แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 123

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า สันติ ได้แก่ สันตบ้าง สันติบทบ้าง โดยอาการอย่างเดียวกัน ก็สันติบทนั้นนั่นแลคือ อมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมอันเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่ออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

บทใด คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่ออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด บทนั้นเป็นความสงบ เป็นธรรมชาติประณีต

อีกอย่างหนึ่ง โดยอาการอื่น ธรรมเหล่าใดย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ เพื่อถูกต้องความสงบ เพื่อทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านี้เรียกว่า สันติบท บทสงบ ตาณบท บทที่ต้านทาน เลณบท บทที่ซ่อนเร้น สรณบท บทที่พึ่ง อภยบท บทไม่มีภัย อัจจุตบท บทไม่เคลื่อน อมตบท บทไม่ตาย นิพพานบท บทดับตัณหา

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ออกไปด้วยกายอย่างเดียว หรือว่าไม่ใช่เพียงจิตวิเวกที่เป็นสมาธิ เป็นฌานขั้นต่างๆ แต่ว่า อีกอย่างหนึ่ง โดยอาการอื่น ธรรมเหล่าใดย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ เพื่อถูกต้องความสงบ เพื่อทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น

ที่จะไปวิเวกนั้น เพราะต้องการความสงบ หรือไม่ต้องการความสงบ และต้องการความสงบประเภทไหน สงบจริงๆ คือ อกุศลดับไม่เกิดอีกด้วยข้อประพฤติปฏิบัติใด นั่นก็เป็นวิเวก

การรู้แจ้งอริยสัจธรรม อริยสัจที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจ และการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ก็จะต้องรู้ทุกข์ด้วย แต่ขอให้พิจารณาความหมายของทุกข์ว่า ท่านเข้าใจพยัญชนะนี้ถูกต้องหรือไม่

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ทุกขธัมมสูตร ท่านที่สนใจในทุกข์ก็คงจะได้ทราบความชัดเจนว่าทุกข์คืออะไร หรือว่าธรรมที่เป็นทุกข์นั้นคืออะไร ซึ่งมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิด และความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง ก็ในกาลนั้นแลภิกษุนั้นเป็นผู้เห็นกาม เมื่อเธอเห็นกามแล้ว ความพอใจ ความเสน่หา ความหมกมุ่น ความเร่าร้อนเพราะกามในกามทั้งหลายไม่นอนเนื่องอยู่ด้วยอาการใด ก็ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น

ข้อความที่ว่า ในกาลใดภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิด และความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง แสดงให้เห็นว่า ในพระไตรปิฎกไม่ได้ให้เว้น ไม่ได้ให้เลือกเจาะจงบรรพนั้นบรรพนี้เลย แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ทั่วถึง

ข้อความต่อไปมีว่า

อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัส ไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น

ต้องมีธรรมที่เป็นเครื่องประพฤติ และมีธรรมที่เป็นเครื่องอยู่เป็นปกติ อกุศลธรรมที่มีปัจจัยให้เกิดก็เกิด ไม่สามารถจะครอบงำได้ ถ้ามีธรรมที่เป็นเครื่องประพฤติ และมีธรรมที่เป็นเครื่องอยู่

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้น และความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างไร ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้น และความดับสูญ แห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับสูญแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารทั้งหลายดังนี้ วิญญาณดังนี้

ข้อความต่อไปโดยนัยเดียวกัน

ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับสูญแห่งวิญญาณดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้น และความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างนี้แล

สภาพธรรมใดที่เป็นทุกขธรรม หมายความถึงสภาพที่เกิดและดับไป แต่ต้องมีธรรมเครื่องประพฤติ ต้องมีธรรมเครื่องอยู่ เพื่อให้มีการรู้ทั่วสภาพของทุกขธรรมทั้งปวงด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุอย่างไรเล่า

อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัส ย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการนั้น

หมายความว่าไม่ใช่ให้เว้น เป็นปกติ เป็นธรรมเครื่องประพฤติ เป็นธรรมเครื่องอยู่ ย่อมติดตามภิกษุผู้ที่อกุศลธรรมไม่ครอบงำ

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงเข้าไปสู่ป่าที่มีหนามมาก ข้างหน้าบุรุษนั้นก็มีหนาม ข้างซ้ายก็มีหนาม ข้างขวาก็มีหนาม ข้างล่างก็มีหนาม ข้างบนก็มีหนาม บุรุษนั้นมีสติ ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง ด้วยคิดว่า หนามอย่าเบียดเบียนเรา แม้ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม คือ ปิยรูป และสาตรูปในโลกนี้เรากล่าวว่า เป็นหนามในวินัยแห่งพระอริยเจ้าฉันนั้น เหมือนกันแล

ตลอดหมด ข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีปิยรูปสาตรูปที่จะเกิดขึ้นครอบงำได้ ถ้าไม่มีธรรมเครื่องประพฤติ ไม่มีธรรมเครื่องอยู่ ไม่ได้เว้นเลย

