แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 307

ถ. ท่านกระทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้รับอุทิศส่วนกุศลไหม

สุ. แล้วแต่การอนุโมทนาของบุคคลนั้น แม้แต่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ท่านผู้ใดเจริญบุญกุศล ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม บุคคลอื่นรู้ ก็แล้วแต่บุคคลนั้นจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา แต่การที่ท่านอุทิศให้เป็นส่วนกุศลของท่านเอง จิตของท่านเองเป็นกุศลที่จะอุทิศให้ แต่บุคคลอื่นจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา และจะได้รับผลของการอนุโมทนาหรือไม่ เป็นสิ่งที่ท่านไม่ทราบ แต่ควรจะเจริญกุศลกรรม คือ อุทิศส่วนกุศลให้

ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะกระทำบุญกุศลประเภทใดก็ตาม อุทิศได้ แต่ผู้ที่ท่านอุทิศไปให้ จะรู้ หรือจะอนุโมทนาหรือไม่ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะไม่อนุโมทนาในศีล เพราะเหตุว่ากำลังอดอยากเหลือเกิน สิ่งที่ต้องการที่สุด คือ การที่จะได้อาหารที่จะไม่หิวกระหายอีกต่อไป เพราะฉะนั้น จะอนุโมทนาในศีล ในสมาธิ ในปัญญาของบุคคลอื่นไหม ลองคิดดูถึงความเป็นจริง

แม้ในมนุษย์ภูมิ ผู้ที่กำลังอดอยากต้องการอะไร จะอนุโมทนาในศีล หรือจะอนุโมทนาในทานที่จะเป็นปัจจัยทำให้สบายขึ้น พ้นจากความทุกข์ซึ่งแสนที่จะทรมาน

ด้วยเหตุนี้ในการกระทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เปรต จึงเป็นเรื่องของทานทั้งหมด แม้ในพระไตรปิฎกเอง และไม่ใช่เฉพาะว่าจะต้องเป็นญาติเท่านั้น ถึงเป็นบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้เป็นญาติ แต่ว่าอยู่ในสภาพที่หิวโหย อยู่ในสภาพที่อดอยาก เป็นเปรต ปรากฏกายแก่พระภิกษุ เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านก็ถวายทานแก่พระภิกษุอื่น และก็อุทิศส่วนกุศลให้เปรตนั้นอนุโมทนา เปรตก็ได้ผลอานิสงส์ของการอนุโมทนานั้น

เพราะฉะนั้น ต้องแล้วแต่ว่าจะอยู่ในสภาพใด มีกุศลจิตที่จะอนุโมทนาในสิ่งใด ถ้ากำลังเป็นเปรต หิวกระหายที่สุด แต่ท่านเป็นผู้ที่รักษาศีล เปรตจะอนุโมทนาไหม ไม่ได้ให้อะไรที่จะเป็นปัจจัยให้ปลาบปลื้มปีติ

ในพระไตรปิฎก โดยมากถ้าเป็นเรื่องของเปรต ผู้ที่อุทิศส่วนกุศลไปให้ แม้พระภิกษุ เช่น ท่านพระสารีบุตรอุทิศให้เปรต ท่านก็ถวายทานแก่ภิกษุรูปอื่น ทั้งๆ ที่ท่านก็เป็นพระอรหันต์ สมบูรณ์พร้อมด้วยศีล และท่านก็แสดงธรรมเกื้อกูลบุคคลอื่นด้วยธรรม แต่แม้กระนั้นเวลาที่ท่านเห็นเปรต เปรตขอให้ท่านกระทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ท่านก็ถวายทานแก่ภิกษุรูปอื่น

สำหรับผลของกุศลจิตของผู้อนุโมทนา ก็ตามควรแก่ภูมินั้นๆ แล้วแต่ว่าบุคคลที่อนุโมทนานั้นอยู่ในภูมิใด อย่างมนุษย์นี้ อนุโมทนาในกุศลของบุคคลอื่น ผลของการอนุโมทนานั้นจะทำให้เกิดในสวรรค์ได้ สำหรับผู้ที่เป็นเปรต ถ้าอนุโมทนาในทานที่บุคคลอื่นอุทิศให้ ก็จะทำให้พ้นจากสภาพของความเป็นเปรตได้ หรือว่าถ้ากรรมยังไม่หมดสิ้น ก็เป็นปัจจัยทำให้ได้อาหาร พ้นจากความหิวกระหายได้ ตามกำลังของกรรมนั้นๆ

