แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 310

ในภพสุดท้ายท่านเป็นพราหมณ์ และได้ไปสู่วิหารของดาบส ซึ่งเป็นพวกที่เคยบวงสรวงบูชา และในวันนั้น ดาบสนั้นก็ได้ตระเตรียมอาหารอย่างมาก ทำให้ท่านสงสัยว่า เกนิยดาบสนั้นจะบวงสรวงแก่ใคร ซึ่งเกนิยดาบสตอบว่า

เราใคร่จะบวงสรวงเครื่องบูชาในพราหมณ์ที่สมมติกันว่าประเสริฐ เราไม่ได้เชื้อเชิญพระราชา ไม่มีการบวงสรวง อาวาหมงคลของเราไม่มี และวิวาหมงคลของเราไม่มี พระพุทธเจ้าผู้ให้เกิดความยินดีแก่ศากยะทั้งหลาย ประเสริฐที่สุดในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ทรงทำประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งปวง นำสุขมาให้แก่สรรพสัตว์

วันนี้เรานิมนต์พระองค์ เราจัดแจงเครื่องบูชานี้เพื่อพระองค์ พระพุทธเจ้ามีพระรัศมีดุจสีมะพลับ มีพระคุณหาประมาณมิได้ ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีใครเสมอด้วยพระรูป เรานิมนต์เพื่อเสวย ณ วันพรุ่งนี้

ซึ่งข้อความต่อไป เกนิยดาบสก็ได้สรรเสริญพระผู้มีพระภาคเป็นอันมาก ซึ่ง เสลพราหมณ์เมื่อได้ฟังเกนิยดาบสกล่าวประกาศว่า พุทโธ ท่านก็กราบทูลพระผู้มีพระภาค เล่าให้ฟังถึงก่อนที่ท่านจะได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ด้วยการได้ฟังธรรมและได้อุปสมบท ท่านกล่าวว่า

เมื่อเกนิยพราหมณ์ประกาศว่า พุทโธ เสียงประกาศนั้น ข้าพระองค์ได้แสนยาก เพราะได้ฟังเสียงประกาศว่า พุทโธ ปีติย่อมเกิดแก่ข้าพระองค์ ปีติของ ข้าพระองค์ไม่จัดอยู่เฉพาะภายใน แผ่ซ่านออกภายนอก ข้าพระองค์นั้นเป็นผู้มีใจปีติได้กล่าวดังนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นเชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ ประทับอยู่ที่ไหน เราจักไปนมัสการพระองค์ผู้ประทานสามัญผล ณ ที่นั้น ขอท่านผู้เกิดโสมนัส พนมกรอัญชลี โปรดยกหัตถ์เบื้องขวาขึ้นชี้บอก พระธรรมราชาผู้บรรเทาลูกศร คือ ความโศกเศร้าแก่ข้าพเจ้าเถิด

ซึ่งเกนิยพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า

ท่านย่อมเห็นป่าใหญ่อันเขียวขจี ดังมหาเมฆที่ขึ้นลอยอยู่เสมอด้วยดอกอัญชัน ปรากฏดุจสาคร พระพุทธเจ้าผู้ฝึกบุรุษที่ยังมิได้ฝึก เป็นมุนี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ให้ตรัสรู้ในโพธิปักขิยธรรม พระองค์นั้นประทับอยู่ที่นั่น

ซึ่งเสลพราหมณ์ก็ได้กล่าวกราบทูลว่า

ข้าพระองค์ค้นหาพระชินเจ้า เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำหาน้ำ เช่นดังคนหิวข้าวหาข้าว

ถ้าท่านเป็นผู้ที่ใคร่ต่อการขัดเกลากิเลส ที่จะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านมีความรู้สึกคล้ายๆ อย่างนี้ไหม เวลาที่ท่านได้มีโอกาสฟัง และเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะมีความรู้สึกคล้ายๆ ที่ท่านเสลพราหมณ์กราบทูลว่า

ข้าพระองค์ค้นหาพระชินเจ้า เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำหาน้ำ เช่นดังคนหิวข้าวหาข้าว ปานดังแม่โครักลูกค้นหาลูก ฉะนั้น

ข้าพระองค์ผู้รู้อาจาระและอุปจาระ สำรวมตามสมควรแก่ธรรม ให้พวกศิษย์ของตนผู้จะไปยังสำนักพระชินเจ้าศึกษาว่า พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ใครๆ คร่าไปได้ยาก เสด็จเที่ยวอยู่พระองค์เดียว เปรียบเหมือนราชสีห์ ท่านมาณพทั้งหลายควรเดินเรียงลำดับกันมา

