ปัญญาทางโลกไม่ใช่ปัญญา


    สุรีย์   จะถามอาจารย์ต่อว่า ปัญญามีหลายระดับ ทั้งโลกียปัญญาและโลกุตตรปัญญา มันจะต้องเป็นไปตามระดับขั้น ยังติดใจรู้ทั่วสักนิด เมื่อกี้รู้ทั่วอริยสัจ รู้ทั่วอะไร มันไปถึงโลกุตตระ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจ ๔ ต้อง ๔ เพราะว่าอริยสัจมี ๔ ถ้ารู้เพียงแค่ทุกขสัจก็ยังไม่ใช่รู้อริยสัจ ถ้าเป็นโลกุตตระแล้วต้องทั้ง ๔

    สุรีย์   อีกคำถามหนึ่ง ซึ่งอาจจะถามแทนคนอื่นว่า คำว่าปัญญาทางโลกกับทางธรรม มันต่างกันอย่างไร คนถามกันจังเลย มีปัญญาๆ ภาษาไทย ในภาษาไทยกับภาษาที่เป็นปัญญาที่เรากำลังคุยกันอยู่ คือ ปัญญาเจตสิก กับปัญญาภาษาไทยเพื่อที่จะไม่ให้เพี้ยน เพราะว่าอันนี้ปัญหาเยอะ ที่เอาภาษาบาลี เขายืมภาษาบาลีมาใช้ เสร็จแล้วเอาของเขามาแต่บางคำ  ความหมายไม่เอาของเขามาอย่างนี้ สติปัญญาใช้กันเหลือเกิน วันนี้ก็อยากจะแยกให้ออกว่า ปัญญาที่เป็นภาษาไทยกับปัญญาเจตสิกนี้ต่างกันอย่างไร เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์

    ท่านอาจารย์ เรากำลังพูดถึงเรื่องสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ แล้วเป็นปรมัตถธรรมด้วย ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แท้จริงแล้วถึงไม่ใช่ชื่อเรียกใดๆ ทั้งสิ้น สภาพธรรมนั้นมีลักษณะอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น นี่คือเรากำลังจะเข้าใจเรื่องสภาพธรรมซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงสภาพธรรมที่เป็นปัญญาเจตสิก สภาพธรรม ไม่ใช่ชื่อ ปัญญา พูดถึงสภาพธรรมที่เป็นปัญญาเจตสิก เป็นความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม เป็นความเข้าใจถูกในสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงปัญญาในภาษาไทยว่าคนนั้นมีสติปัญญามาก เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือสามารถที่จะคิดค้นวิธีต่างๆได้ แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม  ขณะนั้นไม่ชื่อว่าเป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าในพระพุทธศาสนา ถ้าใช้คำว่าปัญญาแล้วหมายความถึง เจตสิกปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วเราใช้คำนี้เพื่อให้เข้าใจว่า เราหมายถึงสภาพธรรมที่เป็นความเห็นถูกต้องในความจริงของสภาพธรรม

    สุรีย์   เท่าที่สรุปของท่านอาจารย์สุจินต์ประโยคสุดท้ายที่ว่า ให้เห็นชัดว่าปัญญา คือ รู้ลักษณะของธรรม คนที่มีปัญญาทางโลก เก่ง แต่ไม่รู้ลักษณะของธรรม อันนั้นเรียกว่าความฉลาดทางโลก แต่ไม่ใช่ปัญญาทางธรรม ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงภาษาทั่วๆไป เราก็เคยใช้ตั้งแต่เล็กแต่น้อยมาก็เป็นเรื่องของความเคยชิน แต่เวลาที่จะเข้าใจสภาพปรมัตถธรรม เราต้องเข้าใจให้ตรง แม้แต่คำว่า โลกียปัญญา  ซึ่งถ้าจะแปลเป็นภาษาไทย จะแปลว่าปัญญาทางโลกได้ไหม

    สมพร โลกียปัญญา  ก็หมายความว่าไม่ใช่ โลกุตตรปัญญา  เรามาสมมติทางโลก อันนี้เรียนหนังสือเก่ง

    สุรีย์   เราใช้ภาษาไทยดีกว่า

    ท่านอาจารย์ ขอโทษค่ะ เรากำลังจะเข้าถึงสภาพปรมัตถธรรมล้วนๆ ซึ่งเราจะต้องเข้าใจตัวสภาพธรรม เวลาที่ใช้คำว่า โลกียปัญญา  ไม่ต้องไปคิดถึงภาษาไทยที่แปลออกมาว่า  ปัญญาทางโลก เพราะนั่นเขาใช้เอง ซึ่งความจริงแล้วทางโลกเขาไม่ได้ใช้คำว่าปัญญาทางโลกเลย เขาใช้คำว่าปัญญา ไม่มีคำว่าทางโลก คนนั้นมีปัญญา แต่เขาไม่ได้บอกว่าทางโลก แต่ทีนี้พอมาเริ่มเรียนพระพุทธศาสนา เราจะได้ยินคำที่บอกว่าปัญญาทางโลก กับ ปัญญาทางธรรม  เวลาที่ฟังทั่วๆไป ฟังเทศน์หรือว่าอะไรอย่างนี้ แต่จริงๆแล้ว ถ้าจะให้เข้าใจลักษณะปรมัตถธรรมแล้ว แม้โลกียปัญญาก็เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นโลก คือ รู้เรื่องจิต เจตสิก รูป รู้สภาพของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นโลก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามีความเข้าใจที่มีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณก็ยังเป็นโลกียปัญญา ตราบใดที่โลกุตตรจิตยังไม่เกิด ตราบนั้นเป็นโลกียปัญญา

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกว่าปัญญาที่ใช้ในภาษาไทยไม่มีคำว่า ปัญญาทางโลกหรือปัญญาทางธรรม นั่นอีกระดับหนึ่ง แล้วพอศึกษาธรรมเล็กๆน้อยๆ ก็จะมี คำว่า ปัญญาทางโลก ปัญญาทางธรรม แต่ถ้าศึกษาปรมัตถธรรมแล้วต้องทราบว่า แม้โลกียปัญญา หมายความเฉพาะปัญญาที่ไม่มีโลกุตตระหรือนิพพานเป็นอารมณ์ แต่สามารถที่จะมีจิต เจตสิก รูปเป็นอารมณ์ หรือความเข้าใจถูกเรื่องจิต เจตสิก รูป เรื่องสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาเจตสิก ซึ่งเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม


    หมายเลข 9076
    13 ก.ย. 2558