ถ. เรื่องของอนุโมทนานี้ ฟังดูคล้ายกับว่า จะต้องมีผู้ที่อุทิศส่วนกุศลให้ ผู้นั้นทราบแล้วจึงจะอนุโมทนา สมมติว่า ยังไม่มีใครอุทิศให้ แต่เราได้ทราบว่า มีใครเขาทำบุญกุศลประการใดก็ตาม เราได้รู้เรื่องของการกระทำเช่นนั้นแล้ว เราก็พลอยอนุโมทนา เช่นนี้จะถือว่าได้อนุโมทนาได้ไหม

สุ. ได้แน่นอน ในขณะนั้นเป็นกุศลที่มิใช่เป็นทานของตนเอง และก็ไม่ใช่ปัตติทาน แต่เป็นการอนุโมทนาในบุญกุศลของบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นกุศลจิต

มีผู้ฟังเขียนถามมาว่า จะให้เทวดาในสุคติภูมิ ได้รับความสุขในบุญกุศลของเราที่ได้กระทำไปแล้วทางใดบ้าง อย่างไรบ้างครับ

สุ. เทวดาก็อนุโมทนาในบุญกุศลที่มนุษย์กระทำ เพราะฉะนั้น มนุษย์ทำดี ไม่ว่ามนุษย์หรือเทพก็มีความสุขด้วยการอนุโทนาในกุศลของบุคคลอื่นได้ การอนุโมทนาในขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นจิตที่เป็นสุข นอกจานั้นยังเป็นเหตุที่จะให้ได้รับกุศลวิบากต่อไปด้วย ท่านผู้นี้ท่านห่วงเทวดา เทวดาสุขมากกว่ามนุษย์ เทวดาก็คงอยากจะเกื้อกูลว่า ทำอย่างไรจะให้มนุษย์เจริญกุศลมากๆ ให้พ้นจากความทุกข์ต่างๆ ปลีกย่อยในภูมิของมนุษย์เสียเร็วๆ ท่านผู้นี้อยู่ในภูมิมนุษย์ และในภูมิมนุษย์ก็มีทุกข์นานาประการที่เทพไม่มี เช่น ความหิว หรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่ท่านผู้นี้ก็มีกุศลจิต คิดถึงเทพที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน และก็เป็นภูมิที่มีความสุขมากกว่ามนุษย์ว่า ทำอย่างไรเทพจึงจะได้ความสุขจากมนุษย์บ้าง ถ้ามนุษย์ทำดี เทพก็มีกุศลจิต ขณะที่เป็นกุศลจิต ก็เป็นสุข และยังได้อานิสงส์ของการอนุโมทนา ซึ่งเป็นกุศลจิตนั้นด้วย

ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มาตาสูตร ซึ่งแม้แต่เทพเมื่ออนุโมทนาในธรรมแล้ว ก็ยังอนุโมทนาในทานด้วย มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านมหาโมคคัลลานะจาริกไปในทักษิณาคีรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้นแล นันทมารดาอุบาสิกา ชาวเมือง เวฬุกัณฏกะ ลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตร ทำนองสรภัญญะ

สมัยนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชมีกรณียกิจบางอย่าง เสด็จจากทิศอุดรไปยังทิศทักษิณ ได้ทรงสดับนันทมารดาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะ ประทับรอฟังจนจบ ขณะนั้นนันทมารดาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะจบแล้ว นิ่งอยู่

ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงทราบว่า กถาของนันทมารดาอุบาสิกาจบแล้ว จึงทรงอนุโมทนาว่า

สาธุ น้องหญิง สาธุ น้องหญิง

นันทมารดาอุบาสิกาถามว่า

ดูกร ท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า

ท้าวเวสสวัณมหาราชตรัสว่า

ดูกร น้องหญิง เราคือท้าวเวสสวัณมหาราช ภาดาของเธอ

นันทมารดาอุบาสิกากล่าวว่า

ดูกร ท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดแล้วนี้ เป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน

ท้าวเวสสวัณมหาราชตรัสว่า

ดูกร น้องหญิง ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับแก่ฉัน พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า จักมาถึง เวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทานให้ฉันด้วย ก็การทำอย่างนี้ จักเป็นเครื่องต้อนรับฉัน

