แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 341

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หากว่าโลภะไม่ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป หากว่าโทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่าโลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โลภะจึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้

โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ ฉันนั้นเพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้

จบกายสูตร

ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดกับทุกท่าน โลภะมีไหม โทสะมีไหม โมหะมีไหม กิเลสอื่น เช่น ความลบหลู่มีไหม ความยกตนเทียมท่านมีไหม เหล่านี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกเพื่อให้ปัญญารู้ชัด และท่านจะทราบว่า บุคคลใดละกิเลสได้ เพราะเหตุสมควรแก่ผล บุคคลใดยังดับกิเลสไม่ได้ เพราะเหตุยังไม่สมควรแก่ผล ด้วยเหตุนี้การที่จะละกิเลส เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญอบรมจริงๆ แม้ในเรื่องของกาย วาจา ใจ ก็ควรจะอบรมเจริญให้เป็นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ซึ่งจะต้องประพฤติตามศีลที่เป็นกุศล เป็นลำดับขั้น

เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงเรื่องของศีลเป็นลำดับข้อไป ตั้งแต่สิกขาบทที่เป็นนิจศีล คือ ศีล ๕

ศีล ๕ เป็นเรื่องที่ควรประพฤติปฏิบัติเท่าที่ท่านจะสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ ศีลข้อที่ ๑ ทุกท่านคงทราบแล้ว ได้แก่ เจตนาที่งดเว้นการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ปาณาติปาตา เวรมณี

สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา มีข้อความว่า

บรรดาคำเหล่านี้ คำว่า ปาณาติปาตสํวรฏฺเฐน ด้วยการสำรวมปาณาติบาต ได้แก่ ด้วยการปิดการทำสัตว์มีปาณให้ตกล่วงไป ชื่อว่าเป็นศีล

ปาณะ ได้แก่ สัตว์ที่มีชีวิตนั่นเอง เพราะฉะนั้น การสำรวมปาณาติบาต ไม่ล่วงการทำชีวิตของสัตว์ให้ตกล่วงไป ชื่อว่าเป็นศีล

ข้อความต่อไปมีว่า

ที่ว่าเป็นศีลนั้น คืออย่างไร

การงดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าศีล และการงดเว้นจากปาณาติบาตนั้นสำรวมอยู่ซึ่งปาณาติบาตนั้นนั่นเอง ไม่ก้าวล่วงปาณาติบาตนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าไม่ก้าวล่วง

แต่ในคำว่า ปาณาติปาตํ เป็นต้น การทำสัตว์มีปราณให้ตกล่วงไป ในบรรดาอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีคำอธิบายว่า การฆ่าสัตว์มีปราณ คือ มีปาณะ คือ การประหารสัตว์มีปราณ ชื่อว่าปาณาติบาต

ก็ในคำว่า ปาณะนี้ โดยโวหาร ได้แก่ สัตว์ โดยปรมัตถ์ ได้แก่ ชีวิตินทริยะ

การทำปาณาติบาตนั้น อันบุคคลให้เป็นไปแล้วในสัตว์เล็ก บรรดาสัตว์ทั้งหลาย มีสัตว์ดิรัจฉาน เป็นต้น ที่เว้นแล้วจากคุณ มีโทษน้อย ที่เป็นไปแล้วในสัตว์ใหญ่ มีโทษมาก

ถามว่า เพราะเหตุไร

แก้ว่า เพราะมีความพยายามมาก

แม้เมื่อมีความพยายามพอประมาณ ก็มีโทษมากเหมือนกัน เพราะวัตถุใหญ่

ปาณาติบาตที่เป็นไปในสัตว์มีคุณน้อย ในบรรดามนุษย์ เป็นต้น ที่มีคุณด้วยกัน มีโทษน้อย ที่เป็นไปในสัตว์ที่มีคุณมาก มีโทษมาก

แต่เมื่อรูปร่าง และคุณเสมอกัน เพราะกิเลสและความพยายามอ่อนปาณาติบาตก็พึงทราบว่ามีโทษน้อย เพราะกิเลสและความพยายามแรงกล้า ปาณาติบาตก็พึงทราบว่ามีโทษมาก

