แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 68

ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาโควินทสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ปัญจสิกขเทพบุตรมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลให้ทรงทราบถึงเรื่องราว ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า สนังกุมารพรหมสรรเสริญพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระปัญญามาก มาสิ้นกาลนานเท่าใด

เพราะเหตุว่าพวกพรหมมีอายุยืนยาวมาก การกระทำใดๆ ที่คิดว่าจะเป็นความลับ ไม่มีในโลก ถึงมนุษย์ไม่รู้ คนอื่นไม่รู้ ตนเองก็รู้ นอกจากตนเองจะรู้แล้ว เทวดาทั้งหลายท่านก็ยังรู้ และโดยเฉพาะพวกพรหมที่มีอายุยืนยาวมาก ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดเป็นไปปรากฏในโลก ท่านย่อมสามารถทราบได้

เพราะฉะนั้น สนังกุมารพรหมจึงได้กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า

พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระปัญญามาก มาสิ้นกาลนานเท่าใด

และปัญจสิกขเทพบุตรก็ได้กราบทูลว่า

สนังกุมารพรหมได้กล่าวถึงอดีตชาติของพระผู้มีพระภาค ในสมัยที่เป็นมหาโควินทพราหมณ์ผู้มีความรู้มาก มีปัญญามาก สอนกษัตริย์ ๗ พระองค์ บอกมนต์แก่พราหมณ์มหาศาล ๗ คนและเหล่าข้าราชบริพาร ๗๐๐ คน มีเกียรติศัพท์อันงามขจรไปว่า มหาโควินทพราหมณ์อาจเห็นพรหม อาจสนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหม แต่มหาโควินทพราหมณ์รู้ดีว่า ตนเองนั้นไม่ได้เห็นพรหม ไม่ได้สนทนาปราศรัย ไม่ได้ปรึกษากับพรหม แต่ก็ได้สดับข้อความนี้ต่อมาจากพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์พูดกันว่า

ผู้ใดหลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ผู้นั้นย่อมเห็นพรหม ย่อมสนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้

เพราะฉะนั้น มหาโควินทพราหมณ์ก็ดำริที่จะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน

ไม่ว่าใครจะสรรเสริญใครในลักษณะอย่างใด ความจริงก็ต้องเป็นความจริง แม้จะเห็นว่ามหาโควินทพราหมณ์เป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นผู้สอนกษัตริย์ ๗ พระองค์ บอกมนต์แก่พราหมณ์มหาศาล ๗ คน และเหล่าข้าราชบริพารอีก ๗๐๐ คน เกียรติศัพท์ก็ขจรไปถึงกับว่า มหาโควินทพราหมณ์นั้นอาจเห็นพรหม อาจสนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้

แต่ท่านโควินทพราหมณ์นั้นรู้ตนดีว่า ท่านไม่ได้เห็นพรหม และก็ไม่ได้ปราศรัย และไม่ได้ปรึกษากับพรหมด้วย

มหาโควินทพราหมณ์ได้ไปเฝ้ากษัตริย์ ๗ พระองค์ และพราหมณ์มหาศาลและข้าราชบริพาร ๗๐๐ แล้วก็กล่าวข้อความตามที่ตนดำริให้ทราบ คือจะเพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน แล้วมหาโควินทพราหมณ์ก็ได้เข้าไปหาภรรยา ๔๐ คน สั่งไม่ให้ภรรยาทั้ง ๔๐ คนนั้นไปหาตนเลย นอกจากคนนำอาหารไปให้เพียงคนเดียวเท่านั้น

ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ได้สร้างสัณฐาคารใหม่ โดยทิศบูรพาแห่งนครแล้วหลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ไม่มีใครไปหานอกจากคนนำอาหารไปให้ พอล่วง ๔ เดือนในวันนั้นนั่นเอง มหาโควินทพราหมณ์มีความระอา ความท้อใจว่า ไม่ได้เห็นพรหม ไม่ได้สนทนาปราศรัยกับพรหม

นี่คือเจริญเหตุ เมื่อมีความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด ถึงแม้ว่าจะเพ่งกรุณาฌาน หรือจะเพ่งเมตตาพรหมวิหาร ก็ยังไม่ใช่การละ แต่เป็นการต้องการความสงบ เพราะฉะนั้น ก็ยังเป็นไปในวัฏฏะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะเพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอดทั้ง ๔ เดือน กิเลสก็ไม่หมด จึงได้เกิดความระอา ความท้อใจขึ้น

ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมทราบความคิดในใจของมหาโควินทพราหมณ์ก็ได้ไปหามหาโควินทพราหมณ์ แล้วมหาโควินทพราหมณ์ก็ได้ถามถึงประโยชน์ในชาติหน้าว่า ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเข้าถึงพรหมโลก อันไม่ตาย

