รูป ๗ รูป


    ส.   วันนี้ก็มีคำว่า “ธรรม” ซึ่งไม่เปลี่ยนทั้ง ๓ ปิฎก ความหมายเหมือนเดิม คือ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ว่าการใช้คำว่า “ธรรม” จะหลากหลายขยายต่อไปอีกมากตามสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้น ๆ เพราะว่าจิตของใครเวลานี้เหมือนกันหรือเปล่าคะ ไม่เหมือน คนหนึ่ง ๆ ก็มีจิตเกิดดับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้นับไม่ถ้วน เฉพาะเดี๋ยวนี้ วันนี้ก็ต่างกันไปแล้ว

    เพราะฉะนั้นสภาพของจิตหลากหลายมาก แต่ก็ทรงแสดงโดยประมวลเป็นประเภท ๆ ให้ได้เข้าใจว่า จิตที่เป็นอกุศลมีเท่าไร  จิตที่เป็นกุศลมีเท่าไร จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่เป็นผลของกุศลและอกุศลมีเท่าไร

    จิตอยู่ที่ไหนคะ อยู่ที่ตัวทั้งหมดเลย ทุกประเภท แต่ไม่เคยรู้เลย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ก็คงจะหาจิตเจอว่า จิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐานใด ๆ เลยทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่สามารถเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ต่อไปนี้ถ้ามีคำถามว่า จิตอยู่ที่ไหน ก็คงไม่ยากที่จะตอบ ใช่ไหมคะ แต่ว่าจิตไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไปทุกขณะ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

    มีข้อสงสัยเรื่องจิตไหมคะ ถ้าไม่มีจะได้ต่อไปเรื่องเจตสิก

    ถาม   จาก ๘ รูป แล้วก็ทำให้เราเห็น ๗ รูป

    ส.   ในชีวิตประจำวัน

    ต้องขออนุโมทนา คือดีใจที่มีผู้ทักท้วง เพราะเหตุว่าแสดงว่าฟัง สนใจด้วย เพราะว่าพูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใช่ไหมคะ ตา ๑ รูป  หู ๑ รูปคือเสียง จมูก ๑ รูปคือกลิ่น รส ๑ รูป เป็น ๔ แล้วใช่ไหมคะ ทางกาย ๓ รูป ที่เราใช้คำว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ  ธาตุลม  ทั้ง ๔ ธาตุซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นมหาภูตรูป เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน  รูปอื่นจะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีรูป ๔ รูปนี้ เพราะฉะนั้น รูป ๔ รูปนี้เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ  ธาตุลม 

    ธาตุดินที่นี่หมายความถึงลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เป็นธาตุดิน  ลักษณะที่เย็นหรือร้อนเป็นธาตุไฟ ลักษณะที่ตึงหรือไหวเป็นธาตุลม ลักษณะที่เกาะกุมเอิบอาบซึมซาบเป็นลักษณะของธาตุน้ำ ซึ่งไม่ปรากฏทางกาย  มหาภูตรูป ๓ จะปรากฏทางกาย รวมอีก ๔ รูป เป็น ๗ รูป ธาตุดิน น้ำ ไฟ  ลม  ก็คุ้นหูนี่คะ  ไม่ยากอะไรเลย พระอภิธรรมนี้ไม่ยากเลย ธรรมก็ไม่ยากเลย ปรมัตถธรรมก็ไม่ยากเลย มีอยู่ทุกขณะ พิสูจน์ได้ เพียงแต่ชื่ออาจจะใหม่  แล้วก็ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมก็อาจจะไม่เหมือนกับที่เคยเข้าใจมาก่อน แต่ว่าตามความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วเราติดรูปไหนมาก แต่ละคนก็รู้ดี  บางคนติดรูปทางตามาก บางคนติดรูปทางลิ้นมาก ให้อะไรก็ให้ได้ แต่อาหารที่อร่อยไม่ยอมให้ใคร ขอรับประทานคนเดียว เพราะติดในรสนั้น ก็เป็นเรื่องจริง เป็นสิ่งซึ่งเป็นชีวิตของแต่ละคนตามความเป็นจริงที่เริ่มจะเข้าใจในความเป็นธรรมและในความเป็นอนัตตา  มีใครรู้รูปอื่นเกิน ๗ รูปนี้บ้างคะ มีไหมคะ ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน มีใครรู้รูปเกิน ๗ รูปนี้บ้างคะ ที่รบราฆ่าฟันกัน ต้องการอะไร คะ ที่มีการประพฤติทุจริตต่าง ๆ เพราะอะไรคะ ความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส สำหรับ ๓ รูปใช้คำว่า โผฏฐัพพะ  เป็นคำใหม่ จะจำก็ได้ ไม่จำก็ได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็จะใช้ คำว่า สัมผัส แต่จริง ๆ แล้วใช้คำว่า โผฏฐัพพะ คุณสุภีร์จะช่วยให้ความหมายคำนี้หน่อย

