แผ่เมตตา


    ส.   เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมว่าเมตตาจริง ๆ คือ อโทสะที่มีต่อสัตว์ บุคคลต่างๆ คือความไม่โกรธ เพราะว่าเวลาโกรธแล้ว ที่เคยเป็นอย่างดี ก็กลายเป็นอย่างร้ายไปหมด ที่เคยพูดดีก็กลายเป็นคำร้ายๆ ที่หวังดีก็กลายเป็นหวังร้ายไปหมด นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าต้องเข้าใจจริงๆ ว่าขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา สมควรไหมที่จะกล่าวว่า สัพเพ สัตตา  ถ้าเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ แต่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องจะมีสติระลึกได้  เพราะว่าสติมีหลายระดับ ยังไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะเราบังคับไม่ได้ พอฟังวันนี้แล้วจะให้สติไประลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย เป็นไม่ได้เลย  แต่สติจะค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เป็นไปทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง แล้วเมื่อนั้นเราก็จะรู้ว่า ขณะที่สติเกิด เป็นกุศล ตรงกันข้ามกับขณะที่เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น แม้แต่เมตตา ตั้งแต่คนในบ้าน คนนอกบ้านไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง แม้แต่ทุกคน หรือคนแปลกหน้าซึ่งไม่เคยเห็นกันมาก่อนเลย ความเมตตากับความไม่เมตตาก็ต่างกัน อย่างนี้เป็นเพียงการอบรม ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ใช่ฌานจิต ถ้ายังไม่ถึงฌานจิตแล้ว การที่เราจะแผ่ความเมตตาของเราออกไปทั่วทิศ เริ่มตั้งแต่ทิศนี้ แล้วก็ทิศโน้น ไม่ว่าจะมีสัตว์อะไรทั้งสิ้น ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่างทั้งหมด จึงจะเรียกว่าแผ่ แต่ขณะที่ยังไม่มีมากพอ ต้องอบรมเจริญ ใช้คำว่าเจริญเมตตาได้ ค่อยๆ อบรมให้มีมากขึ้น แต่จะใช้คำว่าแผ่ไม่ได้

    ผู้ฟัง ขอเปลี่ยนคำแผ่เมตตานี้เป็นคำอธิษฐาน อะไรสักอย่างได้ไหมคะ เพราะเราอธิษฐานให้สัตว์ทั้งหลายไม่มีเวรกัน อธิษฐานให้ไม่เบียดเบียนกัน อะไรอย่างนี้

    ส.   แล้วจะเป็นอธิฐานหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ก็อธิษฐาน

    ส.   แล้วจะเป็นอย่างที่เราอธิษฐานหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็จะให้เป็นค่ะ

    ส.   อย่างนั้นขอให้อธิษฐานวันนี้เลย สัตว์ทั้งโลกก็จะได้ปลอดภัย ไม่มีอันตราย ถ้าเป็นไปได้ เป็นไปได้หรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง  ไม่ได้

    ส.   เราจะคิดอย่างไร สัตว์ทั้งหลายก็มีกรรมเป็นของๆ ตน คำนี้ลืมไม่ได้เลย ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ที่ได้ฟังพระธรรม  จะมีความเข้าใจมั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรมยิ่งขึ้น แม้แต่ในการอบรมเจริญปัญญาก็จะเห็นกรรมชัดเจน และผลของกรรมชัดเจนด้วยว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ในกรณีที่เราถูกบังคับมา ในฐานะคุณครูผู้สอน เราจะไปแก้ตรงไหนครับ ทำมายึดติดมาไม่รู้กี่สิบร้อยปีแล้ว การแผ่เมตตา

    ส.   เปลี่ยนได้ หลังจากที่เราสนทนาธรรมแล้ว ศึกษาธรรมแล้ว เราอุทิศส่วนกุศลได้แทนเมตตา

    ผู้ฟัง ที่เราติดรูปแบบ อาจารย์ครับ

    ส.   เราก็เปลี่ยนสิคะ

    ผู้ฟัง เช่นทุกเช้านี้ ธงชาติขึ้น ใช่ไหมครับ  สวดมนต์ไหว้พระ แผ่เมตตา แบบ สัพเพ สัตตา หรือว่าที่กรณีอาจารย์บอกว่า เราเปลี่ยนคำว่าแผ่เมตตาเป็นเจริญสติ แล้วคำกล่าวล่ะครับ อาจารย์ครับ

    ส.   ขอโทษ เจริญสติ คงจะต่างคนต่างเจริญ แต่ทีนี้ ถ้าเราจะมีแผ่เมตตาด้วย  ขณะนั้นไม่เป็นจริงอย่างที่เราพูด เพราะฉะนั้น เราก็จะไม่ทำสิ่งที่ไม่จริง เคารพธงชาติก็เคารพ

    ผู้ฟัง ตัดแผ่เมตตาไปเลย หรือครับ

    ส.   ไม่ต้องแผ่สิคะ

    ผู้ฟัง แล้วกรณีที่อาจารย์เจริญสติล่ะครับ  รูปแบบเป็นอย่างไรครับ วิธีการ

    ส.   ไม่มีค่ะ ถ้ามีรูปแบบเมื่อไร เป็นอัตตาเมื่อนั้น มีไหมคะ รูปแบบของการเจริญสติปัฏฐานในพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง  แต่ยังติด คิดว่าเราจะนึกถึงเมตตาคนอื่น ไม่ใช่แล้วอย่างนั้น 

