เราเข้าใจระดับไหน


    ผู้ฟัง ที่เรากล่าวกันอยู่ ว่าวันหนึ่งเราพิจารณาตัวเราเอง แล้วเราก็มีโลภะมาก

    ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่

    ผู้ฟัง เมื่อโลภะเกิด

    ท่านอาจารย์ ต้องขณะที่โลภะเกิด

    ผู้ฟัง แล้วทีนี้ ลักษณะนั้น ก็ไม่ใช่ลักษณะของสภาพสติระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพที่คิดเรื่องลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจากการเคยได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น จากที่เคยได้ยินได้ฟัง ก็จะเป็นปัจจัยให้คิดนึกเรื่องสภาพธรรม แม้ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ แต่เมื่อคิดนึกจนกระทั่งเข้าใจ ก็รู้ว่า " คิด " ไม่ใช่ลักษณะจริงๆ อย่างจะคิดเรื่องแข็ง เป็นโผฏฐัพพารมณ์กระทบกับกายปสาทต้องมีผัสสเจตสิก นั่นคือคิดเรื่องแข็ง คิดไปจนกระทั่งรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะ เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ และความเห็นผิด

    ผู้ฟัง อย่างเราอยากที่จะทำโน่นทำนี่ แล้วเราก็รู้ว่าสิ่งที่เราอยากนั่นเป็นอกุศลจิต เราก็พยายามที่จะไม่อยาก อันนี้ก็ไม่ถูกทาง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็มีเรา

    ผู้ฟัง ก็มีเราที่จะทำ

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะใดที่อยากเกิด แล้วเกิดสติสัมปชัญญะ รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่ต้องการ เป็นสภาพที่ติดข้องหรือเป็นสภาพที่กำลังคิดเรื่องอยาก ทุกอย่างเป็นธรรมที่ละเอียดมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ว่าจากการที่ค่อยๆ ได้ฟัง ค่อยๆ มีความมั่นคง ซึ่งเป็นสัจจญาณว่า ธรรมขณะนี้คือสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องที่จะทำให้เรารู้ด้วยตัวเอง ว่าเรามีความเข้าใจระดับไหน ระดับฟัง ระดับคิด และระดับที่สติรู้ตรงลักษณะนั้น ทีละเล็กทีละน้อย

    ขณะใดที่ระลึกลักษณะนั้นก็ละ การที่ไม่รู้ลักษณะ นิดเดียว เล็กน้อยมาก เพราะว่าทุกคนที่ฟังนี่ต้องการอะไร ต้องการรู้ความจริง ไม่ใช่ความเท็จ และสิ่งที่มีจริงก็กำลังเผชิญหน้าที่จะให้รู้ แต่จะรู้หรือไม่รู้เพราะอะไร ไม่ใช่ว่าด้วยความหวัง ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า เรามีความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนานมาก พร้อมทั้งการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เพราะฉะนั้นประการแรกที่สุด ก็คือรู้ว่าไม่ใช่เราเป็นสิ่งที่ถูก เพราะเหตุว่าถ้ายังมีเราอยู่ ก็จะต้องมีกิเลสมากมายนับไม่ถ้วน แต่ถ้าเริ่มฟังเข้าใจว่าไม่ใช่เรา ขณะนั้นเริ่มมีความรู้ ที่ถูกต้อง พอใจไหมที่จะได้รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปไกลถึงขนาดที่ว่าอยากจะหมดกิเลส โลภะมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ใช่ศึกษา ฟัง เพื่อให้โลภะอยากมากๆ เมื่อไหร่จะถึงเร็วๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่เป็นผู้ที่ปกติ รู้เหตุ และผลตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เร็วหรือช้า แต่เป็นเรื่องการเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ในขณะที่กำลังฟัง ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่พอฟังตรงนี้แล้วอยากจะไปเข้าใจตรงอื่น อยากจะทำอย่างอื่น โดยที่ไม่ใช่การเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ้าจะเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ใน ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อละ ไม่มีสักประโยคเดียวที่จะให้เป็นไปเพื่อติด หรือเพื่อต้องการ แต่ว่าผู้ที่ไม่เข้าใจ ก็มีความเป็นตัวตนที่ฟังเพื่ออยากจะได้ เพื่อความเป็นเราที่จะเป็นอย่างที่ผู้ที่ได้สละกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ก็จะทำให้เรามีการเข้าใจแล้วก็มีโลภะ แต่ว่าถ้าเราจะมีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ โลภะก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเหตุว่ารู้ว่า ไม่ใช่เป็นการที่จะได้มาด้วยโลภะ แต่เป็นการที่ ละโลภะ ขณะใดที่เข้าใจ และต้องการ ขณะนั้นไม่ได้ละโลภะ แต่ขณะใดที่เข้าใจ และก็รู้ว่าเป็นเรื่องของการสะสมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ขณะนั้นละโลภะ

    ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเห็นโลภะตามความเป็นจริงว่า ถ้ายังคงมีความต้องการผล ไม่พ้นจากอำนาจของโลภะ ปล่อยให้เรียนไปเถอะ จะเรียนให้หมดทั้งสามปิฎก ทั้งอรรถกถา ทั้งภาษาบาลี โลภะก็ยังมีอำนาจอยู่เพราะว่าสะสมมานาน ที่จะทำให้ยังอยากจะเป็นอย่างนั้น ยังอยากจะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นแม้เพียงที่จะปล่อยไป นิดหนึ่ง ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็กลับมาครอบงำอีกได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ที่ไม่ได้หวังผลอะไรที่จะให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการฟังธรรม แต่ให้เข้าใจถูกต้อง ขณะที่เข้าใจถูก ละความไม่รู้ กับละโลภะ ก็เป็นเรื่องที่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการละ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ

    รู้แค่นี้พอไหม ขณะที่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง แล้วก็ฟังอีก เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง จะทำอะไรนอกจากนี้ นอกจากโลภะทำตลอดเวลา

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140


    หมายเลข 9477
    26 ม.ค. 2567