แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 126

สุ. กายไม่เที่ยง เวทนาไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือว่าทุกขเวทนา หรือว่าอุเบกขาเวทนา ก็ไม่เที่ยง จิต แม้ว่าจะเป็นโลภมูลจิตก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์แล้วหรือยังว่าไม่เที่ยง เข้าใจธรรมว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารธรรม ได้แก่ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ แต่ว่าประจักษ์ความไม่เที่ยงของสังขารธรรมหรือยัง และวิธีที่จะประจักษ์ทำอย่างไร หรือว่าไม่มีวิธี ถ้าไม่มีวิธีก็ไม่มีทางประจักษ์ หรือว่าถ้าเจริญไม่ถูกวิธี ก็ไม่ประจักษ์ว่าสังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เหมือนกัน

อย่างโลภมูลจิต หรือสราคจิตก็ไม่เที่ยง ทำอย่างไรจึงจะได้ประจักษ์สภาพของโลภมูลจิตว่าไม่เที่ยง เวลาที่จิตเป็นโลภะ ระลึกในขณะนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไม่ระลึกเลย และก็หวังที่จะไปรู้จิตที่สงบ ไปสร้างจิตที่สงบขึ้นเพื่อที่จะรู้ความไม่เที่ยง นั่นไม่เข้าใจอนุสัยกิเลสซึ่งมีอยู่ในจิตอย่างละเอียด ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมจนทั่ว ชัดเจน ถูกต้อง ชินขึ้น ละคลายมากขึ้นแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะไปดับความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ไม่มีหนทางที่จะไปประจักษ์สภาพความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของนามของรูปได้เลย

เพราะฉะนั้น เมื่อโลภมูลจิตเป็นสราคจิต เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน วันหนึ่งๆ ระลึกรู้บ้างหรือไม่ มีโลภะกันคนละมากๆ ไม่ใช่น้อยเลย แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ตามปกติในสภาพของนามธรรมว่าเป็นนามธรรม ก็ไม่มีหนทางที่จะไปประจักษ์ได้ว่า ที่ทรงแสดงไว้ว่า โลภมูลจิตไม่เที่ยงนั้นจริง แต่ผู้ที่จะประจักษ์ได้ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ แม้แต่โลภมูลจิตที่มีเป็นปกติทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ในขณะใดเกิดขึ้นปรากฏ สติก็ระลึกรู้ลักษณะสภาพของโลภมูลจิต สราคจิตในขณะนั้นบ่อยๆ จนกว่าจะชิน จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะละคลาย และจะประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปของโลภมูลจิตได้

แต่เวลานี้ที่ไม่สามารถประจักษ์ได้ เพราะไม่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดของรูปใดก็เป็นชั่วขณะนิดเดียว ตัวตนเยื่อใยก็เข้าไปแทรกอีกแล้ว เพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะของนามและรูปจนทั่ว ก็ยังไม่สามารถละคลายได้ เมื่อไม่สามารถละคลายได้ ก็ไม่สามารถประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

สำหรับโลภมูลจิต คงจะทราบโดยขั้นปริยัติว่ามีมาก ทำไมโลภมูลจิตนี้ช่างเกิดเร็ว และก็มีมากมายเสียจริงๆ ทำไมสติไม่ค่อยจะเกิดเลย นี่เป็นชีวิตจริงๆ และก็มีเหตุมีปัจจัย เพราะเหตุว่า ทันทีที่เห็น ได้ยิน มีเชื้อของโลภมูลจิตที่สะสม ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็ย่อมจะเป็นอกุศล โลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง ถ้าในขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา จิตก็จะต้องเป็นไปในอกุศล คือ โลภมูลบ้าง โทสมูลบ้าง โมหมูลบ้าง เพราะมีเชื้ออยู่เต็ม แต่ที่สติเกิดช้าก็เพราะเหตุว่า ไม่ชำนาญ ไม่ได้สะสมมามากพอ

ทันทีที่เห็น ก็เป็นโลภมูลจิตเสียแล้ว โทสมูลจิตเสียแล้ว โมหมูลจิตเสียแล้ว นานๆ ครั้งหนึ่งสติก็จะระลึกได้ว่า สภาพที่กำลังปรากฏนั้นเป็นนามธรรม หรือว่าเป็นรูปธรรม ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะความชำนาญของอกุศลมีมากกว่า คือ สะสมมามากในโลภะ ในโทสะ ในโมหะ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้โลภะ โทสะ โมหะเกิด โลภะ โทสะ โมหะก็เกิด

