แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 62

มาคัณฑิยปริพาชก กล่าวกับภารทวาชพราหมณ์ว่า การที่ได้เห็นที่นอนของท่าน พระโคดม ผู้กำจัดความเจริญนั้น ชื่อว่าได้เห็นชั่ว

เป็นความคิดของมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งภารทวาชพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า

กษัตริย์ที่เป็นบัณฑิต พราหมณ์ที่เป็นบัณฑิต คฤหบดีที่เป็นบัณฑิต สมณะที่เป็นบัณฑิต พากันเลื่อมใสยิ่งนักต่อท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงแนะนำในธรรมที่มีเหตุอันบริสุทธิ์ ไม่มีโทษ

ตอนนี้ภารทวาชพราหมณ์กล่าวถึงธรรมที่เป็นเหตุ คือ พระผู้มีพระภาคนั้นมิได้ทรงแสดงแต่ผล แต่ว่าทรงแสดงธรรมที่มีเหตุอันบริสุทธิ์ ไม่มีโทษ

ในพระสูตร การสนทนาระหว่าง ๒ ท่านมีมากกว่านี้

พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับคำสนทนาของพราหมณ์ภารทวาชโคตรกับมาคัณฑิยปริพาชก ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ตอนเย็นเสด็จออกจากที่เร้น เสด็จเข้าไปยังโรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชโคตร แล้วก็ตรัสกับภารทวาชพราหมณ์ถึงข้อความที่สนทนากับมาคัณฑิยปริพาชก ซึ่งทำให้พราหมณ์ภารทวาชโคตรอัศจรรย์ใจมาก ที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบการสนทนาทุกคำระหว่างตนกับมาคัณฑิยปริพาชก

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับมาคัณฑิยปริพาชก มีข้อความที่มาคัณฑิยปริพาชกกล่าวว่า

พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัดความเจริญนั้น เพราะนัยน์ตามีรูปเป็นที่มายินดี หูมีเสียงเป็นที่มายินดี จมูกมีกลิ่นเป็นที่มายินดี ลิ้นมีรสเป็นที่มายินดี กายมีโผฏฐัพพะเป็นที่มายินดี ใจมีธัมมารมณ์เป็นที่มายินดี ใจนั่น ตถาคตทรมานแล้ว คุ้มครองแล้ว รักษาแล้ว สำรวมแล้ว

อนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรม เพื่อสำรวมใจนั่น

เพราะฉะนั้น ที่มาคันฑิยปริพาชกกล่าวว่า พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัดความเจริญนั้น หมายเอาความข้อนี้ใช่ไหม

คือ สำหรับปุถุชนทั่วๆ ไปคิดว่า ย่อมเจริญเมื่อได้รูปที่พอใจสำหรับตา เสียงที่พอใจสำหรับหู กลิ่นต่างๆ ที่พอใจสำหรับจมูก รสต่างๆ ที่พอใจสำหรับลิ้น โผฏฐัพพารมณ์ต่างๆ ที่พอใจสำหรับกาย ธัมมารมณ์ต่างๆ ที่พอใจสำหรับใจ นี่เป็นสิ่งที่สามัญปุถุชนเข้าใจว่า เมื่อได้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นความเจริญ

เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกำจัดความเจริญ คือไม่ให้ติดไม่ให้พอใจยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ความเห็นของมาคัณฑิยปริพาชกคิดว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้กำจัดความเจริญ

ซึ่งมาคัณฑิยปริพาชกก็กราบทูลรับว่า เป็นเช่นนั้น เพราะคำเช่นนั้นลงกันในสูตรของตน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคัณฑิยปริพาชกจะว่าอะไรแก่ผู้ที่เคยได้รับบำเรอด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ที่สัตว์ทั้งหลายปรารถนา แต่ภายหลังต่อมา ก็รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องออกไปแห่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ทั้งหลายตามความเป็นจริง ละตัณหาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ทั้งหลาย บรรเทาความเร่าร้อน ที่เกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ เป็นผู้ปราศจากความกระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่

หมายความว่า บุคคลใดก็ตามที่เคยได้รับบำเรอด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์มาแล้ว แต่ภายหลังต่อมาผู้นั้นรู้ชัดในคุณ ในโทษ ในความเกิด ในความดับของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ในอุบาย คือ วิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์

ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามมาคัณฑิยปริพาชกอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลนั้นเป็นอย่างนั้น มาคัณฑิยปริพาชกจะว่าอะไรแก่บุคคลผู้นั้น ซึ่งมาคัณฑิยปริพาชกก็กราบทูลว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่พึงว่าอะไร

พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าให้มาคัณฑิยปริพาชกฟัง ถึงสมัยเมื่อก่อนที่พระองค์ทรงเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน ได้รับบำเรอด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นพระพุทธประวัติ และสมัยต่อมาพระองค์ทรงรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษและอุบายเครื่องออกไปแห่งกามทั้งหลายตามความเป็นจริง แล้วละตัณหาในกาม บรรเทาความเร่าร้อนที่เกิดเพราะปรารถนากาม เป็นผู้ปราศจากความกระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่ เมื่อเห็นหมู่สัตว์อื่นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผาอยู่ เสพกามอยู่ พระองค์ย่อมไม่ทรงทะเยอทะยานต่อสัตว์เหล่านั้น ไม่ยินดีในกามนั้น ข้อนั้นเพราะพระองค์ทรงยินดีด้วยความยินดีที่เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมอยู่ จึงไม่ทะเยอทะยานต่อธรรมอันเลว ไม่ยินดีในธรรมอันเลวนั้น

ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เปรียบเหมือนคนที่เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เมื่อตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนางอัปสรแวดล้อมในนันทวัน เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ ในดาวดึงส์เทวโลก เช่นนี้แล้วจะพึงทะเยอทะยานต่อคฤหบดี ต่อบุตรคฤหบดี หรือต่อกามคุณ ๕ ของมนุษย์ ใคร่ที่จะเวียนมาเพราะต้องการกามของมนุษย์บ้างไหม

หมายความถึงผู้ที่บำเพ็ญบุญกุศล มีกายสุจริต มีวจีสุจริต มีมโนสุจริต เมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็ไปบันเทิงเพียบพร้อมด้วยกามคุณของดาวดึงส์เทวโลก จะมีความทะเยอทะยานอยากกลับมาโลกมนุษย์นี้อีกไหม อยู่ถึงสวนนันทวันที่เพียบพร้อมด้วยกามคุณที่เป็นทิพย์ ก็ย่อมไม่ปรารถนาที่จะเวียนกลับมาหากามในมนุษย์โลกอีก

มาคัณฑิยปริพาชกกราบทูลว่า ไม่เป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดม ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะกามอันเป็นทิพย์น่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่ากามของมนุษย์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อยังครองเรือนในกาลก่อนก็เพียบพร้อมบำเรอด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สมัยต่อมาทรงรู้ความเกิด ความดับ คุณโทษ และอุบายความเป็นเครื่องออกไปแห่งกามทั้งหลายตามความเป็นจริง แล้วละตัณหาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงไม่ทะเยอทะยานต่อธรรมอันเลว ไม่ยินดีในธรรมอันเลวนั้นเลย

เพื่อทรงอนุเคราะห์ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอุปมาต่อไปว่า เปรียบเหมือนบุรุษโรคเรื้อน มีตัวเป็นแผล เกาปากแผล ย่างกายให้ร้อนด้วยหลุมถ่านเพลิง มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต หาหมอผู้ชำนาญการผ่าตัดมารักษาให้หาย บุรุษนั้นเห็นบุรุษโรคเรื้อนคนอื่นมีตัวเป็นแผล เกาปากแผล ย่างกายให้ร้อนด้วยหลุมถ่านเพลิง บุรุษนั้นพึงทะเยอทะยานต่อบุรุษโรคเรื้อนคนโน้น ต่อหลุมถ่านเพลิง ต่อการกลับเสพยาบ้างไหม

เคยเป็นโรคที่จะต้องมีแผลและต้องเกา ต้องย่างกายด้วยหลุมถ่านเพลิง แต่ว่ามีหมอที่ชำนาญในการผ่าตัดมารักษาให้หาย เมื่อหายแล้วยังทะเยอทะยานใคร่ที่จะไปเกาปากแผล ไปย่างตัวที่หลุมถ่านเพลิง เหมือนอย่างบุรุษโรคเรื้อนคนอื่น หรือคนโน้นบ้างไหม ในเมื่อตัวเองหายแล้ว