สำหรับปิยรูปสาตรูป หมายความถึงสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นที่ยินดี เป็นที่รักที่พอใจ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ผัสสะ เจตนา เวทนา สัญญา ตัณหา วิตก วิจาร คือ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นที่รักเป็นที่พอใจทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อุปมาเหมือนกับหนามในวินัยของพระอริยเจ้า ซึ่งมีทั้งข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง ตลอดไปหมดทีเดียว

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่อยากให้หนามเบียดเบียน ไม่อยากให้อวิชชาครอบงำ ไม่อยากให้โทมนัส หรืออภิชฌาก็ตามเกิดขึ้นครอบงำ ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีสติก้าวไป มีสติถอยกลับ คือ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดก็ตามต้องมีธรรมเครื่องประพฤติ มีธรรมเครื่องอยู่ คือ การเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

ข้อความต่อไปแสดงว่า ธรรมเครื่องอยู่ หรือว่าธรรมเครื่องประพฤตินั้น ได้แก่การสังวรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง อภิชฌาและโทมนัสจึงจะไม่ครอบงำ และสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นทุกขธรรม คือ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ

ทุกขธรรมนี้ไม่ใช่ให้ไปทรมาน หรือให้ไปทุกข์ แต่ทุกขธรรมมีปรากฏตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นทุกข์ทั้งสิ้น

ข้อความต่อไปแสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องนั้น คือ ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทั่วจริงๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่ว่าท่านจะไม่เจริญสติ หรือเข้าใจว่าสติเกิดไม่ได้ กัมมัฏฐานรั่ว ไม่มีคำนี้ในพระไตรปิฎก มีแต่คำว่าหลงลืมสติ

กัมมัฏฐานจะรั่วได้อย่างไร มีตาเห็นไหม มีหูได้ยินไหม มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยเป็นสิ่งซึ่งสติระลึกรู้ได้ เป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้งให้สติระลึก และปัญญาก็รู้ชัดได้ทุกขณะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่ไปบังคับเพราะมีความไม่รู้ทั่วในนามรูป จึงได้เข้าใจว่า ขณะนั้น คือ ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปเป็นกัมมัฏฐานรั่ว

อย่างเวลาที่รับประทานอาหาร ผู้ที่เจริญสติเป็นปกติ รู้ลักษณะของรูปทางตาก็ได้ นามเห็น ลักษณะที่รู้ทางทางตาก็ได้ เสียงที่เกิดปรากฏทางหูก็ได้ นามได้ยิน ลักษณะที่รู้ทางหูก็ได้ หรือว่ารูปที่ปรากฏทางจมูกก็ได้ นามที่รู้กลิ่นก็ได้ จะคิดนึก จะมีความชอบ ความไม่ชอบใดๆ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปได้เป็นปกติ แต่เวลาที่หลงลืมสติ ก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าอกุศลที่ได้สะสมมามากทำให้หลงลืมสติมาก แต่ผู้ที่เจริญสติ ปัญญาก็จะเพิ่มความรู้ชัดในลักษณะของนามของรูปมากขึ้น ในวันหนึ่งๆ ความเป็นตัวตนนี้จะลดลงไป น้อยลงไป เพราะเหตุว่ารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น

การเจริญสติ ไม่ใช่มุ่งหวังที่จะให้มีสติมากๆ แล้วไม่รู้ลักษณะของนาม ลักษณะของรูปโดยทั่วถึง แต่การเจริญสติจะน้อยจะมากอย่างไรก็ตาม ปัญญาจะต้องเจริญขึ้น รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจทั่วขึ้น จึงจะชื่อว่าสามารถที่จะละคลายความไม่รู้ และการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ ถ้าท่านมีความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ ท่านจะเข้าใจข้อความต่อไปในทุกขธรรมสูตรซึ่งมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่านไปเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ทีนั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงให้หยาดน้ำ ๒ หรือ ๓ หยาด ตกลงในกระทะเหล็กอันร้อนจัดตลอดวัน หยาดน้ำตกลงช้า ทีนั้นแล น้ำนั้นพึงถึงความสิ้นไป เหือดแห้งไปเร็วพลัน แม้ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่านไปเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ทีนั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน ฉันนั้นเหมือนกันแล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมอันเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการอย่างนี้แล

ถ้าเป็นผู้ที่สังวร คือ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เสมอ เป็นผู้ที่มีธรรมเครื่องประพฤติ ธรรมเครื่องอยู่ คือ การสังวรติดตามไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ด้วยการสังวรระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนปัญญารู้ชัดเป็นปกติ พอระลึกได้ก็เป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูปทั้ง ๖ ทาง

ต้องเป็นอย่างนี้ ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับเป็นอุทยัพพยญาณ ทางตาเป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูป ตลอดไปจนถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าเจริญมากขึ้น ความรู้ชัดจะเพิ่มขึ้น ทันทีที่ระลึกก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น ปัญญาจะรู้ชัดจนกระทั่งไม่ว่าจะหลงลืมสติไป แต่พอสติระลึกได้เมื่อไร ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้นทั้ง ๖ ทาง ต้องเป็นผู้ที่ชำนาญ ละคลาย เจริญสติทั่วถึงทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาที่หลงลืมสติเป็นบางครั้งบางคราว หรือว่าการบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า เพราะเหตุว่าสติก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดติดต่อไป หรือว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งบางคราวสติก็เกิดช้า หลงลืมสติ

