เข้าใจขั้นฟังหรือเข้าใจว่าเป็นเพียงสภาพธรรม


    ผู้ฟัง เวลามีเหตุการณ์หรือพบเห็น เรากำลังศึกษาตนเองหรือเรากำลังศึกษาสภาพธรรม หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ขณะนี้เราทราบว่า มีจิต เจตสิก รูป เคยรู้จักไหม จิต เจตสิก รูป หรือรู้จักเรา รู้จักเพื่อนเรา รู้จักเหตุการณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าทราบว่ามี จิต เจตสิก รูป ศึกษาเรื่องจิต ขณะนั้นเป็นการศึกษาสภาพธรรม เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แม้ว่าขณะนี้ "จิต" เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ยังไม่ได้รู้ความจริงของจิตเพียงแต่ได้ยินชื่อจิต และก้รู้ว่ามีจิต แต่ว่ายังไม่ได้รู้จิตตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าการศึกษาไม่ใช่เพียงฟัง แล้วก็รวบรัดว่าเรารู้แล้ว แต่ตามความเป็นจริง แค่รู้ว่า "มี" ขณะนี้เป็นจิต แค่ฟัง แต่ว่าขณะนี้จิตกำลังเห็น จิตกำลังได้ยิน จิตกำลังคิดนึก ไม่ได้รู้เลย เป็นเราหมด เพราะฉะนั้นการศึกษาสภาพธรรมก็คือ ศึกษาเรื่องสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจขึ้น ว่าสิ่งที่มีจริงนั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราไม่ได้ไปศึกษาเหตุการณ์ แล้วก็มาวิเคราะห์ วิจัย ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้ยังไง เป็นอะไร มายังไง แต่ว่าเราศึกษาเพื่อเข้าใจเรื่องของสภาพของธรรมที่กำลังมีในขณะนี้จริงๆ ให้เข้าใจขึ้นจนกระทั่งคลายความเป็นเรา และมีความมั่นคงที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่เคยเป็นเหตุการณ์ต่างๆ หรือเป็นเราก็คือ จิต เจตสิก รูป

    ขณะนี้เราเพียงฟัง พูดตาม เริ่มเข้าใจ แต่ว่าลักษณะของจิตไม่ได้ประจักษ์แจ้งว่า ไม่ใช่เราอย่างไร เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ซึ่งต่างกับสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย

    เพราะฉะนั้นทุกคำ ก็เป็นสิ่งที่ไตร่ตรอง จนกว่าจะถึงการประจักษ์แจ้ง ไม่ได้หมายความว่าเพียงแค่เข้าใจแล้วก็ พอแล้ว เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วก็เข้าใจเพียงขั้นฟัง ซึ่งในขณะนี้ต้องรู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา และสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาที่เกิดขึ้นก็คือ จิต เจตสิก รูป นี่คือการศึกษาธรรม ไม่มีเรื่องราวที่เป็น "เรา" เข้ามาปะปน ว่าวันนี้เราทำอะไรบ้างตั้งแต่เช้า ขณะนั้นเป็นจิตอะไร เป็นจิตเห็น เป็นจิตได้ยิน คือเอาเรื่องราวมาศึกษาว่าเป็นจิต แต่ว่าขณะที่กำลังศึกษาเรื่องจิต ไม่มีเรื่องราวที่เป็นว่าเมื่อเช้านี้เราทำอะไร แต่ว่าจิตมีกี่ประเภท มีกี่ชาติ แบ่งอย่างไร ต่างกันอย่างไร นี่คือการศึกษาเรื่องจิต แต่ไม่ใช่เอาเหตุการณ์นั้นมา คิดว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137


    หมายเลข 9240
    26 ม.ค. 2567