ซึ่งนันทมารดาอุบาสิกา ก็ได้ให้จัดแจงขาทนียโภชนียาหารอันประณีตไว้ในบ้าน แล้วตอนเช้าก็ให้คนไปนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นประธาน ซึ่งได้เดินทางไปถึงเวฬุกัณฏกนคร แล้วก็ยังไม่ได้ฉันเช้า

เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จ ก็ได้ถามนันทมารดาอุบาสิกาว่า ใครเป็นคนบอกกาลการมาถึงของพระภิกษุสงฆ์แก่นันทมารดาอุบาสิกา ซึ่งนันทมารดาอุบาสิกาก็ได้กราบเรียนให้ทราบ แล้วได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กิจที่นับว่าเป็นบุญเป็นทานครั้งนี้ จงเป็นไปเพื่อความสุขแก่ท้าวเวสสวัณมหาราชเถิด

คือ อุทิศส่วนกุศลให้ท้าวเวสสวัณมหาราช ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวกับนันทมารดาอุบาสิกาว่า

ดูกร นันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกร นันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านเจรจากันต่อหน้าได้ กับท้าวเวสสวัณมหาราช ซึ่งเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มีศักดิ์มากอย่างนี้

นันทมารดาอุบาสิกาก็ได้กราบเรียนท่านพระสารีบุตรว่า ธรรมที่น่าอัศจรรย์ของท่านนั้นมิใช่มีเพียงเท่านี้ แม้ข้ออื่นยังมีอีก

สำหรับนันทมารดาอุบาสิกานี้ เป็นพระอริยเจ้าที่เป็นพระอนาคามีบุคคล และถึงความชำนาญอย่างยิ่งในฌานสมาบัติด้วย ในพระสูตรนี้จะเห็นได้ว่า เทพอนุโมทนาในธรรม และอนุโมทนาในทานด้วย เพราะฉะนั้น กุศลทุกประการ ถ้าเทพรู้ เทพก็อนุโมทนา และอุทิศบูชาแก่เทพได้

ถ. บุญที่กระทำไปแต่ละครั้ง เมื่อยังไม่ได้ให้ผลแก่ผู้กระทำ สามารถที่จะอุทิศไปได้กี่ครั้ง

สุ. ทำครั้งเดียวอยากจะอุทิศหลายๆ ครั้ง ทำไมไม่ทำอีก และอุทิศใหม่ ทำเสมอๆ บ่อยๆ และอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง บ่อยๆ เป็นประจำก็ได้ ทำกุศลเป็นประจำวัน และอุทิศส่วนกุศลเป็นประจำวัน ยังดีกว่าทำครั้งเดียวแล้วอุทิศสัก ๓ ครั้ง ซึ่งความจริงผู้ที่ท่านอุทิศส่วนกุศลไปให้นี้ จะได้รับอุทิศส่วนกุศลแล้วจะอนุโมทนาหรือไม่ ท่านก็ไม่ทราบ แต่ว่ากุศลของท่าน คือ การทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อกระทำแล้วก็อุทิศ ไม่ใช่ว่ากระทำครั้งหนึ่ง และเอาครั้งนั้นแหละอุทิศไปเรื่อยๆ

ถ. การถวายปัจจัยบำรุงพระศาสนา ผลแห่งบุญนี้เมื่ออุทิศไปแล้ว เปรตและชีวิตอื่นๆ จะได้รับหรือไม่ครับ เพราะไม่ได้ถวายกับพระภิกษุสงฆ์ หรือผู้ทรงศีลรูปใดหรือคนใดโดยเฉพาะ

สุ. การอนุโมทนาเป็นเรื่องของบุคคลที่รู้ คือ ถ้าใครรู้และอนุโมทนา เป็นกุศลจิตของบุคคลนั้น ก็ย่อมได้รับผล คือ กุศลวิบาก จะตอบเกินกว่านี้คงจะไม่ได้ แล้วแต่ว่าใครรู้ และคนที่รู้นั้นแหละ จะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา ถ้าท่านจะกระทำกุศลในขณะนี้ และบุคคลอื่นเห็น ถ้าเกิดกุศลจิตอนุโมทนา ก็ย่อมได้รับกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของกุศลจิตนั้น แต่ถ้าเห็นแล้วไม่อนุโมทนา ก็ไม่ใช่กุศลจิต ย่อมจะไม่ได้รับกุศลวิบาก