ภิกษุนั้นแล ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน

ซึ่งไม่เหมือนผู้ที่ไม่เคยเจริญสติเลย เพราะเหตุว่าพอระลึกก็เป็นลักษณะของนาม เป็นลักษณะของรูปได้ทันที

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

บุรุษพึงให้หยาดน้ำ ๒ หรือ ๓ หยาด ตกลงในกระทะเหล็กอันร้อนจัดตลอดวัน หยาดน้ำตกลงช้า ทีนั้นแล น้ำนั้นพึงถึงความสิ้นไป เหือดแห้งไปเร็วพลัน แม้ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่านไปเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ทีนั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลันฉันนั้น เหมือนกันแล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการอย่างนี้แล

ที่กล่าวว่า เหมือนกับหยาดน้ำ ๒ - ๓ หยดที่หยดช้าๆ ตกลงไปในกระทะที่ร้อนจัด กระทะที่ร้อนจัดไม่ได้หมายความว่า ไปใช้เวลาสัก ๑๕ วันให้สติเกิดติดต่อกัน แต่เป็นการเจริญความรู้ ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นธรรมเครื่องประพฤติ เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นปกติ จนปัญญารู้ชัด

ถึงแม้ว่าจะหลงลืมไป พอสติระลึกได้ ก็สามารถที่จะละอกุศลธรรมนั้นได้โดยเร็วพลัน เหมือนกับหยาดน้ำที่หยดลงในกระทะที่ร้อนจัด คือ ร้อนเพราะปัญญาความรู้ทั่ว ไม่ใช่ว่ารู้อย่างเดียว พอทางตามา ไม่รู้แล้ว ทางหูปรากฏ ไม่รู้แล้ว ถ้าอย่างนั้นจะละอภิชฌา และโทมนัสทางตา ทางหูได้อย่างไร จะละอวิชชาความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหูที่ไม่เคยระลึกรู้ได้อย่างไร

ผู้ที่อุปมาเหมือนกับกระทะที่ร้อนจัดตลอดวัน คือ ผู้ที่มีปัญญารู้ทั่ว ไม่ว่าจะเป็นนามเป็นรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะเหตุว่ามีการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ถึงแม้ว่าจะหลงลืมสติไปและสติจะเกิดช้า แต่เพราะเหตุว่าปัญญารู้ทั่วแล้ว ทันทีที่ระลึก ก็เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมทั้งสิ้น อกุศลธรรมก็ไม่สามารถที่จะครอบงำได้

สำหรับในวันนี้ เป็นโอกาสสุดท้ายที่คุณนีน่าจะอยู่ร่วมในรายการวันอาทิตย์ เพราะเหตุว่าจะเดินทางกลับ คุณนีน่าเป็นผู้ที่มีความสนใจศึกษาธรรมทั้งขั้นปริยัติและขั้นปฏิบัติ และได้ช่วยกระทำกิจเผยแพร่พระศาสนา ขอเชิญคุณนีน่าพูดเรื่องพระพุทธศาสนา

นีน่า วันนี้มีโอกาสอำลา หลายๆ ปีได้มาที่นี่และฟังร่วมกัน พิจารณาร่วมกัน ดิฉันจะคิดถึงบ่อยๆ เมื่อไปแล้ว ทุกอย่างที่เรียนในเมืองไทย ที่เรียนเวลาสนทนากับคนไทย และมีหลายคนถามดิฉันว่า จะทำอะไรเมื่อไปแล้ว

ดิฉันคิดว่าทุกคนรู้แล้ว เพราะว่ามีมหาสติปัฏฐานที่นี่ และมีมหาสติปัฏฐานทั่วไปที่จะต้องอบรมเจริญมากๆ มีกาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่มีแต่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วไป แม้ปัญญายังอ่อน สติยังอ่อน และมีชีวิตที่วุ่นวาย เป็นชีวิตของเรา ชีวิตของฆราวาส แต่เดี๋ยวนี้เข้าใจแล้ว เจริญได้ทีละเล็กทีละน้อย ต่อไปก็จะมีมากขึ้นเอง

สุ. คุณนีน่าก็ได้รับปัญหาเฉพาะหน้าเรื่อยๆ คือ ถามว่าเมื่อกลับไปแล้วจะทำอะไร เพราะชีวิตในเมืองไทยก็เป็นชีวิตที่เป็นสาระในเรื่องของการกุศลมากทีเดียว ซึ่งคุณนีน่าก็ทราบว่าประเทศไทยมีการศึกษา การปฏิบัติธรรม แต่คุณนีน่าก็กล่าวว่า คุณนีน่าจะเจริญสติปัฏฐานที่เมืองไทยเวลาที่อยู่เมืองไทย ได้ความรู้ความเข้าใจ แล้วก็เจริญสติปัฏฐานด้วย แต่สติปัฏฐานไม่ได้มีเฉพาะเมืองไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะเจริญสติปัฏฐาน สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

เปิด  209
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566