ตระหนี่หรือมัธยัสถ์


    ผู้ฟัง คำว่า ตระหนี่ หรือว่าขี้เหนียว หรือว่าหวงแหนทรัพย์สินของตนเอง ที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อสักครู่นี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของสภาพจิตของแต่ละคน แต่ละขณะ หลายๆ กรณีผมถูกหาว่าเป็นคนขี้เหนียว ตระหนี่ แล้วก็หวง ผมก็ทำของผมอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คือทำพอดีๆ ตามความเหมาะสมแห่งสภาพของตัวเองที่จะทำได้ อย่างเวลาไปทำบุญ ผมก็ไม่ได้ทำมากเป็นหมื่นเป็นแสนหรืออะไรจนเกินไป ยกเว้นแต่บางกรณีที่จำเป็นที่จะต้องทำเป็นครั้งคราว หรืออย่างเวลาเราวางแผนชีวิตของเราให้ดี เราทำอะไรของเราให้ดี เราตื่นแต่เช้า เราก็ไปได้ แต่คนที่ตื่นสายๆ ไปรถประจำทางไม่ได้ ขึ้นแท๊กซี่ อะไรๆ ก็แท๊กซี่ พอสิ้นเดือนก็ไม่พอใช้ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ทำงาน ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของสภาพจิตที่เราจะบริหารตัวเองได้ เพราะฉะนั้น ใครจะว่าตระหนี่ ใครจะว่าขี้เหนียว ใครจะว่าอะไร เราก็เฉยๆ เสียดีกว่า มันอยู่ที่ใจเราว่าเราพอใจหรือเราเห็นความเหมาะสมอย่างไร ผมไม่ทราบว่าวิธีอย่างผมจะเห็นแก่ตัว ขี้เหนียวหรือตระหนี่หรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องขออนุโมทนาที่คุณเด่นพงศ์เป็นผู้ที่รู้จักใช้เงิน คือ คนที่มีเงิน และก็ใช้เงินโดยไม่จำเป็น ก็คงจะมีเยอะเสียเงินโดยใช่เหตุ อย่างที่คุณเด่นพงษ์คิด ก็แสดงว่าเรามีเหตุผล จริงๆ แล้วเงินทองที่มีมากเป็นไปตามกรรม จะมาเมื่อไหร่ จะไปเมื่อไหร่ จะสิ้นไปเมื่อไหร่ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้เลย แต่การที่แต่ละคนจะเป็นตัวของตัวเอง แล้วก็เงินทองแทนที่จะไปเสียในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าใช้เงินนั้นในทางที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยเหลือคนอื่นก็ยังได้ประโยชน์มากกว่า เพราะฉะนั้น ก็คงจะไม่ใช่เป็นเรื่องของความตระหนี่ แต่เป็นเรื่องของการที่ใช้เงิน โดยการที่ว่าไม่ไปเสียเงินกับสิ่งที่ไม่จำเป็น ใช้ตามสมควร และทุกคนก็พอใจในความเป็นผู้มัธยัสถ์มีใครอยากจะรับประทานอาหาร และก็เหลือสักครึ่งหนึ่งแล้วก็ทิ้งบ้าง เป็นประโยชน์ไหมไม่ว่าอยู่กับบ้าน หรือที่ไหนก็ตามแต่ อาหารที่รับประทานทิ้งเสียกับอาหารที่รับประทานให้หมด เดิมทีเดียวทุกคนก็อาจจะคิดว่าถ้ารับประทานให้หมดก็อาจจะเป็นคนที่ไม่มีมารยาทในการรับประทาน เพราะว่าเหมือนกับคนตะกละใช่ไหม เกลี้ยงเลย อาจจะคิดอย่างนั้น แต่ถ้าคิดว่าจะเหลือไว้ทำไมแม้แต่เม็ดเดียว เหลือไว้ทำไม จะว่าตระหนี่หรือคะ หรือเราควรจะทิ้งหรือเปล่า หรือว่าควรจะทำยังไง

    ผู้ฟัง ช่วยขยายความ “ตระหนี่” กับ “มัธยัสถ์”

    อ.อรรณพ พระสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้สอย ว่าทรัพย์สินที่ได้มาควรที่จะใช้สอยอย่างไร และควรที่จะมีเหลือเก็บด้วย เพราะฉะนั้น พระองค์ท่านทรงสอนให้รู้จักมัธยัสถ์ๆ ก็จะต้องไม่ใช่ตระหนี่

