แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 346

อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปุญญาภิสันทสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๑ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ นี้เป็น ห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๒

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็น ห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๓

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้ เป็นมหาทานอันบัณฑิตพึงรู้ว่า เป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด

ทาน ๕ ประการ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน หาประมาณมิได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๑ ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๔

ท่านที่เคยถวายสังฆทาน ก็ทราบว่า สังฆทานนั้นมีอานิสงส์มาก แต่ว่าสิ่งที่เป็นมหาทานนั้น คือ ศีล การงดเว้นจากปาณาติบาต เพราะเหตุว่าในขณะนั้น ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน นี้เป็นทานประการที่ ๒ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๕

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร นี้เป็นทานประการที่ ๓ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๖

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท นี้เป็นทานประการที่ ๔ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๗

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทแล้ว ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน หาประมาณมิได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๕ ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๘ นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนี้แล นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ศีลเป็นมหาทาน

เพราะฉะนั้น ท่านที่ต้องการอานิสงส์ของทานมาก จะรักษาศีลหรือยัง เพื่อให้ครบถ้วน เพื่ออานิสงส์ เพื่อผลอันยิ่งใหญ่ เพราะเหตุว่าศีลเป็นมหาทาน

ถ้าท่านเคยล่วงศีลข้อหนึ่งข้อใด ขอให้ท่านลองย้อนพิจารณาถึงจิตของบุคคลที่ถูกท่านเบียดเบียนว่า ท่านทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อนมากน้อยประการใด หรือว่าการกระทำอกุศลกรรมที่ล่วงศีลไปนั้นไม่ทำให้บุคคลอื่น สัตว์อื่นเดือดร้อนเลย เป็นไปได้ไหม สิ่งที่ได้กระทำไปแล้ว ที่เป็นอกุศลกรรมบถ เป็นการล่วงศีล เป็นทุจริตกรรม บุคคลที่ท่านกระทำทุจริตกรรมด้วย ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของท่านมากหรือน้อย ซึ่งขณะนั้นท่านเบียดเบียน ท่านไม่ได้ให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่เขา แต่เมื่อท่านได้กระทำอกุศลกรรมไปแล้ว ทำให้บุคคลอื่น สัตว์อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ ฉันใด ท่านย่อมมีเวร มีภัย ที่จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น โดยที่ชีวิตวันหนึ่งๆ ก็ต้องได้รับผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในสังสารวัฏฏ์ ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงปรินิพพาน

ถ้าท่านเป็นผู้ที่จะละเวรภัยทั้งสิ้น ก็ต้องด้วยการเป็นผู้ที่ให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์อื่น คือ ไม่กระทำทุจริตอกุศลกรรมบถ

เรื่องของศีล เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามให้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในเรื่องศีล จุดประสงค์ก็เพื่ออนุเคราะห์ให้พุทธบริษัทได้เห็นเหตุและผลโดยละเอียด

เรื่องการรับผลของอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นการที่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในอดีตที่ผ่านมา หรือว่าการถือเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นที่ไม่ได้ให้ก็ตาม ท่านก็ได้รับผลของกรรมนั้นโดยที่ไม่ทราบเลยว่า กรรมที่ได้กระทำไปแล้วนั้นให้ผลหมดสิ้นหรือยัง และอกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้วนั้น ก็จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ ให้เกิดในนรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกายได้ด้วย

แม้ท่านได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว แต่ผลของอกุศลกรรมนั้นยังไม่สิ้น ยังไม่หมดไป การฆ่าสัตว์ก็จะให้ผลโดยการทำให้ท่านเป็นบุคคลที่อายุสั้น หรือว่าเป็นผู้ที่มีโรคมาก หรือว่าแม้อุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุสมควรที่จะให้ผลเกิดเมื่อไร ผลก็เกิดเมื่อนั้น โดยที่ทุกท่านไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้เลยว่า ท่านจะได้รับผลของปาณาติบาตเมื่อไรบ้าง

แต่ว่าการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ต้องรอโอกาส แม้ว่าท่านกำลังได้รับผลของอกุศลกรรม จะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บประการใดก็ตาม สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นได้ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมจริงๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต กุสีตวัตถุสูตร ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่ทำให้จมอยู่ อันบัณฑิตพึงเกลียด มีข้อความที่จะเกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังมีวิริยะ ในการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ข้อความในพระสูตรมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลายกุสีตวัตถุ ๘ ประการนี้

๘ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องทำการงาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักต้องทำการงาน ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ กายจักลำบาก ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสียไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๑

อย่าลืมว่า เป็นสิ่งที่บัณฑิตพึงเกลียด เพราะเหตุว่ามีใครบ้างไหมที่ไม่ทำงานแม้แต่ภิกษุก็มีกิจการงานที่จะต้องกระทำ

