บัญญัติ - สมมุติสัจจะ


    ส. เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องทราบว่า ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ แต่ว่าสิ่งที่รวมกัน แล้วก็เกิดความทรงจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือแม้แต่คำภาษาที่ใช้ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นบัญญัติ หมายความว่าเป็นสิ่งที่กล่าวขานให้รู้ความหมายของสิ่งนั้น

    เชิญคุณสุภีร์ให้ความหมายคำว่า “บัญญัติ” ด้วยค่ะ

    สุภีร์ คำว่า “บัญญัติ” ก็มาจากภาษาบาลีว่า ปัญ ญัติ ญัติ แปลว่า ให้รู้ คำหน้าก็คือ มาจากศัพท์ ๒ ศัพท์ ปะ บทหน้า แปลว่า ประการนั้นๆ ประการต่างๆ หลายๆ ประการ ญัตติ แปลว่าให้รู้ ให้รู้โดยประการนั้นๆ หลายๆ ประการ ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อันนี้ตามศัพท์ ของปัญญัติ หรือว่าบัญญัติ มาจากคำว่า ปะ บทหน้าแปลว่าประการนั้นๆ ประการต่างๆ ญัตติ แปลว่าให้รู้ ให้ตัวเองรู้ก็ได้ให้คนอื่นรู้ก็ได้โดยประการนั้นๆ หลายๆ ประการ

    ส. เพราะฉะนั้น ชื่อทั้งหมดเป็นบัญญัติ แต่สภาพธรรมแม้ไม่มีชื่อก็มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่จำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อที่จะได้ให้เข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร

    ทุกคนมีชื่อหมดเลย ใช่ไหม ความจริงก็คือขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แล้วจะเรียกอย่างไรคะ ถ้าไม่มีชื่อทำให้สะดวกขึ้น ขันธ์ทางซ้าย ขันธ์แถวที่ ๖ หรืออะไรอย่างนี้ก็ลำบาก หรือว่าขันธ์ ๕ สร้างพระวิหารเชตวัน แต่ถ้ากล่าวว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระวิหารเชตวัน เราก็เข้าใจได้ แล้วก็ไม่เข้าใจผิดว่าหมายถึงขันธ์ ๕ ไหน ก็ขันธ์ที่ใช้คำว่า ท่านอนาถบิณฑิกะ ใช้ชื่อนั้นเป็นผู้สร้าง

    นี่ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่ามี ๒ อย่าง สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ถ้าสมมติสัจจะก็เป็นบัญญัติ ถ้าปรมัตถสัจจะก็เป็นปรมัตถ์