ผู้ที่เจริญสติจะต้องเป็นผู้ที่เจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งชำนาญ ไม่ใช่ว่า นิดๆ หน่อยๆ แต่ต้องเจริญบ่อยๆ เนืองๆ รู้ลักษณะของนามของรูปมากขึ้น ชินขึ้น ชำนาญขึ้น ไวขึ้นพอที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตเกิดแล้วปรากฏ สติก็สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ในลักษณะของโลภมูลจิตที่ปรากฏในขณะนั้นได้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง หรือเวลาที่โทสมูลจิตเกิด สติที่เจริญอบรมเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งมีความชำนาญก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของโทสมูลจิตที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

เพราะฉะนั้น ความชำนาญเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะต้องเจริญเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งชินกับลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าขาดความชำนาญในการเจริญสติ ทางฝ่ายอกุศลก็ยังคงมีความชำนาญอยู่ ถ้าท่านฟังคาถาของพระเถระ ท่านจะรู้ได้จริงๆ ว่า ท่านเป็นผู้ที่เจริญสติมาแล้ว มีความชำนาญเพียงไร อย่างใน ขุททกนิกาย รัฐปาลเถรคาถา ที่มีข้อความว่า

เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตบแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย

ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคยเจริญสติจะรู้ได้ไหมว่า ใจกระสับกระส่ายด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง มากมายสักเพียงใดในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติเป็นปกติจึงสามารถที่จะประจักษ์ด้วยตัวของผู้เจริญสติเองว่า มีโลภะมาก มีโทสะมาก มีโมหะมาก และจิตใจก็กระสับกระส่ายอยู่เสมอด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเจริญสติเป็นปกติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ท่านก็จะยิ่งมีความรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทั่วขึ้นมากขึ้น มีการละคลายมากขึ้น เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง

เรื่องของจิตตานุปัสสนา คือ สราคจิต ได้แก่ จิตที่เป็นโลภมูลจิต มีความยินดี มีความพอใจ มีความต้องการในอารมณ์ที่ปรากฏ ข้อสำคัญคือ ถึงแม้ว่าจะเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะต้องฟังด้วยความแยบคาย ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่า เมื่อฟังเรื่องของการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว ก็เกิดความต้องการขึ้นมาอีกแล้ว ต้องการที่จะเจาะจงรู้ลักษณะของโลภมูลจิต บางท่านอาจจะเป็นอย่างนั้น ถ้าท่านไม่มีความแยบคายในการฟัง เพราะความต้องการอย่างละเอียดคอยติดตาม คอยกระซิบ คอยแทรกอยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่ท่านยังไม่รู้เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง อย่างโลภมูลจิต ก็เป็นจิตที่มีเป็นปกติประจำวัน และก็มีมากด้วย

ถ้าจะระลึกในขณะที่กำลังเดินไปเพื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นจิตประเภทไหน ขณะนั้นกำลังเดินไปเพราะความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามปกติ เกิดระลึกถึงสภาพของจิตได้ จิตในขณะนั้นจะเป็นจิตประเภทไหน เป็นความต้องการไหม ก็เป็นโลภมูลจิต เป็นสราคจิต

การเจริญสติปัฏฐานนั้นละอภิชฌา และโทมนัส ไม่ใช่ส่งเสริมให้ท่านมีความต้องการ หรือให้มีความอยากจะรู้นั่นรู้นี่ แต่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วแต่สติ สติจะระลึกรู้ลักษณะของกายก็ได้ ของเวทนาก็ได้ ของจิตประเภทใดๆ ก็ได้ ไม่ต้องเลือก ไม่ต้องเจาะจงว่าจะต้องเป็นประเภทนั้นประเภทนี้ แต่ของธรรมใดๆ ก็ได้ ที่เป็นของจริงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้น มากขึ้น และระลึกทันที รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทันที ส่วนการที่จะรู้มาก ละคลายได้ ก็ต้องแล้วแต่ว่าสติระลึกได้บ่อยๆ เนืองๆ มากแค่ไหน

บางท่านอาจจะสงสัยว่า การเจริญสติละอภิชฌา และโทมนัส เพราะฉะนั้น ก็คิดว่าในขณะที่ท่านเจริญสติโลภะย่อมไม่เกิด โลภะเกิดแล้วใครยับยั้งได้ไหม ยับยั้งไม่ได้ สติระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของโลภะ สติปัฏฐานเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่เป็นอกุศล ต้องแยกกัน แต่โลภมูลจิตที่เกิดปรากฏในขณะนั้นเป็นอารมณ์ของสติ เป็นอารมณ์ของมรรคมีองค์ ๘ ได้

ในขณะที่สติระลึกรู้ สภาพที่ระลึกนั้นเป็นโสภณ เป็นกุศล แต่ระลึกรู้ในสิ่งที่เป็นอกุศล เช่น โลภะที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น การละอภิชฌา และโทมนัส คือ การไม่เลือกอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปกั้นสติไม่ให้รู้นั่นไม่ให้รู้นี่ด้วยอภิชฌาและโทมนัส สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใดก็ได้ ไม่มีอภิชฌาโทมนัสในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ถึงแม้ว่าจะเป็นโลภมูลจิต สติก็ระลึกรู้ได้ บางท่านก็อาจจะคิดถึงอริยสัจ ๔ คือ