ท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาถึงการฆ่าสัตว์ว่า จะเป็นกรรมที่มีกำลังมากน้อยต่างกัน ก็เพราะวัตถุประการหนึ่ง คือ สัตว์ที่ถูกฆ่านั้น เป็นผู้ที่มีคุณน้อยหรือมีคุณมาก ถ้าสัตว์นั้นมีคุณน้อย ก็ย่อมเป็นกรรมที่แรงน้อยกว่าสัตว์ที่มีคุณมาก หรือว่าถ้าพูดถึงรูปร่าง ขนาด การฆ่าสัตว์เล็กย่อมเป็นกรรมที่มีความแรงน้อยกว่าการฆ่าสัตว์ที่มีรูปร่างหรือขนาดใหญ่ และอีกประการหนึ่ง ท่านจะต้องพิจารณาถึงความพยายามและกิเลสของท่านด้วยว่า ขณะนั้นกิเลสมีกำลังแรงกล้าหรือว่ามีกำลังอ่อน มีความพยายามมากหรือว่ามีความพยายามน้อยในการฆ่า

คนอื่นจะทราบได้ไหม เป็นเรื่องของตัวท่านเองจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะได้รู้ตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไปมีว่า

องค์ประกอบของปาณาติบาต มี ๕ คือ

๑. ปโร ปาโณ สัตว์อื่นที่มีชีวิต

๒. ปาณสัญญิตา รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง จิตคิดจะฆ่า

๔. อุปักกโม พยายามเพื่อจะฆ่า

๕. เตน มรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ถ้าเป็นไปแล้วอย่างนี้ ก็ครบองค์ คือ สัตว์อื่นที่มีชีวิต รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต จิตคิดจะฆ่า พยายามเพื่อจะฆ่า สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น ก็ชื่อว่า ท่านได้ล่วงทุจริตกรรมที่เป็นปาณาติบาตครบองค์ ๕

ถ. สำหรับข้อที่ ๑ ที่บอกว่า ปโร ปาโณ สัตว์อื่นที่มีชีวิต มีข้อถกเถียงกันอยู่มากว่า ฆ่าตัวเองจะเป็นการฆ่าสัตว์ไหม จะเรียกว่าครบกรรมบถหรือไม่ ในที่นี้ท่านระบุว่าเป็นสัตว์อื่น ตัวเราเองไม่ใช่สัตว์อื่น มีความชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ไม่ใช่ฆ่าตัวเอง ฆ่าตัวเองไม่เรียกว่าครบกรรมบถ

สุ. เรื่องของการฆ่าที่จะเป็นทุจริตกรรม เพราะเหตุว่าทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน มีใครอยากจะถูกคนอื่นฆ่าบ้าง ไม่มีแน่ แต่ว่าเวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะฆ่าบุคคลอื่น ลืมคิดถึงบุคคลที่จะถูกฆ่าว่า บุคคลหรือสัตว์ที่จะถูกฆ่าไม่ได้มีความปรารถนา หรือต้องการที่จะถูกฆ่าเลย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่รักที่สุด ไม่มีอะไรที่จะเกินกว่าชีวิต นี่เป็นความจริง

ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ ราชสูตร มีข้อความโดยย่อว่า

พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ตรัสถามพระนางมัลลิกาว่า รักใครที่สุด พระนางมัลลิกาทูลตอบว่า ไม่รักใครยิ่งกว่าตัวเอง เมื่อพระนางมัลลิกา ทูลถามพระเจ้า ปเสนทิโกศลว่า ทรงรักใครมากที่สุด พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสตอบว่า ไม่รักใครยิ่งกว่าตัวเองเลย

พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาค ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ใครๆ ตรวจตราด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว หาได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหนๆ ไม่เลย สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น

พอจะเห็นใจคนอื่น ไม่ฆ่าสัตว์อื่นบ้างไหม เมื่อเปรียบเทียบกับจิตใจของท่านเอง ทุกคนกลัวภัยที่จะเกิดกับชีวิต โดยเฉพาะอันตรายที่ถึงกับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ก็ตาม แต่เวลาที่ท่านกำลังจะเบียดเบียนชีวิตของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์น้อย ท่านไม่ได้คิดถึงข้อนี้เลย จึงได้เบียดเบียนได้ จึงได้ฆ่าได้

