จงกรม ๑


    ผู้ฟัง    สงสัยเรื่องการจงกรมครับ การจงกรม มันพิเศษอย่างไรถึงแยกมา เรียกว่า การจงกรม  เพราะว่าต้องมีพิเศษแน่ เพราะอ่านในพระไตรปิฎกโดยมาก อย่างบางคนมองลงมาจากภูเขา เห็นพระจุดตระเกียง จงกรมกันไปกันมา แสดงว่าพระทำปฏิบัติกันอย่างไร

    ส.   คำนี้มาจากภาษาบาลี ขอเชิญคุณสุภีร์ค่ะ

    สุภีร์   คำว่า จงกรม มาจากภาษาบาลีว่า ก ม ก ม ก ม แปลว่า เดิน เดิน เดิน ก้าว ก้าว ก ม ก ม เวลาสำเร็จรูปทางไวยากรณ์ เป็น จังกม ภาษาไทยเราแปลทับศัพท์มาว่า  จงกรม ก็มาจากคำว่า ก ม ก ม คือก้าว ก้าว ก้าวหลายที ก้าวไปก้าวมา  ในภาษาบาลี ถ้าเป็นการเดินไปจะเรียกว่า ค ม นะ แปลว่าการเดินไป ถ้าเป็นการเดินกลับมาเรียก อา ค ม นะ การเดินกลับมา ที่เราบอกว่า  คมนาคม มาจากคำว่า คมนะ บวกกับ อาคมนะ แปลว่าการไปการมา

    ทีนี้ถ้าเป็นการเดินซ้ำเดิมบ่อย  ๆ เดินซ้ำเดิมบ่อย ๆ  ว่าไม่ได้เดินไป ไหน ก็เดินธรรมดาอยู่นั่นแหละ ผลัดเปลี่ยนอริยาบถ  หรืออาจจะเหนื่อย อาจจะเจ็บหลัง เดินอยู่แถว ๆ นั้นแหละ เรียกว่าเดิน จงกรม ก็คือการเดินกลับไปกลับมาตามลำดับ ไม่ได้เร็วนัก ไม่ได้ช้านัก ตามธรรมดาของแต่ละคน บางคนอาจจะเดินเร็วก็ได้ แล้วแต่ อาจจะเดินช้าก็ได้ แล้วแต่ เรียกว่าการเดินจงกรม เชิญท่านอาจารย์ครับ

    ส.   ถ้าไม่รู้คำแปลของคำไหนก็คิดว่า  คำนั้นศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์เพราะไม่รู้ว่า คืออะไร อย่างคำว่าจงกรม แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้ารู้ความหมาย ก็เป็นธรรมดา ถ้าใช้คำว่าเดินในภาษาไทย จังกรม กรม ก้าวไปก้าวไป ก็คือเดิน ไม่ใช่ก้าวเดินแล้วก็หยุดนั่ง มีสติยืน มีสตินอน เพราะว่าการเป็นพระภิกษุ เพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงการรู้แจ้งธรรม  ถึงความเป็นพระอรหันต์ด้วย ถ้าไม่บวชก็สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ก็ได้  แต่ว่าเมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างคฤหัสถ์อีกต่อไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายของผู้ที่จะบวช คือ ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ หรือเพื่อให้ถึง แต่จะถึงหรือไม่ถึง ไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่มีจุดมุ่งหมายว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อพระโสดาบัน เพราะว่าถ้าเป็นพระโสดาบันไม่ต้องบวชก็ได้ เป็นพระสกทาคามี  เป็นพระอนาคามี ก็ไม่ต้องบวช แต่ถ้าถึงความเป็นอรหันต์แล้ว จะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ว่า ชีวิตของบรรพชิตก็ต้องเป็นเรื่องที่ต่างจากคฤหัสถ์ คฤหัสถ์คงจะมีอิริยาบถตามอัธยาศัย นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง  ทำกิจธุระต่าง ๆ บ้าง แต่บรรพชิตท่านไม่ต้องหุงหาอาหารเลย  ไม่ต้องทำกิจการงานเลย ท่านมีกิจ ๒ อย่าง คือ คันถธุระกับวิปัสสนาธุระ

    คันถธุระ คือ การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถูกต้อง วิปัสสนาธุระ คือ เมื่อศึกษาแล้วก็ประพฤติปฏิบัติตาม นี่คือ ๒ กิจ หน้าที่ของบรรพชิต เพราะว่าท่าน นอกจากจะเกื้อกูลบุคคลอื่นจากความรู้ของท่าน การอบรมเจริญปัญญาของท่านเอง ท่านก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ด้วย

    ถ้ามีความเข้าใจว่า จังกรม หรือ จงกรมก็คือการเดินปกติธรรมดา ไม่สงสัยอีกแล้วใช่ไหมคะ ว่าจะต้องทำท่าทำทางพิเศษ หรือว่าเดินแบบพิเศษ ถ้าพิเศษ ขณะนั้นไม่ใช่ค่ะ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มีการกระทำใด ๆ ที่ผิดปกติ ถ้าผิดปกติเมื่อไร รู้ได้ไหมคะว่าเพราะอะไร จึงผิดปกติ พอผิดปกติ อะไรทำให้ผิดปกติ

    ผู้ฟัง    ก็มีอวิชชา ความไม่รู้จริงตามธรรมชาติของชีวิต

    ส.   แล้วทำไมต้องผิดปกติ ไม่รู้ก็ไม่รู้  แต่นี่ทำให้ผิดปกติด้วย

    ผู้ฟัง    ความเคยชิน เพื่อน

    ส.   ปกติคือชิน แต่นี่ไม่ใช่ทำอย่างที่เคย เป็นสิ่งที่ไม่ปกติ เดินก็ไม่ปกติ ทำไมถึงเกิดเดินไม่ปกติคะ อยู่ดี ๆ นั่งธรรมดา เดินธรรมดา พูดธรรมดา แล้วก็เกิดทำอะไรที่ไม่ปกติขึ้นมา เพราะอะไร เดินก็เดินแปลก ๆ ไม่เป็นปกติ เพราะอะไรคะ ทำไมไปทำอย่างนั้นขึ้นมา

    ผู้ฟัง    อกุศล

    ส.   อกุศลอะไรคะ โลภะค่ะ ตัวนี้อยู่ด้วยตลอดเวลา ถ้าไม่มีความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด จะทำให้ผิดปกติไหมคะ แต่พอทำรู้เลยเพราะต้องการอย่างหนึ่งอย่างใดจึงผิดปกติ เห็นยากว่าเป็นโลภะ แต่ถ้าไม่เห็นโลภะ ก็ละโลภะไม่ได้ ถ้าละโลภะไม่ได้ ก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงการประจักษ์แจ้งนิพพานไม่ได้ ต้องละโลภะ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่อวิชชชาหุ้มห่อมิดชิดเลย เพราะความไม่รู้ แล้วโลภะก็ปิดกั้นด้วย ก็ทำให้ยากต่อการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    การศึกษา การเข้าใจธรรมทีละเล็กทีละน้อยจะทำให้ค่อย ๆ  คลายอวิชชา ความไม่รู้กับโลภะ  เพราะว่ารู้เมื่อไรก็ต้องตรงกันข้ามกับความไม่รู้


    หมายเลข 9826
    15 ส.ค. 2560