๑. ทุกขอริยสัจจะ เป็นสิ่งที่ควรพิจารณารู้ กำหนดรู้

๒. สมุทยอริยสัจจะ ได้แก่ตัณหา หรือโลภะซึ่งเป็นสิ่งที่ควรละ

๓. นิโรธสัจจะ ได้แก่นิพพาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง

๔. นิโรธคามินีปฏิปทา เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ อริยสัจที่ ๔ มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นสิ่งที่ควรเจริญ

บางท่านอาจจะมีความสงสัยแทรกขึ้นมาว่า ก็ทรงแสดงไว้ว่า ตัณหา โลภะเป็นสิ่งที่ควรละจะรู้ได้หรือ ควรรู้หรือไม่ควรรู้ หรือว่าควรละอย่างเดียว ต้องพิจารณาถึงเหตุผลด้วยว่า ในอริยสัจ ๔ นั้น ทรงแสดงเรื่องของเหตุและผล แต่ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อสมุทยสัจจะ คือ โลภะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วจะไม่ให้รู้โลภะ ให้รู้แต่ทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

เรื่องของการละสมุทยสัจจะ ละถึงอนุสัย ด้วยการระลึกรู้สภาพที่เป็นทุกข์ โลภะเป็นสังขารธรรมหรือไม่ เป็นสังขารธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น โลภะก็มีการเกิดขึ้น มีการดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไมใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงควรระลึกรู้ลักษณะของโลภะด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อศึกษาเรื่องของอริยสัจธรรมแล้ว จะไปรู้อย่างอื่นทั้งหมดเว้นโลภะเสีย เพราะได้ฟังมาว่าโลภะนั้นเป็นสมุทยสัจจะ แต่ว่าสมุทยสัจจะที่จะละ คือ ละถึงอนุสัยด้วยการพิจารณารู้สภาพลักษณะของโลภะที่เป็นทุกขอริยสัจจะด้วย

ขอให้พิจารณาดูว่า การที่รู้สราคจิต หรือว่าโลภมูลจิตนั้น เป็นการกระทำกิจทั้ง ๔ ในอริยสัจจะหรือไม่

กิจที่ ๑ คือ การรู้ทุกข์ ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตบ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมจะทำให้ประจักษ์ความไม่เที่ยงของสราคจิต ของโลภมูลจิตได้ว่า เป็นทุกข์ เป็นทุกขอริยสัจจะ ในขณะที่พิจารณาสภาพลักษณะของโลภมูลจิต ก็เป็นการกระทำกิจของทุกขอริยสัจจะ คือ การพิจารณารู้ พร้อมกันนั้นก็เป็นการละสมุทยสัจจะที่มีการยึดถือ หรือพอใจว่า สราคจิตนั้นเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

เพราะฉะนั้น ในขณะที่พิจารณาลักษณะของสราคจิต ก็เป็นการกระทำกิจทั้ง ๔ คือ

เมื่อพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ แล้ว จะทำให้ประจักษ์ความเกิดดับของสราคจิตได้ และในขณะที่พิจารณาลักษณะของสราคจิตนั้น ก็ถ่ายถอนความยินดีที่เคยยึดถือโลภมูลจิต สราคจิตว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล ในขณะที่พิจารณาบ่อยๆ จะทำให้เกิดการละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน ซึ่งจะทำให้เป็นการดับสนิทของการเห็นผิดที่ยึดถือสราคจิตว่าเป็นตัวตน ก็เป็นการที่จะทำให้แจ้งในอริยสัจจะที่ ๓ และในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสราคจิตครั้งหนึ่ง ก็เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นการกระทำกิจของอริยสัจจะที่ ๔ คือ การเจริญมรรค

เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องของการที่จะพิจารณาลักษณะของโลภมูลจิต ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส นันทมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๓๑๗ มีข้อความเรื่องการพิจารณาตัณหา

คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา

คือ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า กำหนดรู้แล้ว ความว่า กำหนดรู้แล้วซึ่งตัณหาด้วยปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา

จะเห็นความสมบูรณ์ของญาณที่เกิดจากการเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไปอธิบายว่า

ญาตปริญญาเป็นไฉน นรชนย่อมรู้ชัด คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็นตัณหาว่า นี้รูปตัณหา นี้สัททตัณหา นี้คันธตัณหา นี้รสตัณหา นี้โผฏฐัพพตัณหา นี้ธัมมตัณหา นี้ชื่อว่า ญาตปริญญา

