะธรรมที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละอาการ แต่ละลักษณะนั้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละชนิดเท่านั้นเอง

ถ. ผมถามว่า คำว่ารู้ ภิกษุทั้งหลายพึงรู้นั่ง นอน ยืน เดิน รู้ รู้อะไร ผมถามตรงนี้ รู้อะไร รู้ท่าที่นั่งใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่ จะรู้ท่าได้อย่างไร ขณะนี้กำลังยืนอยู่ เป็นของจริง มีลักษณะสภาพธรรมอะไรปรากฏทางไหนบ้าง ขอให้แยกออกมาแต่ละทาง

ถ. ตอบไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจคำถาม

สุ. ขณะนี้กำลังยืนอยู่ เป็นของจริง และมีสภาพลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละทาง ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ถูกไหม

ถ. ใช่ครับ

สุ. แยกออกมาว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละทางในขณะที่กำลังยืนอยู่ในขณะนี้ แต่ละทางนี้ มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้รู้สภาพธรรมนั้นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

ถ. ผมรู้สึกว่า ยืน ท่าที่ยืนนี้ เป็นอาการที่ยืน ขณะที่จิตระลึกรู้ว่า ท่าที่ยืน เป็นอาการที่ยืนนี้ อย่างน้อยความเข้าใจของผมก็ว่า ไม่ใช่เรายืน ผมรู้สึกว่า ไม่ใช่เรายืน รู้สึกว่า ได้ถอนอัตตานุทิฏฐิออกไปนิดหนึ่ง

สุ. จำท่าทางไว้ หรือว่ามีอาการของรูปที่ปรากฏ ว่าอ่อน ว่าแข็ง ว่าตึง ว่าไหวตรงส่วนหนึ่งส่วนใด หรือว่าจำเป็นท่าเป็นทางเอาไว้ ที่ว่ายืน

ถ. ไม่ได้จำ ระลึกรู้ เพราะว่าการยืนก็ดี ยืนหลายท่าได้ใช่ไหม อย่างไรก็ได้ใช่ไหม ขณะนี้ผมยืนตัวตรงอยู่อย่างนี้ ผมก็ระลึกรู้ว่า ผมยืนอยู่อย่างนี้ ท่าที่ยืนเป็นอย่างนี้

สุ. ระลึกรู้ในท่า หรือว่าในอาการลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏที่กาย

ถ. ผมพูดไม่ถูก

สุ. มีอาการอย่างไร ลักษณะอาการของรูปธรรมที่ปรากฏที่กายนี้ มีอาการลักษณะอย่างไร

ถ. ผมไม่รู้จะตอบอย่างไร ถ้าอย่างนี้ ผมก็นั่ง ถ้าอย่างนี้ ผมก็ยืน อาการลักษณะที่ยืน ผมเข้าใจแล้ว อาจารย์ต้องการที่จะสอนให้รู้ว่า รูปต้องมีลักษณะแต่ละอย่าง ผมเรียน ผมศึกษา ผมรู้ว่าอาจารย์มุ่งหมายจะสอนตรงนี้

สุ. รู้แล้ว และเห็นด้วยหรือยัง หรือไม่เห็นด้วย ซึ่งรูปนี้ ที่จะรู้ได้ว่าเป็นรูปไม่ใช่นาม ก็เพราะว่ามีลักษณะของรูปนั้นปรากฏว่าไม่ใช่นามธรรม จึงรู้ชัดว่าเป็นรูปธรรม และลักษณะของนามธรรมก็ไม่ใช่รูปธรรม จึงรู้ว่าเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น สภาวธรรมต้องมีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าลักษณะไม่ปรากฏ แล้วจะเป็นความรู้ในอะไร

ถ. ขอระงับคำถามไว้ตรงนี้ก่อน เพราะว่าอิริยาบถบรรพนั้น อาจารย์ก็ทราบอยู่ว่า อิริยาบถบรรพมี ถ้ามีแล้ว ผมถามต่อไปว่า ลักษณะการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องอาศัยรูปนามเป็นอารมณ์ใช่ไหม นั่ง นอน ยืน เดินนี้ อาศัยอะไรเป็นรูป อาศัยอะไรเป็นนาม เป็นอารมณ์ ตามธรรมดา ทุกๆ บรรพต้องมีรูปนามเป็นอารมณ์ ครั้นมาถึงอิริยาบถบรรพ นั่ง นอน ยืน เดิน ผมถามอาจารย์ว่า ถ้าอย่างนั้นใช้อะไรเป็นรูป ใช้อะไรเป็นนาม เป็นอารมณ์ ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน ผมสงสัย

สุ. ขอเรียนย้ำว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทุกบรรพ ต้องมีรูปที่มีลักษณะปรากฏเป็นอารมณ์ จึงจะเป็นความรู้ที่ชัดว่า ลักษณะของรูปที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เปิด  269
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566