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำการงานแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราแลทำการงานแล้ว ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ กายลำบากแล้ว ผิฉะนั้น เราจักนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๒

ทุกท่านทำงานแล้ว เหนื่อย นอนเสีย ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและ รูปธรรมนั้น ก็เป็นสิ่งที่บัณฑิตพึงเกลียด แม้ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นความเหนื่อย หรือว่าความเมื่อย ความง่วง ความอ่อนเพลีย ล้วนเป็นนามธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สติก็ควรที่จะระลึกรู้ เพื่อจะได้บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ซึ่งท่านก็ตรวจสอบตัวท่านเองได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีธรรมที่บัณฑิตพึงเกลียดหรือไม่

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุต้องเดินทาง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักต้องเดินทาง ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ กายจักลำบาก ผิฉะนั้น เราจักนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงทางที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุทางที่ยังไม่บรรลุเพื่อทำให้แจ้งทางที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๓

ทุกท่านก็เดินทาง เพราะฉะนั้น ก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมอย่าคิดว่า กายจักลำบาก ผิฉะนั้น จะนอนเสีย ซึ่งขณะที่หลับไป สติไม่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม ในขณะนั้นได้

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเดินทางแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้เดินทางแล้ว ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ กายลำบากแล้ว ผิฉะนั้น เราจักนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงทางที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุทางที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งทางที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๔

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวเดินบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ กายของเรานั้นลำบากแล้ว ไม่ควรแก่การงาน ผิฉะนั้น เราจักนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๕

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการแล้ว กายของเรานั้นหนัก ไม่ควรแก่การงาน เหมือนถั่วชุ่มด้วยน้ำ ผิฉะนั้น เราจักนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๖

ข้อความต่อไป เป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านจะต้องได้รับผลของอกุศลกรรม คือ ปาณาติบาตที่ได้เคยกระทำมาแล้ว

อีกประการหนึ่ง อาพาธเล็กน้อยเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่าอาพาธเล็กน้อยนี้เกิดแก่เราแล้ว มีข้ออ้างเพื่อจะนอน ผิฉะนั้น เราจักนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๗

อีกประการหนึ่ง ภิกษุหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นาน กายของเราอ่อนเพลีย ไม่ควรแก่การงาน ผิฉะนั้น เราจักนอนเสียก่อน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงการงานที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุการงานที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งการงานที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้งนี้ เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๘

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุสีตวัตถุ ๘ ประการนี้แล

ถ้าพิจารณาจากพระสูตรนี้ มีเวลาไหนบ้างที่จะเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าจะอบรมปัญญา ไม่มีเลย ก่อนจะทำการงานก็ไม่มีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทำการงานแล้ว ก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบิณฑบาตได้โภชนะที่ประณีตและไม่ประณีตไม่พอแก่ความต้องการ สติก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม หรือว่าจะเดินทาง ก่อนจะเดินทาง ก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เดินทางแล้ว สติก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เจ็บไข้ สติก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม หายเจ็บไข้สติก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งพระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐาน การอบรมเจริญปัญญา เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อารัพภวัตถุสูตร

อารัพภะ การปรารภแล้ว คือ การที่สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและ รูปธรรม

มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อารัพภวัตถุ ๘ ประการนี้

๘ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องทำการงาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักต้องทำการงานแล ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ ไม่พึงมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ง่าย ผิฉะนั้น เราจะรีบปรารภความเพียรเสียก่อนเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่ ๑

ถ้าท่านเข้าใจเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเข้าใจข้อความตอนนี้ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นของจริง ที่เกิดขึ้นแล้วตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นขณะไหน มีลักษณะอย่างไรก็ตาม สติก็ควรจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นไม่ใช่หมายความว่า จะเจริญปัญญาวิปัสสนาเฉพาะในเวลาที่ไม่ประกอบกิจการงาน

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุที่ทำการงานแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ทำการงานแล้ว ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ ไม่สามารถจะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่ ๒

แล้วแต่อุปนิสสยปัจจัย อินทรีย์ที่สะสมมาว่า ขณะนั้นสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้มากแล้วหรือยัง ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อได้กระทำการงานเสร็จ ก็ไม่ละเลยโอกาสที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมต่อไป

ท่านเป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือผ่านไปอีก ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ถึงประโยชน์ ถึงหนทางที่เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ และก็รู้ว่าการที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ละขณะ เพียงแต่ละขณะจริงๆ นั้น ก็มีประโยชน์มากเพราะว่าเป็นการสะสมให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม ได้ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงชั่วขณะ สองขณะ สติก็ควรระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทันที แม้ในขณะนี้เอง

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุต้องเดินทาง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะต้องเดินทาง ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ ไม่พึงกระทำมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ง่าย ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่ ๓

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเดินทางแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้เดินทางแล้ว ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ ไม่สามารถมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้

ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่ ๔

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565