เพราะฉะนั้น ท่านจะทำกุศลโดยวิธีใดแล้วแต่ท่าน และเมื่อท่านอุทิศส่วนกุศลนั้น ก็แล้วแต่ว่าบุคคลใดจะรู้ และเมื่อบุคคลใดรู้ ก็แล้วแต่บุคคลนั้นว่า จะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา แต่ท่านก็ได้เจริญกุศล คือ กระทำกิจอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นรู้แล้วก็อนุโมทนาได้

ต่อไปขอกล่าวถึง การอุทิศส่วนกุศลแก่มนุษย์ด้วยกัน ให้มนุษย์ด้วยกันได้ทราบ และเกิดกุศลจิตอนุโมทนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะว่าเป็นการเจริญกุศลทั้งฝ่ายผู้ให้และฝ่ายผู้รับ

ข้อความใน ขุททกนิกาย เถรีคาถา จาปาเถรีคาถา มีว่า

ท่านจาปาเถรีได้เล่าว่า ท่านอุปกะ ผู้เป็นสามีของท่านในอดีต ได้กล่าวกะท่านว่า

เมื่อก่อนเราถือไม้เท้า เดี๋ยวนี้เราเป็นพรานเนื้อ เราไม่อาจออกจากเปือกตมอันร้ายกาจข้ามไปยังฝั่งโน้นด้วยความหวังได้ เมื่อก่อนนางจาปาดูหมิ่นเราว่า เป็นผู้มัวเมา ได้ปลอบบุตรเยาะเย้ยเรา เราจึงตัดเครื่องผูกของจาปาแล้วออกบวช

เหตุที่จะให้บวชแต่ละท่านก็คงจะไม่เหมือนกัน ซึ่งท่านจาปาเถรีก็ได้เล่าว่า

เรากล่าวว่า

ข้าแต่ท่านมหาวีระ ขอท่านจงอย่าโกรธเราเลย ข้าแต่ท่านมหามุนี ขอท่านจงอย่าโกรธเราเลย เพราะว่าผู้ที่ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมไม่มีความบริสุทธิ์ ตบะจักมีมาแต่ไหน ก็เราจักหลีกไปสู่บ้านนาลา ใครในที่นี้จักไปยังบ้านนาลาบ้าง ชนทั้งหลายย่อมผูกสมณะผู้เลี้ยงชีพโดยชอบธรรมไว้ ด้วยมารยาหญิง ดูกร ท่านกาฬะ (ท่านอุปกะผิวดำ) ท่านจงกลับมาเถิด จงมาบริโภคกามสุขเหมือนในกาลก่อน เราและพวกญาติของเราทั้งหมด จักยอมอยู่ใต้อำนาจของท่าน

แสดงให้ว่า ถึงแม้ว่าจะมีการชักชวนต่างๆ แต่บุคคลที่พร้อมที่จะสละทั้งหมด ก็ย่อมจะไม่หวนกลับมา

ซึ่งท่านอุปกะกล่าวว่า

ดูกร นางจาปา เจ้าพูดคำเช่นใด คำเช่นนั้นจะพึงเป็นถ้อยคำที่ดียิ่งแก่บุรุษผู้รักเจ้า ยิ่งไปกว่าที่เจ้าพูดถึง ๔ เท่าทีเดียว

เรากล่าวว่า

ดูกร ท่านกาฬะ เพราะเหตุไรท่านจึงละทิ้งเราผู้มีรูปงาม ผู้เป็นดุจต้นตัณหา มีดอกบานสะพรั่งตั้งอยู่บนยอดภูเขา เป็นดังต้นการะเกดมีดอกอันบาน และเป็นดุจต้นแคฝอยภายในทวีป ผู้มีร่างกายลูบไล้ด้วยจุนจันทน์แดง นุ่งห่มผ้าแคว้นกาสีมีค่าอันสูง เป็นผู้สมบูรณ์ไปเสียเล่า

ท่านอุปกะกล่าวว่า

พรานนก ปรารถนาตามเบียดเบียนนก ฉันใด เจ้าจักตามเบียดเบียนเราด้วยรูปร่างอันมีการตบแต่งต่างๆ ฉันนั้น หาได้ไม่