มาคัณฑิยปริพาชกกราบทูลตอบว่า ไม่อย่างนั้น ท่านพระโคดม ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะเมื่อยังมีโรค กิจที่ควรทำด้วยยาก็ต้องมี เมื่อไม่มีโรค กิจที่ควรทำด้วยยาก็ไม่มี

เพื่อทรงอนุเคราะห์ พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาต่อไปว่า

เมื่อบุรุษนั้นหายจากโรคเรื้อนแล้ว เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข มีเสรีภาพ จะไปไหนได้ตามความพอใจ บุรุษมีกำลัง ๒ คน ช่วยกันจับบุรุษคนนั้นที่แขนคนละข้าง ฉุดเข้าไปที่หลุมถ่านเพลิง บุรุษนั้นจะต้องดิ้นรนใช่ไหม

คือ ตัวเองไม่ปรารถนาที่จะไปที่หลุมถ่านเพลิงแล้ว แต่ว่าถูกบุรุษอีก ๒ คนจับแขนคนละข้างแล้วดึงไป ให้เข้าไปใกล้หลุมถ่านเพลิงนั้น บุรุษนั้นจะต้องดิ้นรนใช่ไหม หลุมถ่านเพลิงไม่ได้มีประโยชน์ที่จะอนุเคราะห์อะไรอีกแล้ว

มาคัณฑิยะกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดม ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะไฟโน้นมีสัมผัสเป็นทุกข์

ตอนนี้ไฟเป็นทุกข์แล้วใช่ไหม ไม่อยากเข้าใกล้หลุมถ่านเพลิงแล้ว เพราะหายแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ไฟนั้นมีสัมผัสเป็นทุกข์แต่ในบัดนี้เท่านั้นหรือ แม้เมื่อก่อนไฟนั้นก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความร้อนยิ่งใหญ่ มีความร้อนมาก

คือ ไฟนั้นจะร้อนเป็นทุกข์แต่เฉพาะเดี๋ยวนี้เท่านั้นหรือ หรือแม้เมื่อก่อนไฟนั้นก็ร้อนและเป็นทุกข์เหมือนกัน

มาคัณฑิยะปริพาชกกราบทูลว่า

ไฟนั้นมีสัมผัสเป็นทุกข์ ทั้งในบัดนี้ และแม้เมื่อก่อน แต่ว่าบุรุษโรคเรื้อนมีตัวเป็นแผล กลับสำคัญผิดในไฟ อันมีสัมผัสเป็นทุกข์นั้นว่าเป็นสุขไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แม้กามทั้งหลายก็เหมือนกัน แม้ในอดีตกาล ก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ ถึงในอนาคตกาล กามทั้งหลายก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความร้อนยิ่งใหญ่ มีความเร่าร้อนมาก แม้ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ กามทั้งหลายก็มีสัมผัสเป็นทุกข์มีความร้อนยิ่งใหญ่ และมีความเร่าร้อนมาก

สัตว์ที่ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกความเร่าร้อนเกิดขึ้น เพราะปรารภกามเผาอยู่ กลับได้ความสำคัญผิดในกาม อันมีสัมผัสเป็นทุกข์นั้นว่าเป็นสุข

เหมือนกันไหม ไฟกับกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ เป็นทุกข์ไม่ใช่แต่เฉพาะในอดีต ในอดีตก็เคยคร่ำครวญเพราะกาม เคยปรารถนา เคยดิ้นรน เคยเป็นทุกข์อย่างมากเพราะกามมาแล้ว ไม่ทราบว่ากี่ชาติ และชาติต่อๆ ไป กามก็ไม่เปลี่ยนสภาพ คือ ยังคงเป็นทุกข์ เป็นความเร่าร้อนนั่นเอง และแม้ปัจจุบันนี้ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่นที่พอใจ กำลังลิ้มรสที่พอใจ กำลังได้รับโผฏฐัพพารมณ์ที่พอใจ ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่เป็นทุกข์แต่เฉพาะอดีต ไม่ใช่เป็นทุกข์แต่เฉพาะอนาคต แม้ในปัจจุบันนี้ กามก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความร้อนยิ่งใหญ่ แต่สัตว์ที่ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกความเร่าร้อนเกิดขึ้น เพราะปรารภกามเผาอยู่ กลับได้ความสำคัญผิดในกามอันมีสัมผัสเป็นทุกข์นั้นว่าเป็นสุข