ถ้าไม่เจริญสติจะรู้ถึงอย่างนี้ไหม ทางตาเป็นรูปตัณหา ทางหูเป็นสัททตัณหา ทางจมูกเป็นคันธตัณหา ทางลิ้นเป็นรสตัณหา ทางกายเป็นโผฏฐัพพตัณหา ทางใจในขณะที่มีความต้องการ พอใจ จดจ้อง ยินดีเกิดขึ้นก็เป็นธัมมตัณหา ถ้าไม่เจริญสติในขณะนั้น จะไม่รู้สภาพลักษณะของตัณหาที่มีอยู่ในขณะนั้นเลย

เสียงก็ไม่น่าวิจิตรมากถึงอย่างนี้ มนุษย์ในโลกมีเท่าไรเสียงก็มีเท่านั้น ความวิจิตรของสัททะ จำได้ทันทีว่าเป็นใครเวลาที่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น สัททตัณหานี้จะเป็นอย่างไร เสียงนั้นชอบ เสียงนี้ก็พอใจ เสียงดนตรีตั้งกี่ชนิด วิจิตรไปต่างๆ ตัณหาก็แผ่ซ่านไปหมดทั้งรูปตัณหา สีสันวรรณะต่างๆ ในสีทั้งหลายก็ชอบ สีของวัตถุสิ่งนั้น สีของวัตถุสิ่งนี้

ทางหู สัททะก็วิจิตรไปมากมายตามเสียงของบุคคลในโลก ตามเสียงของเครื่องดนตรี ตามเสียงนานาชนิด ตัณหาก็ซ่านไปในสัททะทั้งหลายอีก

กลิ่นก็แสนวิจิตร รสก็วิจิตร กายก็วิจิตร ผู้เจริญสติทราบได้ถึงลักษณะของตัณหา แต่ที่จะรู้ชัดได้นั้นก็เป็นญาตปริญญา

ข้อความต่อไปมีว่า

ตีรณปริญญา เป็นไฉน

เมื่อรู้ลักษณะของตัณหาหรือโลภะ แค่นั้นไม่บรรลุอริยสัจธรรม ต้องพิจารณาอีกมากทีเดียว ซึ่งการพิจารณานั้นกว่าจะทำให้ละคลาย และประจักษ์การเกิดดับได้ เพราะเหตุว่าตีรณปริญญานั้น ได้แก่ อุทยัพพยญาณ

ข้อความอธิบายว่า

ตีรณปริญญาเป็นไฉน นรชนทำตัณหาที่ตนรู้อย่างนี้แล้ว ย่อมพิจารณาตัณหา คือ พิจารณาโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นฝี แล้วก็นานาประการที่จะพิจารณาเห็นโทษ โดยความไม่ให้สลัดออก นี้ชื่อว่า ตีรณปริญญา

เหนียวแน่นสักแค่ไหนกว่าที่ละคลายแล้วก็จะประจักษ์ความเกิดดับ ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงถึงขั้นต่างๆ ของปริญญาต่างๆ ว่า ถึงแม้จะมีญาตปริญญาที่รู้ลักษณะของนามของรูปแล้ว ก็ยังไม่พอ ยังจะต้องพิจารณาอีกเรื่อยไป บ่อยๆ เนืองๆ เพื่อการรู้ชัดขึ้น ละคลายมากขึ้น เป็นตีรณปริญญา และไม่ใช่จบอยู่เพียงแค่นั้น ถึงแม้จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปแล้ว กิเลสก็มีกำลังมากที่จะต้องอาศัยปัญญาที่คมกล้าจริงๆ จึงจะละได้เป็นสมุจเฉท

ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของปหานปริญญา ซึ่งถึงแม้ว่าจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็ยังจะต้องมีปัญญาที่รู้ชัดขึ้นอีก

ปหานปริญญาเป็นไฉน นรชนพิจารณาอย่างนี้แล้ว ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งตัณหา สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันทราคะในตัณหาใด ท่านทั้งหลายจงละฉันทราคะนั้นเสีย เมื่อเป็นอย่างนี้ ตัณหานั้นจักเป็นของอันท่านทั้งหลายละแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดาดังนี้ นี้ชื่อว่า ปหานปริญญา

กำหนดรู้แล้วซึ่งตัณหาด้วยปริญญา ๓ นี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กำหนดรู้ซึ่งตัณหา

ที่จะให้สติไม่รู้นั่นไม่รู้นี่ แล้วก็จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ระลึกรู้โลภมูลจิตเลย อย่างนั้นไม่มีวันถึง ไม่ว่าขณะใดที่สติระลึกรู้กาย ไม่พอ ระลึกรู้รูปอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องระลึกรู้นามด้วยซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นเวทนา หรือว่าจะเป็นจิต หรือว่าจะเป็นธรรม

การเจริญสติปัฏฐาน ต้องเจริญมากตลอดชีวิต แล้วแต่ว่าจะกี่ชาติสำหรับแต่ละบุคคล

เปิด  280
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566