    คุณสุภีร์ช่วยยกตัวอย่าง สมมติสัจจะด้วยค่ะ

    สุภีร์ สมมติสัจจะ ก็เป็นความจริงโดยสมมติ ที่สมมติในภาษาไทยจริงๆ แล้วก็มาจากภาษาบาลีอีกนั่นแหละ มาจากคำว่า สัมมติ สมมติ แยกออกมาเป็น ๒ คำ สัง บวกกับ มติ สม ก็คือ พร้อมกันหลายๆ คน มติแปลว่า รู้ สำเร็จรูปเป็น สัมมติ ก็คือ รู้กันหลายๆ คน แต่ละกลุ่มๆ ภาษาไทยเรียกว่า สมมตินั่นเอง มาจากบาลีว่า สัม ม ติ คือ รู้กันหลายๆ คน ในกลุ่มๆ หนึ่งก็สมมติกันว่า อันนี้เป็นคนนะ คนนี้ชื่อนายกอ อย่างผมก็สมมติกันว่าเรียก สุภีร์ นะ เรียกว่ามีเฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้นเองที่รู้ เรียกว่า สัมมัตติ หรือว่าสมมติ ในกลุ่มที่ศึกษาธรรมด้วยกัน ก็เช่นเดียวกัน อย่างเวทนา ถ้าคนไม่ศึกษาธรรม เขาก็จะเข้าใจอย่างอื่นเยอะแยะมากมาย กลุ่มคนที่ศึกษาธรรมก็ใช้คำนี้ เรียกธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สมมติคำนี้เรียกว่า เวทนา เวลากล่าวถึงคำนี้ ทุกคนก็เข้าใจกัน สำหรับกลุ่มที่ศึกษาธรรมก็จะเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่รู้สึกกับอารมณ์ รู้สึกดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ทุกข์ สุขบ้างหรือว่าเฉยๆ บ้าง อะไรอย่างนี้ ก็ใช้คำๆ หนึ่งเรียกขึ้นมา แต่ถึงไม่เรียกก็มี เพราะว่าเวทนาเจตสิกเป็นปรมัตถธรรม แต่เราก็ใช้ชื่อเรียกว่า เวทนา เพื่อว่าคนที่ศึกษา คนที่คุยกัน ในเรื่องพระพุทธศาสนาจะได้เข้าใจกัน หรือว่าอย่างคำว่า สติปัฏฐาน ก็เป็นคำๆ หนึ่งที่ใช้เรียกสภาพธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง จริงๆ สภาพธรรมอย่างนั้นก็มี ถ้าเกิดกับใครสำหรับบุคคลที่เข้าใจ มีเหตุปัจจัยพอที่สติปัฏฐานจะเกิด ก็ใช้คำว่าสติปัฏฐาน เรียกชื่อเพื่อที่จะได้เข้าใจกัน เวลาคุยกัน ตอนนี้กำลังคุยกันเรื่องนี้ อย่างนี้เรียกว่า สมมติ สัมมติสัจจะ จะเป็นเรื่องที่มีจริงหรือไม่มีจริงก็ตาม

    บางเรื่องที่สมมติกันขึ้นมา เป็นเรื่องที่มีจริง อย่างเช่น เรื่องจิต เจตสิก รูป อย่างจิตเห็น ไม่ต้องเรียกว่า จิตเห็น ก็เห็น แต่เวลาเราเรียกเป็นชื่อ โดยภาษาบาลี เราเรียกว่า จักขุวิญญาณ อย่างนี้เป็นชื่อของจิตเห็น ซึ่งเวลาเราคุยกัน เราก็จะได้รู้ว่า ตอนนี้กำลังพูดถึงเรื่องนี้อยู่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช้ชื่อก็มี เพราะเหตุว่าเป็นปรมัตถธรรม นี่เป็นการสมมติในสิ่งที่มีจริง อย่างรูปแข็งอ่อน เราเรียกว่า ปฐวีธาตุ อย่างนี้ก็ปฐวีธาตุเป็นสมมติสัจจะ ก็คือว่า เป็นความจริงที่ใช้สมมติเรียกสิ่งที่มีจริง บางทีสมมติก็เรียกสิ่งที่ไม่มีจริงก็ได้ อย่างเช่น คน สัตว์ บุคคล ต่างๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นแก้วน้ำ จริงๆ ก็เป็นแค่สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง อันนี้เป็นสมมติสัจจะ เชิญท่านอาจารย์ครับ

    ส. พอจะเข้าใจความต่างของสัจจธรรมที่เป็นปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะ ว่าถ้าเป็นปรมัตถสัจ หมายความถึงเป็นปรมัตถธรรม มีจริงๆ เป็นสิ่งที่มีจริงที่เป็น ปรมัตถ์ แต่ถ้าเป็นสมมติสัจจะ ก็คือเป็นสิ่งที่มีจริงโดยคำที่ใช้ ให้เข้าใจความหมายนั้นเท่านั้น เช่น ถ้วยแก้ว เป็นสัจจะไหนคะ ปรมัตถสัจจะ หรือสมมติสัจจะ ถ้วยแก้ว สมมติสัจจะ จาน ช้อน ซ่อม พวกนี้ก็สมมติสัจจะ แต่ลักษณะที่แข็ง เป็นปรมัตถสัจจะ

    เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะแยกสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม จริงโดยความที่เป็นลักษณะนั้น ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถสัจจะ


    หมายเลข 9812
    23 พ.ย. 2566