สนังกุมารพรหมก็ให้มหาโควินทพราหมณ์บวช เพื่อขัดเกลากิเลสทั้งปวง เพราะถ้ามีกิเลสมากก็เป็นเหตุให้เกิดทุจริตกรรม ซึ่งจะต้องไปอบายภูมิ แทนที่จะได้ไปพรหมโลก

นี่ก็เป็นอดีตชาติของพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระองค์ได้พยายามบำเพ็ญพระบารมีขัดเกลากิเลส

เมื่อมหาโควินทพราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็ได้ไปกราบทูลลากษัตริย์ทั้ง ๗ กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็จะพระราชทานทรัพย์ให้มหาโควินท์แทนการออกบวช เพราะเหตุว่าธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักโลภทรัพย์ ถ้าคนที่โลภทรัพย์ ให้ทรัพย์ ก็คงจะเลิกกระทำตามความคิดที่คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ด้วยอำนาจของทรัพย์

เมื่อมหาโควินทพราหมณ์ปฏิเสธ กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็จะพระราชทานหญิงให้ เพราะเหตุว่าธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักโลภด้วยหญิง แต่มหาโควินทพราหมณ์ก็ได้กราบทูลยืนยันว่า จะละทรัพย์และภรรยาทั้ง ๔๐ คน ออกบวช กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ให้รอไปสัก ๗ ปี ซึ่งกษัตริย์ทั้ง ๗ นั้นก็จะบวชพร้อมกับมหาโควินทพราหมณ์ด้วย ถ้ามหาโควินทพราหมณ์รอได้ มหาโควินทพราหมณ์ก็กราบทูลว่า รอไม่ได้ เพราะใครจะรู้ว่า ชีวิตสัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายนั้น ไม่มี

เมื่อระลึกถึงความตายที่ไม่แน่นอน มหาโควินทพราหมณ์ก็เห็นว่า ๗ ปีนั้น ไม่สามารถรอได้ ซึ่งกษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ขอให้รอ ๖ ปี มหาโควินทพราหมณ์ก็บอกว่านานไป รอไม่ได้ที่จะให้บวชพร้อมกับกษัตริย์ทั้ง ๗ นั้น กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ขอให้รอสัก ๕ ปี มหาโควินทพราหมณ์ก็บอกว่ารอไม่ได้ นานไป กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ขอให้รอ ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี มหาโควินทพราหมณ์ก็บอกว่ารอไม่ได้ ๑ ปีนั้นก็นานมาก ไม่มีใครทราบอายุ ชีวิต กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ขอให้รอ ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน ครึ่งเดือน มหาโควินทพราหมณ์ก็กราบทูลว่า รอถึงครึ่งเดือนก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีใครรู้ชีวิต ไม่มีใครรู้สัมปรายภพ

กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ให้มหาโควินทพราหมณ์รอสัก ๗ วัน ซึ่งมหาโควินท พราหมณ์ก็กราบทูลว่า ๗ วันนั้นก็ไม่นานนัก พอที่จะรอได้

เพราะฉะนั้น กษัตริย์ พราหมณ์ ข้าราชบริพาร ๗๐๐ พร้อมทั้งภรรยา พวกเจ้าอีกหลายพัน พราหมณ์หลายพัน คฤหบดีหลายพัน นางสนมหลายพัน ก็ได้ออกบวชตามมหาโควินท์พราหมณ์ ซึ่งมหาโควินทพราหมณ์ก็ได้สอนให้ท่านเหล่านั้นเจริญพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

บรรดาสาวกเหล่านั้นเมื่อได้ฟัง แล้วก็เจริญพรหมวิหาร เข้าถึงสุคติบ้าง พรหมโลกบ้าง สวรรค์บ้าง จนกระทั่งถึงกำเนิดของคนธรรพ์ ซึ่งปัญจสิกขเทพบุตรก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ยังทรงระลึกถึงข้อนั้นได้อยู่หรือ

คือ ยังทรงระลึกถึงพระชาติที่เป็นมหาโควินทพราหมณ์ได้ไหม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ปัญจสิกขะ เรายังระลึกได้อยู่ สมัยนั้นเราเป็นมหาโควินทพราหมณ์ เราแสดงพรหมจรรย์นั้นว่า เป็นหนทางแห่งความเป็นสหายของพรหมในพรหมโลก แก่สาวกทั้งหลาย ปัญจสิกขะ แต่ว่าพรหมจรรย์นั้นไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ นิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงเพื่อพรหมโลก