คำอุทานที่พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า ใครๆ ตรวจตราด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว หาได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหนๆ ไม่เลย สำหรับบุคคลที่ฆ่าตัวเอง แม้ว่าจะไม่ได้ฆ่าบุคคลอื่น จะตรงกับคำอุทานที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงเปล่งอุทานในขณะนั้นไหม

ต้องตรง ไม่ตรงไม่ได้ ถ้าไม่ตรง คำอุทานนี้ก็ต้องผิด รักตน ทำไมฆ่าตน สิ่งที่ลึกอยู่ในจิตของทุกคน คือ อนุสัยกิเลส นอนเนื่องอยู่ในจิต แม้ว่าจะยังไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดปรากฏเป็นสภาพของอกุศลจิตประการต่างๆ ก็จริง แต่ว่าอนุสัยกิเลสที่มีประจำอยู่ในจิตมีถึง ๗

อนุสัยกิเลสมี ๗ คือ กามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ มานะ ๑ ภวราคะ ๑ อวิชชา ๑

กามราคะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งผู้ที่จะดับอนุสัยนี้ได้เป็นสมุจเฉท คือ พระอนาคามีบุคคล แม้แต่พระโสดาบัน พระสกทาคามีบุคคล ก็ยังคงมีราคานุสัยที่เป็นกามราคานุสัย ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

กำลังนอนหลับไม่ปรากฏว่า ปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ แต่ทันทีที่ตื่น ต้องการอะไรบ้าง จะไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นความปรารถนาที่มีประจำอยู่ในใจ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะตามที่ต้องการ ยังมีความปรารถนาอย่างนั้นอยู่ แต่เมื่อไม่เป็นอย่างนั้น ไม่สมปรารถนา จึงฆ่าตัวตาย เพราะว่าไม่สามารถจะทนต่อสภาพที่จะไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา

เพราะฉะนั้น แม้บุคคลที่ฆ่าตัวตาย ก็เป็นเพราะเหตุว่า มีความพอใจ ยินดี ยึดมั่นในกาม คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในภว ในภพ ที่ต้องการ แต่เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ คือ ยังยินดีในสิ่งที่ต้องการ ไม่ใช่ว่าหมดความยินดีในภพ ยังมีความยินดี แต่เพราะไม่ได้ตามที่มีความยินดี ก็ไม่สามารถที่จะทนต่อสภาพที่จะได้สิ่งที่ไม่ตรงกับความปรารถนา จึงฆ่าตัวตาย

มีประโยชน์ไหมการฆ่าตัวตาย หนีภพไม่ได้ เมื่อยังมีอนุสัยกิเลสอยู่ ก็จะต้องมีการเกิด แล้วแต่ว่ากรรมจะทำให้เกิดในอบายภูมิ ในนรก หรือว่าเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่จะพ้นจากความปรารถนาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในภพไม่ได้เลย ยังคงมีความปรารถนานั้นติดตาม นอนเนื่องอยู่ในจิต ซึ่งกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิ ก็ไม่แน่ว่าจะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ หรือในสุคติภูมิ

เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใดได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นสุคติภูมิ ไม่ควรเลยที่จะฆ่าตัวตาย เพราะเหตุว่าไม่พ้นจากกิเลส และยังแล้วแต่กรรมว่า กรรมนั้นจะทำให้ปฏิสนธิในภพใด ภูมิใด ถ้าเป็นในภพภูมิที่ไม่สามารถจะฟังธรรม ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญกุศลได้ ก็ย่อมจะตกลงไปสู่ทางที่ต่ำ ไม่ใช่ไปสู่ทางที่เจริญ