    ตระหนี่ก็คือการที่ไม่สละ การที่มีความติดข้องในสมบัติของตนเอง และก็ไม่อยากให้สมบัติของตนเองเป็นประโยชน์กับผู้อื่น โดยความตระหนี่ ไม่มีการสละ แต่ “มัธยัสถ์” นั้นก็คือการใช้ทรัพย์สมบัติที่หามาได้ด้วยความยากลำบากก็ควรจะใช้ทรัพย์สินนั้นเป็นประโยชน์อย่างที่สุด แล้วก็มีส่วนเหลือที่จะเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่เรามีโอกาสที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขาก็โดยการที่เราสะสมอุปนิสัยของการมัธยัสถ์ ไม่สะสมความฟุ่มเฟือยใช้สอยโดยที่ไม่ได้คิดถึงผู้อื่นนั่นเอง เพราะฉะนั้น ต่างกัน โดยที่มัธยัสถ์เป็นการใช้สอย และรู้จักเก็บทรัพย์สินไว้ตามสมควร แล้วก็สามารถที่จะให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ไม่ใช่ว่าตระหนี่แล้วไม่มีการสละเลย

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่เราคิดว่าแทนที่เราจะเสียสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นโดยไม่ฟุ่มเฟือย เพียงแต่มัธยัสถ์ เราก็น่าจะให้สิ่งที่เรามัธยัสถ์แทนที่จะฟุ่มเฟือยเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นได้ ความจริงเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นเป็นความเมตตา ขณะนั้นเป็นความกรุณาหรือเปล่า เพราะว่าเงินทองที่คุณอรรณพกล่าวถึง เมื่อมีการเก็บสะสมไว้พอสมควรคือไม่ทำให้เราต้องไปรบกวนคนอื่น พร้อมกันนั้นในขณะเดียวกันที่เรายังสามารถจะช่วยคนอื่นได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าเราไม่สามารถจะช่วยได้เพราะเราไม่มีเงิน แล้วเราจะช่วยได้อย่างไร อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความละเอียดของจิตใจมี แม้แต่ในการที่เราคิดว่าเราประหยัดเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับบุคคลอื่นมีไหม ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านอาหารหรือที่ไหนๆ ก็ตาม

    เพราะฉะนั้นเรื่องบุญเป็นเรื่องที่น่าจะเข้าใจให้ถูกต้อง อย่างที่คุณเด่นพงศ์พูดถึงเรื่องการทำบุญมากน้อยที่ต่างๆ กับมิตรสหายผู้ที่มั่งมีเงินทองอะไรต่างๆ เหล่านี้ บุญคือขณะที่จิตใจปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นต้องมีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วย มีทั้งหิริโอตตัปปะ แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังธรรมก็มีหิริโอตตัปปะ แต่เรามองไม่เห็น มีศรัทธา มีสภาพธรรมเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน กุศลจิตจึงจะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น บุญก็คือขณะที่กุศลจิตเกิด ไม่ใช่ขณะที่เรามีความต้องการจะทำ และก็หวังที่จะได้ผลจากการกระทำของเรา จะได้ขึ้นสวรรค์ หรือจะได้เป็นที่รักของคนนั้นคนนี้ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วให้ทราบว่าอย่างผู้ที่เป็นพระภิกษุท่านก็ไม่มีทรัพย์สมบัติเลย แต่บุญของท่านมากหรือน้อยกว่าคฤหัสถ์ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องสภาพของจิต

    แม้แต่ก่อนสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาล จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ สภาพของจิตก็ไม่ได้เปลี่ยน กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิดมีการสละทรัพย์สินเงินทองเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น จะมากหรือน้อยก็ตาม เป็นที่น่าอนุโมทนาในกุศลจิตซึ่งสามารถจะเกิดได้ในขณะนั้น ไม่ใช่ไปตำหนิในจำนวนว่ามากหรือน้อยอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็แล้วแต่ ใครก็ตามที่ขณะส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันเป็นอกุศล แต่ก็ยังมีกุศลจิตเกิดสามารถที่จะทำประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้ในเรื่องการรับประทานอาหาร ในเรื่องคิดถึงเจ้าของร้าน แม้เพียงเล็กน้อยนิดหน่อย จิตขณะนั้นไม่เป็นไปเพื่อตนเอง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ขณะนั้นก็คือบุญ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการทำบุญ อาจจะมีผู้ติเตียนว่าทำมาก คนนี้ทำน้อย อย่างนี้อย่างนั้นก็แล้วแต่เรื่องความคิดของคนอื่น ซึ่งเราไม่สามารถจะห้ามได้ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ กุศลจิตไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ขณะไหน วัยไหน ก็ตาม เป็นที่ๆ ควรแก่การอนุโมทนา เพราะฉะนั้นเราก็จะได้อนุโมทนาในกุศลจิตของผู้ที่มีศรัทธา โดยที่ว่า ถ้าขณะใดเกิดความคิดที่ไม่อนุโมทนา ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152


    หมายเลข 9701
    26 ม.ค. 2567