ดูกร ปัญจสิกขะ ส่วนพรหมจรรย์ของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อนิพพิทาโดยส่วนเดียว เพื่อวิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ นิพพาน

พรหมจรรย์เป็นไปเพื่อวิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธ นิพพาน นั้น เป็นไฉน คือ อัฏฐังคิกมรรค เป็นอริยะนี้เอง คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ก็บรรดาสาวกของเราที่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน

บรรดาสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด บางพวกเป็นอุปปาติกสัตว์ เพราะ สิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ปรินิพพานในภพนั้น คือ ในพรหมโลก ไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ก็มี บางพวกเป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง กลับมายังโลกนี้ คือ กามโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะทำที่สุดทุกข์ได้ ก็มี บางพวกเป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ก็มี

ดูกร ปัญจสิกขะ ด้วยประการฉะนี้แล บรรพชาของกุลบุตรเหล่านี้ทั้งหมดเทียว ไม่เปล่า ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร

นี่ทรงแสดงให้เห็นว่า ในข้อปฏิบัติที่เป็นไปในเรื่องของสมาธินั้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพิทา ไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ นิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงเพื่อพรหมโลก

ยังมีท่านผู้ใดที่ยังต้องการเจริญความสงบอีกไหม ถ้ายังต้องการผิดหรือถูก แล้วแต่อัธยาศัย เพราะบางท่านมีอัธยาศัยในเรื่องของการเจริญสมาธิ ต้องการสมาธิเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเจริญสติปัฏฐานเลย แต่ถ้าเจริญสมาธิไม่ถูก ก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องการเหมือนกัน เพราะเหตุว่าสมาธินั้น บางท่านอาจคิดว่า คงจะไม่ต้องศึกษามาก ทำตามที่บอกกล่าวกันก็คงจะได้ แต่ดูผลที่เกิดเพราะการเจริญโดยอาศัยทำตามกันนั้นว่า ตรงตามผลที่ต้องการไปพรหมโลกหรือเปล่า หรือว่าเกิดสิ่งซึ่งไม่เจริญอาจจะดีกว่า เพราะบางคนเจริญแล้วปวดศีรษะมากก็มี หรือมีอะไรๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการเจริญสมาธิ แต่ว่าไม่ใช่ผล คือ ปัญญาที่ทำให้จิตสงบขึ้นๆ แล้วก็ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว จนกระทั่งสามารถที่จะได้ผล คือ การเกิดในพรหมโลกได้

มีหลายท่านไม่ได้ศึกษาการเจริญสมถภาวนา แล้วเข้าใจว่าอาจบรรลุฌานสมาบัติโดยที่ไม่ใช่ฌานสมาบัติ ผลคือความสงบที่เป็นกุศลก็ไม่มี แต่กลับกลายเป็นปวดศีรษะบ้าง หรือมีความไม่สบายกายเกิดขึ้นบ้าง นั่นเป็นผลของการเจริญสมถภาวนาที่ถูกต้องไม่ได้ เพราะเหตุว่าการเจริญสมถภาวนานั้น ต้องเจริญด้วยปัญญาที่รู้วิธีเจริญสมถะ ทำให้จิตสงบเป็นกุศล ไม่ใช่เป็นอกุศล หรือว่าไม่ใช่ทำให้เกิดโทษแก่ร่างกาย

ในมหาปลิโพธ ๑๐ ประการนั้น ๙ ประการไม่เป็นเครื่องกั้น ส่วนประการสุดท้าย คือ อิทธิปลิโพธนั้นเป็นเครื่องกั้นได้ ที่เป็นอย่างนั้นก็เป็นเพราะเหตุว่าฤทธิ์ซึ่งมีในปุถุชนนั้นเป็นสิ่งที่รักษายาก ท่านอุปมาว่า เหมือนกับเด็กอ่อนที่ยังนอนเบาะ และดุจข้าวกล้าอ่อนย่อมจะแตกได้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย ซึ่งเมื่อผู้ใดต้องการเจริญฤทธิ์จะต้องประคับประคองให้จิตสงบเป็นสมาธิ ซึ่งยากที่จะทำให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น เพราะเหตุว่าถ้ายังเป็นผู้ที่ต้องการที่จะเจริญฤทธิ์ ฝักใฝ่ในการเจริญฤทธิ์ ก็ย่อมมุ่งหน้าต่อการสงบ ไม่มุ่งหน้าต่อการที่จะให้เกิดปัญญา รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ขอพูดถึงคำถามที่ได้รับจากท่านผู้ฟังที่ถามว่า เวลาที่พูดจะรู้สึกตัวได้อย่างไร