    สุภีร์   คำว่าโผฏฐัพพะ หมายถึงรูปที่กระทบได้ทางกาย  ซึ่งทางกายเราจะมีกายปสาทอยู่ทั่วร่างกายเลย ฉะนั้นรูปที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เวลากระทบ ถ้าสมมติว่า เราเอามือไปกระทบที่โต๊ะ ที่เราเรียกกันว่าโต๊ะ ก็จะมีแข็ง  นี่แหละครับเรียกว่า โผฏฐัพพะชนิดหนึ่ง ก็คือรูปที่สามารถกระทบได้ทางกาย กายปสาท กายปสาทจะซึมซาบอยู่ทั่วร่างกายเลย

    ส.   เคยมีใครตัวร้อนบ้างไหมคะ ธาตุไฟ ถ้าไม่มีกายปสาท จะรู้ในลักษณะร้อนไหมคะ เพราะว่ากายปสาทซึบซาบอยู่ทั่วตัวทั้งภายในและภายนอก

    ผู้ฟัง    ที่มีรูปทางกาย ๓ รูป ทีนี้ก็แยกออกเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ คือไม่เข้าใจตรงที่ว่า กาย ๓ รูป ๓ รูปนี้เป็นอะไร แล้วออกมาเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ตรงไหน

    ส.   มหาภูตรูป คือรูปใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นประธานของรูปทั้งหมด ถ้า ๔ รูปนี้ ไม่เกิด รูปอื่นก็เกิดไม่ได้เลย มหาภูตรูปมี ๔  ธาตุดิน ภาษาบาลีใช้คำว่า ปฐวีธาตุ ได้แก่ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง  ธาตุน้ำ อาโปธาตุ ได้แก่ลักษณะที่ซึมซาบหรือเกาะกุมเอิบอาบ ทำให้รูปที่เกิดร่วมด้วยติดกันเกาะกุมไว้ คือ อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ธาตุไฟมีลักษณะ ๒ อย่าง เย็นหรือร้อน ธาตุลมก็มีลักษณะ ๒ อย่าง ตึงหรือไหว นั่นเป็นลักษณะของธาตุลม

    เพราะฉะนั้น รูปที่จะปรากฏทางกายมีเพียง ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำซึ่งเกาะกุมรูปอยู่ด้วยกันไม่ปรากฏ คือ ไม่กระทบกับกายปสาท ส่วนที่กระทบกายปสาทได้ ก็มีแต่เฉพาะธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวมเป็น ๗ รูป ถ้าพูดถึงแต่ละรูปต้องเป็น ๗ แต่ถ้าพูดถึงทางกายต้องเป็น ๓ รูป เคยตัวเย็น มือเย็น เท้าเย็น เป็นเราเย็นหรือเปล่าคะ หรือว่าเป็นรูปเย็นที่เกิด เพราะปัจจัย ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่เย็น พอถึงเวลารูปเย็นก็เกิดขึ้น  เมื่อมีปัจจัยของรูปเย็นที่จะเกิด รูปร้อนก็เหมือนกันค่ะ ทั้ง ๆ ที่เป็นรูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่ก็ยึดถือรูปนั้นว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า “อุปาทานขันธ์” การยึดถือสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับว่าเป็นเรา เป็นที่ตั้งของความยึดถือ


    หมายเลข 9726
    21 ส.ค. 2560