พระผู้มีพระภาคยังทรงอนุเคราะห์ละเอียดยิ่งขึ้น โดยตรัสถามต่อไปว่า

พระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชาก็ตาม ผู้เพียบพร้อมบำเรอตนด้วยกามคุณ ๕ ยังละกามตัณหาไม่ได้ จะมีจิตสงบอยู่แล้ว หรือว่ากำลังสงบอยู่ หรือว่าจักสงบอยู่นั้นได้ไหม

ไม่ว่าจะเป็นพระราชา มหาอำมาตย์ผู้เพียบพร้อมบำเรอตนด้วยกามคุณ ๕ ถ้ายังละกามตัณหา คือ ความพอใจในกามไม่ได้แล้ว จะมีจิตสงบอยู่ หรือว่ากำลังสงบอยู่ หรือว่าจักสงบอยู่นั้นได้ไหม ไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้ที่ปรารถนากาม ซึ่งมาคัณฑิยปริพาชกก็กราบทูลว่า

ข้อนี้ไม่มีเลย ท่านพระโคดม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์ ๘ เป็นทางอันเกษม

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาคัณฑิยปริพาชกซึ่งยังคงมีความเห็นผิด ในสูตรของตน ในความคิด ในความเชื่อของตน ก็ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่ท่านพระโคดม น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาแล้ว เพียงข้อที่ท่านพระโคดม ตรัสดีแล้วนี้ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง แม้ข้าพเจ้าก็ได้ฟังข้อนี้มาต่อปริพาชกทั้งหลายแต่ก่อน ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ ผู้กล่าวกันอยู่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ข้อนี้นั้นย่อมสมกัน

มาคัณฑิยปริพาชกเป็นปริพาชกที่มีความเห็นผิด เห็นผิดในตอนแรกว่า การเห็นที่นอนของพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นการเห็นที่ชั่ว แต่เมื่อได้ฟังพระพุทธภาษิตที่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง คำนั้นตรงกับที่มาคัณฑิยปริพาชกได้ฟังมาจากปริพาชกผู้เป็นอาจารย์ ผู้เป็นปาจารย์

แสดงให้เห็นว่า ภาษิตทั้งหลายนั้นก็ได้กล่าวสืบต่อกันมาเป็นทอดๆ แล้วแต่ว่า ผู้กล่าวจะมีความเข้าใจในพยัญชนะ ในอรรถนั้นอย่างไร แม้แต่ในพยัญชนะที่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถามมาคัณฑิยปริพาชกว่า

ที่ได้ยินได้ฟังมาจากปริพาชกทั้งหลายก่อนๆ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ ที่กล่าวกันอยู่ดังนี้ว่า ความไม่มีโรคนั้นเป็นไฉน นิพพานนั้นเป็นไฉน

ถ้าเป็นท่านผู้ฟังจะถามไหมว่า ความไม่มีโรคนั้นคืออะไร และนิพพานที่ว่าเป็นสุขนั้นคืออะไร พูดได้ ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง แต่ความไม่มีโรคหมายความว่าอะไร นิพพานที่เป็นสุขอย่างยิ่งนั้นเป็นอย่างไร

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาคัณฑิยปริพาชกเอาฝ่ามือลูบตัวของตัวเองกล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพระโคดม ความไม่มีโรคนั้น คืออันนี้ นิพพานนั้น คืออันนี้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพเจ้า เดี๋ยวนี้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข อะไรๆ มิได้เบียดเบียนข้าพเจ้า

นี่คือนิพพานของมาคัณฑิยปริพาชก พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาอนุเคราะห์ว่า

เหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด ไม่เห็นรูปดำ ขาว สีเขียว เหลือง แดง ชมพู ไม่เห็นที่อันเสมอและไม่เสมอ ไม่เห็นดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ได้ฟังคนที่มีจักษุกล่าวว่า ผ้าขาวผ่องงามไม่มีมลทิน สะอาดหนอ ดังนี้ ก็เที่ยวแสวงหาผ้าขาว บุรุษคนหนึ่งเอาผ้าเทียมเปื้อนเขม่า มาลวงบุรุษตาบอดแต่กำเนิดว่า ผ้าผืนนี้ขาวผ่องไม่มีมลทิน สะอาด ดังนี้ เขาก็รับเอาผ้านั้นไว้ แล้วห่ม ดีใจ เปล่งวาจาแสดงความดีใจว่า ผ้าผืนนี้ขาวผ่องงาม ไม่มีมลทิน สะอาด ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสถามมาคัณฑิยปริพาชกว่า