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงการเจริญสติในทุกอิริยาบถ เวลาที่มีชีวิตอยู่จะพ้นจากขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดินไม่ได้ แล้วมีพูดด้วย มีคิดด้วย ซึ่งในขณะนั้นต้องเจริญสติ ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคนั้นไม่เคยส่งเสริมให้พุทธบริษัทหลงลืมสติด้วยประการใดๆ เลย เพราะเหตุว่าสติเป็นธรรมที่มีคุณ เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก ตรงกันข้ามกับโมหะ การไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ผู้ปฏิบัติธรรมก็พูดกันอยู่เสมอ แล้วแต่ขั้นของความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติแล้ว เวลาพูดเจริญสติได้ไหม

สติ เป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะเห็นมีอะไรปรากฏ ขณะกำลังนั่ง มีเห็นไหม มีได้ยินไหม มีคิดนึกไหม ถ้ากำลังรับประทานอาหาร มีรสปรากฏไหม ถ้ากำลังพูด ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้นได้ไหม อย่าให้ความข้องใจหรือความสงสัยมากั้นว่า เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ในขณะที่กำลังนั่ง เห็นก็มี ได้ยินก็มี ถ้าสติเกิดขึ้นในขณะนั้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้กำลังนั่ง ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางกายก็อาจจะมีความรู้สึก กระทบเย็นบ้าง ร้อนบ้าง รู้เย็นบ้าง รู้ร้อนบ้าง ก็เป็นของจริงตามปกติ ทุกอย่างเป็นสังขารธรรม อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เพราะฉะนั้น ถ้าสติของผู้ใดจะเกิดขึ้นระลึกรู้นามหรือรูปทางตาได้ไหม เพราะว่าขณะนี้กำลังมีการเห็นซึ่งเป็นนามธรรม และก็มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา หรือว่าสติของท่านผู้ใดในขณะที่กำลังฟังนี้เอง เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพที่กำลังได้ยินและเสียงทางหู หรือว่าระลึกได้ รู้ว่าที่กำลังเข้าใจความหมายของคำพูดต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นนามธรรม เพราะเหตุว่ารูปนั้นไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในขณะที่ได้ยินได้ฟังพิจารณาตามแล้วเข้าใจนี้ ความเข้าใจในขณะนี้ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง สติก็สามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้นามและรูปได้

ท่านผู้ฟังคงจะคิดถึงในครั้งพุทธกาล เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม มีผู้ที่บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ก็มี เป็นพระอนาคามีก็มี เป็นพระสกทาคามีก็มี เป็นพระโสดาบันบุคคลก็มี ไม่เป็นอะไรเลย คือ ยังคงเป็นปุถุชนก็มี ทำไมท่านเหล่านั้น สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมได้ถึงเป็นพระอรหันต์เมื่อจบเทศนา หรือว่าเวลาที่ได้ฟัง คำอธิบายขยายพระธรรมเทศนานั้นโดยละเอียดนานาประการ

เพราะฉะนั้น คนที่ฟังธรรมแล้วก็เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น ฟังธรรมแล้วต้องเข้าใจด้วย ไม่ใช่ว่าฟังแล้วไม่รู้เรื่อง แล้วบรรลุมรรคผลโดยที่ไม่รู้เรื่อง ก็น่าคิดต่อไปว่า ทำไมท่านเหล่านั้นสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันได้ แม้ในขณะที่ได้ฟัง หรือในขณะที่ได้ฟังนั้นก็สามารถที่จะรู้แจ้งธรรมเป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ได้ในขณะนั้น ในขณะนั้นนั่นเองท่านเหล่านั้นสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ท่านที่อยู่ด้วยกันนั้นบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะเหตุว่าไม่อะไรเลยที่ผิดปกติ

ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทิฏฐิสูตร มีข้อความว่า

จริงอยู่พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อันทิฏฐิ ๒ อย่าง พัวพันแล้ว บางพวกย่อมติดอยู่ บางพวกย่อมแล่นเลยไป ส่วนพวกที่มีจักษุย่อมเห็น

ข้อความต่อไปที่อธิบายข้อความเบื้องต้นนั้น มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์บางพวกย่อมติดอยู่ อย่างไรเล่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีภพเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในภพ เพลิดเพลินด้วยดีในภพ เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมเพื่อความดับภพ จิตของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมไม่แล่นไป ย่อมไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ดำรงอยู่ด้วยดี ย่อมไม่น้อมไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์บางพวก ย่อมติดอยู่อย่างนี้

เคยเป็นอย่างนี้ไหม

เปิด  229
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566