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ยากที่ใครๆ จะคร่าไป เปรียบเหมือนอสรพิษร้าย ดุจไกรสรมฤคราช ดังช้างกุญชรที่ฝึกแล้วตกมัน ฉะนั้น ท่านมาณพทั้งหลาย จงอย่าจามและอย่าไอ เดินเรียงลำดับกันเข้าสู่สำนักของพระพุทธเจ้าเถิด

นี่ด้วยความศรัทธา มั่นคงเลื่อมใสอย่างยิ่ง แม้ได้ฟังเพียงคำว่า พุทโธ ก็ทำให้เกิดปีติที่จะได้เฝ้าด้วยความศรัทธาอย่างยิ่ง และท่านได้กล่าวต่อไปว่า

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเป็นผู้หนักในการอยู่ในที่เร้น ชอบเงียบเสียง ยากที่จะคร่าไปได้ ยากที่จะเข้าเฝ้า เป็นครูในมนุษย์โลกพร้อมทั้งเทวโลก เราทูลถามปัญหาใด หรือได้ปราศรัยโต้ตอบอยู่ ขณะนั้นท่านทั้งหลายจงเงียบเสียง หยุดนิ่งอยู่ พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรมอันเป็นแดนเกษม เพื่อบรรลุนิพพาน ท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมนั้น เพราะการฟังสัทธรรมเป็นความงาม

นี่คือ ผู้ที่ได้เพียรสะสมขัดเกลากิเลสมาในอดีต จนกระทั่งถึงชาติสุดท้ายที่จะได้เฝ้า ได้ฟังสัทธรรม

ข้อความต่อไป ท่านได้กราบทูลว่า

ข้าพระองค์พร้อมด้วยศิษย์ ๓๐๐ คน ออกบวชเป็นบรรพชิต

ซึ่งศิษย์ ๓๐๐ คนนี้ ท่านก็จำได้ว่า ในอดีตเป็นพวกไหนบ้าง ทำกิจการงานใดบ้าง ได้อบรมมาอย่างไรบ้าง

ข้าพระองค์พร้อมด้วยศิษย์ ๓๐๐ คน ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายบวชแล้ว ยังไม่ถึงกึ่งเดือน ได้บรรลุถึงความดับทุกข์ทั้งหมด ข้าพระองค์ทั้งหลายร่วมกันทำกรรมในบุญเขตอันยอดเยี่ยม ท่องเที่ยวไปร่วมกัน คลายกิเลสได้ร่วมกัน

ต่อไปเป็นอานิสงส์ของบุญที่ท่านได้กระทำไว้

เพราะได้ถวายไม้กลอนทั้งหลาย ข้าพระองค์จึงอยู่ในธรรมเป็นอันมาก เพราะกุศลกรรมที่ได้ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ย่อมได้เหตุ ๘ ประการ คือ ข้าพระองค์เป็นผู้อันเขาบูชาในทิศทั้งหลาย ๑ โภคสมบัติของข้าพระองค์นับไม่ถ้วน ๑ ข้าพระองค์เป็นที่พึ่งของคนทั้งปวง ๑ ความสะดุ้งหวาดเสียวไม่มีแก่ข้าพระองค์ ๑ ความป่วยไข้ไม่มีแก่ข้าพระองค์ ๑ ข้าพระองค์ย่อมรักษาอายุยืนนาน ๑ ข้าพระองค์เป็นผู้มีผิวพรรณละเอียดอ่อน ในเมื่อฝนตกในที่อยู่ ๑ เพราะได้ถวายกลอน ๘ อัน ข้าพระองค์จึงได้อยู่ในหมวดธรรมอีกข้อหนึ่ง คือ ปฏิสัมภิทาและอรหัต นี้เป็นข้อที่ ๘ ของข้าพระองค์

ชีวิตประจำวันที่ผ่านไปแต่ละวัน ที่ท่านผู้ฟังมีโอกาสได้ถวายทานสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นประโยชน์แก่สงฆ์ ท่านไม่ทราบเลยถึงความวิจิตรของกรรมนั้นว่า พร้อมกับที่ท่านเป็นผู้อบรมขัดเกลากิเลสด้วยการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน กุศลเหล่านั้นที่ได้กระทำแล้ว ที่สะสมมา ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งการเจริญอบรมสติปัฏฐานนั้นจะทำให้เกิดผลเป็นความวิจิตรต่างๆ ได้ ประกอบพร้อมกัน ที่จะให้ได้รับผลเมื่อท่านได้บรรลุอริยสัจธรรม