    ส.   ขอโทษ มีคนหนึ่งก็คงจะไม่ใช่คนเดียว ก็นั่งในห้องแล้วท่องเมตตา ตั้งหลายเที่ยว ท่องไปตั้งครึ่งชั่วโมง หรือครึ่งวัน พอออกมาก็โกรธเลย  กรณีหนึ่ง ระหว่างที่ท่อง เมตตาหรือเปล่า ถ้าเมตตาระหว่างนั้น ออกมาเมตตามีได้ไหม ท่องก็ท่องไป แต่พอเห็นสิ่งที่ทำให้โกรธ คนขับรถตัดหน้าก็โกรธแล้ว หลังจากที่ท่องเมตตามาครึ่งวัน และอีกเรื่องหนึ่ง ก็มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านก็ชอบมากเลยเรื่องการที่จะเจริญเมตตา ท่านก็เจริญเมตตาของท่าน แล้วก็มีแขกมาหา ท่านก็หงุดหงิด เพราะว่าท่านกำลังเจริญเมตตา ก็มีแขกเสียแล้ว แล้วไงคะ เป็นเมตตาหรือเปล่าที่เจริญ นั่นท่องหรือเปล่าคะ แค่ท่อง

    ผู้ฟัง  แล้วในพระไตรปิฎก มีที่พระถูกงูกัด มีการเจริญ สวดกรณียเมตตาสูตร

    ส.   สวดหมายความว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง ก็ที่พระสวดกันนะครับ

    ส.   สวดไปใจก็โกรธไป  หรืออย่างไร  เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องจิต เป็นเรื่องใจ ถ้าเรื่องของภาวนา ไม่ว่าเรื่องสมถภาวนา หรือสติปัฏฐาน วิปัสสนาภาวนาเป็นเรื่องการอบรมจิต ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพจิตด้วย สติสัมปชัญญะก็คือปัญญาพร้อมกับสติที่กำลังมีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นเมตตาขณะนั้น ก็ต้องรู้สภาพจิตที่เมตตา แต่ถ้าเมตตาไม่มี จะไปตู่ว่าขณะนั้นเป็นเมตตาก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ขออนุญาตกราบเรียนเรื่องของการเจริญพรหมวิหาร กรุณา แล้วก็เรื่องของมุทิตา อุเบกขา ไปพร้อมกับเมตตาด้วย ได้ไหมคะ

    ส.   ก็เป็นเรื่องของการอบรม แล้วก็มีความรู้ว่า ทั้ง ๔ อย่างนี้ต่างกัน คือเมตตามีความปรารถนาดี มีความความเป็นมิตร ต้องการให้คนอื่นมีความสุข กรุณาก็เวลาที่คนอื่นมีความทุกข์ ก็เห็นใจ เข้าใจ แล้วก็ช่วยเหลือให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ แต่ว่าเวลาที่มีกรุณา หมายความว่าขณะนั้นต้องเป็นกุศล ซึ่งคนที่ยังมีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็จะมีอกุศลเกิดสลับได้ เพราะว่าบางคนกรุณาคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่ว่ามีความสำคัญตน ได้ใช่ไหมคะ หรือว่ามีความถือตัวก็ได้

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีความละเอียดขึ้น เป็นกุศลอย่างหนึ่ง กุศลอย่างอื่นก็ควรเจริญด้วย ไม่ใช่ในขณะนั้นก็คิดถึง อย่างคนขอทาน แล้วก็มีคนบอกว่า เขาก็ให้เงินขอทาน แต่ด้วยความคิดว่าเขามีเงินมีทอง มีทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่า

    เพราะฉะนั้น เขาก็อยากจะช่วยคนที่ด้อยกว่า แต่จริงๆ แล้วขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตอย่างละเอียด ที่ว่าแม้ให้ก็จริง แต่มีความสำคัญตนในขณะที่ให้หรือเปล่า แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ ขณะนั้นไม่มีอกุศลด้วย ไม่มีอกุศลเกิดสลับ  แต่เป็นเรื่องที่ถึงมีก็เป็นเรื่องที่เป็นจริง ทุกอย่างที่เป็นจริงต้องยอมรับตามความเป็นจริง คือเปลี่ยนไม่ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งยังไม่ได้ดับสนิท ไม่เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่สภาพธรรมนั้นจะเกิดในระดับใดก็เกิดขึ้นเป็นไปในระดับนั้น

    มุทิตาก็เวลาที่มีผู้ที่ได้ดี มีสุข เราก็พลอยยินดีด้วย แต่ไม่ใช่โลภะ เพราะว่าถ้ายินดีเกินไป ขณะนั้นก็เป็นโลภะแล้ว พ้นขีดของความอนุโมทนาในผลของกุศลที่เขาได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าได้ดี มีสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ  ทุกอย่างต้องได้มาจากกุศลกรรม ต้องเป็นผลของกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครได้ ขณะนั้นเราก็รู้ว่ามาจากเหตุ คือกุศลกรรม ก็ยินดีด้วยในผลที่เขาได้รับ แม้แต่ว่าจะเพียงชั่วคราว เพราะว่าทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนไป สามารถที่จะรู้ถึงเหตุในอดีตได้ว่า ทำให้เกิดสิ่งที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นผลของกุศล ก็ยินดีด้วย คือ ไม่ริษยา

    อุเบกขาก็คือว่า ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะประสบกับสิ่งที่น่ายินดียินร้าย ถ้าเราไม่สามารถที่จะช่วยได้ก็ไม่เดือดร้อน


    หมายเลข 9868
    16 ก.ย. 2558