ถ. เรื่องฆ่าตัวเอง ผมมีพระที่เป็นเพื่อน เป็นเปรียญ ๙ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ เป็นเจ้าอาวาส เป็นนักโหราศาสตร์ชั้น ๓ ขอโทษ ท่านตายไปแล้ว ท่านผูกคอตาย แต่ก่อนที่ท่านจะผูกคอตาย วันหนึ่งมีการทำบุญสมเด็จ ท่านก็มาช่วย ฉันหมาก ฉันพลู และท่านก็บอกว่าท่านไม่สบาย ผมก็พาไปส่ง พอรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ผมไปหา ขอดูดวงชะตาประจำปี ท่านก็เอาดวงไปดูแล้ว บวกเลข ผลลัพธ์เป็นเท่าไรไม่รู้ ท่านว่าประสาทฉันไม่ดีเลย นอนก็ไม่หลับ ต่อมาสัก ๔ - ๕ วัน ทางวัดมาบอกกับเจ้าคณะภาคว่า เจ้าคุณผูกคอตายเสียแล้ว ผมไปดูท่าน การผูกคอตายของท่านแปลกกับคนอื่น จุดธูป จุดเทียน มีขี้ธูป ไฟเทียนก็ยังแดงอยู่ ตัวท่านเองเป็นพระคณะมหานิกายห่มดอง ใส่ราชประคดเสร็จเรียบร้อย มีเก้าอี้อยู่ตัวหนึ่ง ตรงหน้าพระ ท่านผูกคอตาย

จะว่ากระไร เป็นเปรียญ ๙ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีความรู้อะไรๆ ทุกอย่างแม้กระทั่งโหราศาสตร์ ผูกคอตายเพราะเหตุไร แต่เท่าที่ทราบมา ท่านเป็นโรคประสาทอย่างที่ผมว่า ไปให้ท่านดูดวง ท่านบวกเลขไม่ได้ ทุกๆ คราวเคยทำได้ดี แต่วันนั้นบวกไม่ได้ บอกว่าดูไม่ได้เสียแล้ว ทำไม ๒+๒ เป็นเลขอะไรไม่รู้ ท่านบอกไม่ได้ ประสาทท่านเสียหมดเลย

จะบาปบุญคุณโทษก็เป็นเรื่องของท่าน ปัญหาที่จะมาพูดนี้ พระผูกคอตาย ศีลขาดไหม

ฆ่าตัวเอง หมดแล้ว จะมีอะไรเหลืออยู่มารับกรรมรับโทษเล่า ไม่มี ตายพร้อมกันไป จะเอาอะไรที่จะรับ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นปาราชิก แต่เป็นอาบัติทุกกฎ ซึ่งแปลว่า ทำไม่ดี คิดไม่ดี คิดผูกคอตาย เป็นอาบัติทุกกฎ เพราะฉะนั้น พระศีลไม่ขาด เพราะไม่มีอะไรจะขาดแล้ว หมดไปแล้ว กฎหมายเหมือนกัน ไม่เอาโทษ ถึงจะไม่ตาย ก็ไม่เอาโทษ

สุ. พระภิกษุที่ท่านฆ่าตัวเองตาย จะอาบัติหรือไม่อาบัติ

อาบัติ ใช้สำหรับเมื่อพระภิกษุท่านยังทรงเพศบรรพชิตอยู่ และได้ประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติ เมื่อประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติ ก็เป็นการต้องอาบัติ เพราะเหตุว่า ท่านยังคงอยู่ในเพศของบรรพชิต ยังมีชีวิตที่จะต้องรักษาพระวินัยต่อไป จึงเป็นอาบัติ ท่านจะต้องมีการกระทำคืน หรือแล้วแต่ว่า จะพ้นจากอาบัตินั้นด้วยประการใด

แต่สำหรับพระภิกษุที่ท่านฆ่าตัวเองตาย พ้นจากสภาพของความเป็นบรรพชิตแล้ว จะอาบัติได้อย่างไร ไม่ใช่ว่ายังทรงเป็นสมณะเพศอยู่ และมีการที่จะต้องกระทำคืนให้พ้นจากอาบัตินั้น แต่เพราะเหตุว่าเมื่อตายไปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องประพฤติต่อไปในเพศของบรรพชิต จึงไม่กล่าวว่าอาบัติ แต่ถ้าไม่ตาย เป็นอาบัติ เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำไปด้วยกำลังของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำ

เปิด  235
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566