ข้อความต่อไปท่านกล่าวว่า ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์มีธรรมเครื่องอยู่อันอยู่จบหมดแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นบุตรของพระองค์ ชื่อว่าอัฏฐโคปานสี เพราะได้ถวายเสา ๕ ต้น ข้าพระองค์จึงได้อยู่ในธรรมเป็นอันมาก ด้วยกุศลกรรมที่ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ย่อมได้เหตุ ๕ ประการ คือ ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่หวั่นไหวด้วยเมตตา ๑ มีโภคสมบัติไม่รู้จักพร่อง ๑ มีถ้อยคำควรเชื่อถือได้ ดังข้าพระองค์ไม่จำกัด ๑ จิตของข้าพระองค์ไม่หวาดกลัว ๑ ข้าพระองค์ไม่เป็นเสี้ยนหนามต่อใครๆ ๑ ด้วยกุศลกรรมที่ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์เป็นผู้ปราศจากมลทินในศาสนา

ข้าแต่พระมุนี มหาวีระเจ้า ภิกษุสาวกของพระองค์มีความเคารพ มีความยำเกรง ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ถวายบังคมพระองค์

นอกจากนั้น ท่านก็ได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ถวายแก่สงฆ์อย่างอื่น ซึ่งอานิสงส์คือ ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

ข้าพระองค์ได้ทำบัลลังก์อันทำอย่างสวยงามแล้ว จัดตั้งไว้ในศาลา ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ย่อมได้เหตุ ๕ ประการ คือ ย่อมเกิดในสกุลสูง ๑ เป็นผู้มีโภคสมบัติมาก ๑ เป็นผู้มีสมบัติทั้งปวง ๑ ไม่มีความตระหนี่ ๑ เมื่อข้าพระองค์ปรารถนาจะไป บัลลังก์ย่อมตั้งรออยู่ ๑ ย่อมไปสู่ที่ปรารถนาพร้อมด้วยบัลลังก์อันประเสริฐ ๑ เพราะการถวายบัลลังก์นั้น ข้าพระองค์กำจัดความมืดได้ทั้งหมด

ข้าแต่พระมหามุนี พระเถระผู้บรรลุอภิญญาและพละทั้งปวงถวายบังคมพระองค์ ข้าพระองค์ทำกิจทั้งปวงอันเป็นกิจของผู้อื่นและของตนสำเร็จแล้ว ด้วยกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ได้เข้าไปสู่บุรีอันไม่มีภัย

นี่เป็นชีวิตประจำวันของผู้มีสติ ที่เจริญสติปัฏฐาน ชีวิตธรรมดาๆ อย่างนี้ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม พร้อมกับการถวายทาน รักษาศีล อบรมกุศลทุกประการ จนกว่าจะถึงภพสุดท้าย และเมื่อถึงภพสุดท้าย ท่านก็จะได้ทราบว่า บุญทั้งหลายที่ท่านได้กระทำไว้ มีส่วนสะสมมาที่จะให้ผลเป็นประการต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า มีความประสงค์จะให้ท่านผู้ฟังติด หวั่นไหว หรือว่าผูกพันในผลที่จะได้รับในการเจริญกุศล

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้าพระองค์ได้ถวายเครื่องบริโภคในศาลาที่สร้างสำเร็จแล้ว ด้วยกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วนั้น ข้าพระองค์ได้เข้าถึงความเป็นผู้ประเสริฐ

ผู้ฝึกเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก ผู้ฝึกเหล่านั้นย่อมฝึกช้างและม้า ย่อมให้ทำเหตุต่างๆ นานา แล้วฝึกด้วยความทารุณ ข้าแต่พระมหาวีระเจ้า พระองค์หาได้ฝึกชายและหญิงเหมือนอย่างนั้นไม่ พระองค์ทรงฝึกในวิธีฝึกอันสูงสุด ด้วยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ใช้ศาสตรา พระมุนีทรงสรรเสริญคุณแห่งทาน ทรงฉลาดในเทศนา และพระมุนีตรัสปัญหาข้อเดียว ยังคน ๓๐๐ คนให้ตรัสรู้ได้

ข้าพระองค์ทั้งหลาย อันพระองค์ผู้เป็นสารถีฝึกแล้ว พ้นวิเศษแล้ว ไม่มีอาสวะ บรรลุอภิญญาและพละทั้งปวง ดับแล้วในธรรม เป็นที่สิ้นอุปธิ

ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ ข้าพระองค์ได้ถวายทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น ภัยทั้งปวงล่วงพ้นไปแล้ว นี้เป็นผลแห่งการถวายศาลา การที่ข้าพระองค์ได้มาในสำนักพระพุทธเจ้านี้ เป็นการมาดีแล้วหนอ