เรากล่าวว่า

ดูกร ท่านกาฬะ ก็ผลคือบุตรของเรานี้ ท่านเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นแล้ว ไฉนท่านจึงมาละทิ้งเรา ซึ่งเป็นผู้มีบุตรไปเสียเล่า

ท่านอุปกะกล่าวว่า

ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ผู้เป็นมหาวีรบุรุษ ย่อมละบุตร ละญาติ ละทรัพย์ ตัดเครื่องผูกพันเสียแล้ว ออกบวช เหมือนช้างสลัดเครื่องผูกไป ฉะนั้น

เรากล่าวว่า

บัดนี้ เราพึงเอาท่อนไม้หรือมีด ทุบหรือเฉือนบุตรของท่านนี้ ให้จมลงในแผ่นดิน ท่านจักไม่เศร้าโศกถึงบุตรหรือ

ท่านอุปกะกล่าวว่า

ดูกร นางผู้ชั่วช้า ผู้มีบุตรอันทำแล้ว ถ้าแม้เจ้าจักทิ้งบุตรให้สุนัขจิ้งจอกกินเป็นอาหาร เจ้าก็จักยังเราให้กลับคืนมาอีกไม่ได้

เรากล่าวว่า

เอาเถอะ ท่านกาฬะผู้เจริญ บัดนี้ ท่านจักไปไหน คือ จักไปสู่บ้าน นิคม นคร ราชธานีไหน

ท่านอุปกะกล่าวว่า

เมื่อก่อนเราเคยเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ ไม่ใช่สมณะแต่ถือตัวว่าเป็นสมณะ ได้เที่ยวไปตามบ้านทุกบ้าน ทุกนคร ทุกราชธานีน้อยใหญ่ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์นี้ ประทับอยู่ ณ ที่ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ทรงแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ เพื่อให้ละทุกข์ทั้งปวง เราได้ไป ณ สำนักของพระองค์ พระองค์ก็จักเป็นศาสดาของเรา

เรากล่าวว่า

บัดนี้ ขอท่านจงกราบทูลการกราบไหว้ของฉันกับพระพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกผู้ยอดเยี่ยม พึงทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วอุทิศส่วนบุญมาให้ฉันบ้าง

ท่านอุปกะกล่าวว่า

ดูกร นางจาปา ตามที่เจ้าพูด เราทำได้ บัดนี้เราจักกราบทูลการกราบไหว้ของเจ้ากับพระพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกผู้ยอดเยี่ยม แล้วจักทำประทักษิณสิ้น ๓ รอบ แล้วอุทิศส่วนบุญมาให้เจ้า

ก็ลำดับนั้น ท่านกาฬะได้หลีกไปถึงแม่น้ำเนรัญชรา ท่านได้พบพระสัมพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงอมตบท คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางดำเนินถึงความสงบทุกข์

ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้าแล้ว ทำประทักษิณ ๓ รอบ อุทิศส่วนบุญให้นางจาปาแล้ว ออกบวชในพระธรรมวินัย ได้บรรลุวิชชา ๓ ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว

เพราะฉะนั้น ในมนุษย์นี้ ก็อุทิศได้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นได้เกิดปีติ โสมนัส อนุโมทนาในกุศลที่ได้กระทำแล้ว ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตชีวิตของแต่ละคนว่า ได้สะสมมาทั้งกิเลส ทั้งสติ ปัญญาอย่างไรบ้าง กว่าจะดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นพระอรหันต์ เช่น ชีวิตของท่านอุปกะ หรือท่านกาฬะ ซึ่งในอดีตเป็นสามีของท่าน จาปาเถรีภิกษุณี จะเห็นได้ว่า ในชาติสุดท้ายที่จะเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ได้ผ่านชีวิตที่สะสมมา ทั้งกิเลสมากมาย และทั้งสติปัญญาที่จะทำให้ท่านบรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์

สำหรับเรื่องการอนุโมทนาในกุศลของบุคคลอื่น ควรจะเป็นเรื่องไม่ยากเลย และผลที่เกิดเพราะการอนุโมทนาในกุศลของบุคคลอื่นนั้น ไม่ใช่เล็กน้อย แล้วแต่สภาพของจิตที่อนุโมทนานั้นว่า จะเป็นปัจจัยทำให้รับผลมากเพียงไร

เปิด  193
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565