บุรุษผู้นั้นรู้อยู่ เห็นอยู่ รับเอาผ้านั้นมาห่ม แล้วเปล่งวาจาด้วยความดีใจ หรือเปล่งวาจาด้วยเชื่อต่อบุคคลผู้มีจักษุเล่า

เพราะฉะนั้น การที่ได้รับฟังธรรมจากอาจารย์ จากปาจารย์ แล้วไม่สอบทานถึงความหมายของพยัญชนะอรรถนั้น ก็ทำให้เข้าใจผิดได้ คือ ตัวเองมองไม่เห็นเลย แต่ต้องเชื่อผู้อื่นนั้น ซึ่งมาคัณฑิยปริพาชก ก็กราบทูลว่า

บุรุษตาบอดแต่กำเนิดนั้นไม่รู้ไม่เห็นเลย รับเอาผ้าซึ่งเปื้อนเขม่านั้นมา แล้วก็เปล่งวาจาด้วยความดีใจ ด้วยเชื่อต่อบุคคลผู้มีจักษุเท่านั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีจักษุ ไม่รู้ความไม่มีโรค ไม่เห็นพระนิพพาน ก็ยังกล่าวคาถานี้ได้ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสกับมาคัณฑิยปริพาชกว่า

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้ตรัสพระคาถาไว้ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์ ๘ เป็นทางเกษม บัดนี้คาถานั้น เป็นคาถาของปุถุชนไปโดยลำดับ

พระผู้มีพระภาคตรัสกับมาคัณฑิยปริพาชกว่า

กายนี้แลเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้

มาคัณฑิยปริพาชกกล่าวว่า ความไม่มีโรค คืออันนี้ นิพพาน คืออันนี้ ก็เพราะไม่มีจักษุของพระอริยะ อันเป็นเครื่องรู้ความไม่มีโรค อันเป็นเครื่องเห็นนิพพาน

เป็นเรื่องละเอียดที่แสดงให้เห็นว่า คาถาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นคาถาของปุถุชนไปโดยลำดับที่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

ถ้าไม่เคยประจักษ์นิพพาน แล้วก็กล่าวว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง จะรู้ชัดในความเป็นสุขอย่างยิ่งของนิพพานได้ไหม ก็ไม่ได้ รู้ได้แต่เฉพาะความไม่มีโรคตามธรรมดา แต่ที่ถูกแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสกับมาคัณฑิยปริพาชกว่า

กายนี้แลเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี

ไม่ได้นำความสุขที่แท้จริงมาให้เลย นำมาแต่ความทุกข์ ซึ่งเมื่อได้ฟังดังนี้ มาคัณฑิยปริพาชกก็เลื่อมใส กราบทูลว่า

พระผู้มีพระภาคย่อมทรงสามารถเพื่อจะทรงได้แสดงธรรมแก่ตน โดยประการที่ให้รู้ความไม่มีโรค ให้เห็นนิพพานได้

ถึงแม้ว่ามาคัณฑิยปริพาชกจะได้กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสให้มาคัณฑิยปริพาชกได้เห็นความจริงอีกข้อหนึ่งว่า

หมอชำนาญรักษาตา แต่ตาไม่หาย หมอก็ลำบากเปล่าๆ ฉันใด พระผู้มีพระภาค ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พึงแสดงธรรมแก่มาคัณฑิยปริพาชก แต่มาคัณฑิยปริพาชกก็พึงรู้ความไม่มีโรคไม่ได้ พึงเห็นนิพพานไม่ได้ อันนั้นพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อย เป็นความลำบากแก่พระองค์ เพราะพระองค์มีสัพพัญญุตญาณรู้ว่า ขณะนั้นมาคัณฑิยปริพาชกยังไม่มีจักษุที่จะเห็นความไม่มีโรคตามความเป็นจริง เพียงแต่มีความเลื่อมใสเกิดขึ้นเท่านั้น

เปิด  317
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566