วิชชา ๓ ข้าพระองค์บรรลุแล้วโดยลำดับ พระพุทธศาสนาข้าพระองค์ได้ทำเสร็จแล้ว ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลาย ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูกดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพระองค์ทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาข้าพระองค์ได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้

เมื่อไรท่านผู้ฟังจะได้กล่าวอย่างนี้ ต้องเจริญอบรมกุศลทุกประการ และจะเห็นได้ว่า เวลาที่เหตุสมควรแก่ผลแล้ว ท่านพระเสละพร้อมด้วยบริษัท ๓๐๐ หลังจากที่ได้อุปสมบท ไม่นานก็ได้เป็นพระอรหันต์ บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งแสนที่จะยาก เพราะว่าดับกิเลสหมด ไม่มีเหลือเลย

ยากไหมที่จะเป็นพระอรหันต์ ต้องสะสมอบรมไป เป็นความรู้จริงๆ เป็นปัญญาจริงๆ ละจริงๆ คลายจริงๆ ดับกิเลสจริงๆ ตรงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เวลานี้กิเลสยังมาก ไม่สามารถที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ แต่อาศัยการเจริญอบรมไป เมื่อเหตุสมควรแก่ผล บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า โดยที่บุคคลอื่นไม่สามารจะยับยั้งได้ และไม่สามารถที่จะเลือกสถานที่ เลือกกาล เลือกวัยที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

ทำไมท่านพระเถระแต่ละรูป จึงเลือกกล่าวแต่เฉพาะบางชาติของท่าน ซึ่งก็เป็นตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า ควรเจริญกุศล แม้ว่าในชาตินั้น ท่านอาจจะเกิดเป็นบุคคลใดก็ตาม

ขุททกนิกาย อปาทาน ตีณิสรณาคมนิยเถราปทานที่ ๓ ท่านพระตีณิสรณาคมนิยเถระ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ถึงความประพฤติในอดีต ในชาติก่อนๆ ที่ท่านได้ประพฤติบำเพ็ญมา

เราเป็นคนบำรุงมารดาบิดา อยู่ในนครจันทวดี เวลานั้น เราเลี้ยงดูมารดาบิดาของเราผู้ตาบอด เรานั่งอยู่ในที่ลับ คิดอย่างนี้ในเวลานั้นว่า เราเลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ จึงไม่ได้บวช โลกทั้งหลายอันความมืดมนอนธการปิดแล้ว ย่อมถูกไฟ ๓ กองเผา เมื่อเราเกิดแล้วในภพเช่นนี้ ไม่มีใครจะเป็นผู้แนะนำ

พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก บัดนี้ พระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรือง สัตว์ผู้ใคร่บุญอาจรื้อถอนตนขึ้นได้ เราจะรับสรณะ ๓ แล้วจะรักษาให้บริบูรณ์ ด้วยกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วนั้น เราจะพ้นทุคติได้

เราได้เข้าไปท่านพระสมณะ ชื่อนิสภะ อัครสาวกของพระพุทธเจ้า แล้วรับสรณคมน์ ในครั้งนั้น เรามีอายุได้แสนปี ได้รักษาสรณคมน์ให้บริบูรณ์ตลอดเวลาเท่านั้น เมื่อกาลที่สุดล่วงไป เราได้ระลึกถึงสรณคมน์ ด้วยกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วนั้น เราได้ไปสู่ภพดาวดึงส์ เมื่อเรายังอยู่ในเทวโลกประกอบแต่บุญกรรม เราอุบัติ ณ ประเทศใดๆ เราย่อมได้เหตุ ๘ ประการ คือ ในประเทศนั้นๆ เราเป็นผู้อันเขาบูชาทุกทิศ ๑ เราเป็นผู้มีปัญญาคมกล้า ๑ เทวดาทั้งปวงย่อมประพฤติตามเรา ๑ เราย่อมได้โภคสมบัติไม่ขาดสาย ๑ เป็นผู้มีผิวพรรณดังทอง ๑ เป็นผู้มีปฏิภาณในที่ทั้งปวง ๑ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อมิตร ๑ ยศของเราสูงสุด ๑

เราได้เป็นจอมเทวดา เสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๘๐ ครั้ง อันนางอัปสรแวดล้อมเสวยสุขอันเป็นทิพย์ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ครั้ง เราได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้

เมื่อถึงภพที่สุด เราประกอบด้วยบุญกรรม เกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล มั่งคั่งที่สุดในนครสาวัตถี ในเวลาเย็นวันหนึ่ง เราต้องการจะเล่น แวดล้อมด้วยพวกเด็ก ออกจากนครแล้ว เข้าไปสู่สังฆาราม ณ ที่นั้น เราได้เห็นพระสมณะผู้พ้นวิเศษแล้ว ไม่มีอุปธิ ท่านแสดงธรรมแก่เรา และได้ให้สรณะแก่เรา เรานั้นฟังสรณะแล้ว ระลึกถึงสรณะของเราได้ นั่งอยู่บนอาสนะอันหนึ่ง ได้บรรลุอรหัต เราได้บรรลุอรหัตนับแต่เกิดได้ ๗ ปี พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงรู้คุณของเราแล้ว ทรงประทานอุปสมบท

ห้ามได้ไหม กำลังจะไปเล่นกับเด็กๆ ในสังฆาราม แต่เพราะว่าได้สะสมอบรมเจริญกุศลบารมี พร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อได้ฟังธรรม บรรลุความเป็นพระอรหันต์ เมื่อเหตุสมควรแก่ผลแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดสามารถยับยั้งการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้ถึงการเป็นพระอรหันต์ได้

ท่านผู้ฟังได้ฟังในสมัยนี้ สงสัยไหมว่า จะเป็นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องเข้าใจเรื่องเหตุที่จะต้องเจริญอบรม คือ การระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินี้เอง ที่จะทำให้ปัญญาสมบูรณ์ที่จะแทงตลอดในสภาพธรรม เป็นพระอริยเจ้าได้

ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

ในกัปอันประมาณมิได้แต่กัปนี้ เราได้ถึงสรณะ กรรมที่เราทำดีแล้วเพียงนั้น ได้ให้ผลแก่เรา ณ ที่นี้ สรณะเรารักษาดีแล้ว ความปรารถนาแห่งใจเราตั้งไว้ดีแล้ว เราได้เสวยยศทุกอย่างแล้ว ได้บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว ท่านเหล่าใดมีความต้องการฟัง ท่านเหล่านั้นจงฟังเรากล่าว เราจักบอกความแห่งบทที่เราเห็นเองแก่ท่านทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก ศาสนาของพระชินเจ้าเป็นไปอยู่ พระองค์ทรงตีกลองอมฤตอันเป็นเครื่องบรรเทาลูกศร คือความโศกได้ ท่านทั้งหลายพึงทำสักการะอันยิ่งในบุญเขตอันยอดเยี่ยมตามกำลังของตน ท่านทั้งหลายจักพบนิพพาน

ท่านทั้งหลายจงรับไตรสรณคมน์ จงรักษาศีล ๕ ยังจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้ ท่านทั้งหลายจงยกเราเป็นตัวอย่าง รักษาศีลแล้วแม้ทุกท่านก็จักได้บรรลุอรหัตโดยไม่นานเลย เราเป็นผู้มีวิชชา ๓ บรรลุอิทธิวิธี ฉลาดในเจโตปริยญาณ

ข้าแต่พระมหาวีระเจ้า ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์ ขอถวายบังคม จรณะของพระศาสดา ในกัปอันประมาณมิได้แต่กัปนี้ เราได้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลในการถึงสรณคมน์ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และแม้อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล

สำหรับพระอริยบุคคลอีกท่านหนึ่ง ที่จะขอยกเป็นตัวอย่าง ใน ขุททกนิกาย เบญจสีลสมาทานนิยเถราปทานที่ ๔ มีข้อความว่า

เวลานั้น เราเป็นคนทำการรับจ้างอยู่ในนครจันทวดี เรามัวประกอบในการนำมาซึ่งการงานของผู้อื่น จึงไม่ได้บวช โลกทั้งหลายถูกความมืดใหญ่หลวงปิดบังแล้ว ย่อมถูกไฟ ๓ กองเผา เราควรจะประกอบด้วยอุบายอะไรหนอ ไทยธรรมของเราไม่มีและเราเป็นคนยากไร้ ทำการรับจ้างอยู่ ผิฉะนั้น เราพึงรักษาเบญจศีลให้บริบูรณ์เถิด

สำหรับข้อความตอนท้ายมีว่า

ในภพสุดท้าย มาเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาลอันมั่งคั่ง ในนครไพสาลี เมื่อศาสนาของพระชินเจ้ายังรุ่งเรืองอยู่ มารดาและบิดาของเราได้รับสิกขาบท ๕ ในเวลาใกล้พรรษา เราฟังศีลอยู่พร้อมกับมารดาบิดา จึงระลึกถึงศีลของเราได้ เรานั่งอยู่บนอาสนะอันเดียว ได้บรรลุอรหัตแล้ว

เปิด  186
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566