เบือนหน้าหนีพระสัทธรรม


    ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าเผื่อว่าไม่สนใจ ไม่ใฝ่ใจศึกษาพระสัทธรรม ถ้าไม่ศึกษาในที่นี้ พระสัทธรรมถ้าจะหมายเอาปริยัติ คือไม่สนใจที่จะศึกษาปริยัติคือพระไตรปิฎก และอรรถกถา แล้วก็มุ่งที่จะปฏิบัติอย่างเดียว และปฏิบัติก็เป็นหนึ่งในพระสัทธรรมด้วย อันนี้เขาก็ไม่ได้เบือนหน้าหนีพระสัทธรรมเสียทั้งหมด คือ เบือนหน้าหนีเฉพาะที่เป็นปริยัติสัทธรรม แต่ว่าไม่ได้หนีการปฏิบัติ จะเรียกว่าเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ได้ไหมคะ เพราะว่าเบือนหน้าหนีจากปริยัติ แต่ไม่ได้เบือนหน้าหนีจากปฏิบัติ

    อ.สมพร ถ้าไม่มีปริยัติก็ปฏิบัติไม่ถูกนะครับ ถึงจะไม่เบือนหน้าหนีก็ปฏิบัติไม่ถูก ก็เหมือนเบือนหน้าหนี

    ผู้ฟัง และในทางตรงข้ามอีกขั้นหนึ่ง สมมติว่าเบือนหน้าหนีจากปฏิบัติมุ่งแต่จะสนใจแต่จะสนใจปริยัติอย่างเดียว อันนี้ก็เบือนหน้าหนีจากปฏิบัติ เป็นบางส่วนของพระสัทธรรมอีกเหมือนกัน

    อ.สมพร คือการเรียนปริยัติถูกต้องดีแล้วผู้นั้นต้องปฏิบัติครับ ต้องเป็นไปตามเหตุ และผล คนที่ศึกษาเข้าใจดีแล้วที่จะไม่ปฏิบัติจะไม่มี นอกจากว่าปริยัติคือการเรียนศึกษายังไม่ดีพอ ในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม ฟังธรรมอยู่นั่นคือปริยัติ พิจารณาตาม นั่นคือปฏิบัติ เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบแล้วปฏิเวธก็เกิดขึ้น ไม่ได้แยกอย่างนี้ ในสมัยนี้คนมีปัญญาน้อย เราก็แยก เรียนก็เรียนกันอย่างมากมายเลย ให้เข้าใจแล้วปฏิบัติ สมัยก่อนรวบลัด สิกขาเกิดพร้อมกัน เกิดในระดับเดียวกัน สิกขา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สุจินต์มีความเห็นอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วดิฉันคิดว่าต้องเกี่ยวเนื่องกัน เพราะเหตุว่าถ้าเราใช้คำว่าเบือนหน้าจากพระสัทธรรม ต้องทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นปริยัติ เพราะเหตุว่าบางคนบอกว่าพระอภิธรรม ไม่เรียนเลย ไม่ฟังเลย ไม่สนใจเลย นั่นก็พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งสนใจ แต่ว่าสนใจที่จะรู้ แต่ว่าไม่ได้สนใจที่จะเข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการเรียนให้ทราบว่า เท่าที่เราเห็นผลของการศึกษาพระอภิธรรม จะเห็นได้ว่า บางคนมีความจำดีมาก แล้วก็สามารถที่จะสอบได้ที่ ๑ ก็ได้ แต่ว่าไม่เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นให้ทราบได้ว่า การฟังพระธรรมต้องเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบจริงๆ ว่า เราฟังธรรม หรือเรามาศึกษาธรรมเรื่องจิต เรื่องเจตสิกพวกนี้ เพื่ออะไร ถ้าเพื่อจะสอบ จุดประสงค์ถูกไหม เพราะว่าบางคนบอกว่า อยู่บ้านไม่มีอะไรทำเลย มาเรียนพระอภิธรรมก็ยังดี ที่ว่าจะได้ใช้เวลาที่เป็นประโยชน์

    เพราะฉะนั้นก็มุ่งมั่น ขยันมาก อ่านตำราอะไรทุกอย่าง แล้วก็สอบด้วย ก็ถามว่าสอบทำไม เขาบอกว่าก็จะได้ให้ตัวเองขยันขึ้น เพราะว่าถ้าไม่มีการสอบก็จะไม่ขยัน คล้ายๆ กับว่าจะเรียนแบบเรียนเล่นๆ แต่จริงๆ แล้วนั่นเป็นจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมหรือเปล่า นั่นเป็นการที่เข้าถึงพระสัทธรรมหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าจะเรียนแบบภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ท่องได้ บอกวันที่ได้ เหตุการณ์ได้ทุกอย่าง จะท่องมหาสติปัฏฐานสูตร รัตนสูตร หรืออะไรก็ตามแต่ท่องได้หมด แต่เข้าใจธรรมหรือเปล่า สิ่งที่กำลังพูดหรือสิ่งที่กำลังกล่าวถึง

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เบือนหน้าจากพระสัทธรรม ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ เพียงไปโรงเรียนเรียนพระอภิธรรม แล้วจะบอกว่า ผู้นั้นไม่ได้เบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรมได้ไหม ถ้าการเรียนนี้เป็นไปเพื่อเพียงจำ ท่องได้บอกได้จิตมีกี่ดวง เจตสิกมีเท่าไร จิตนี้เกิดร่วมกับเจตสิกเท่าไร แต่ไม่รู้ธรรมเลย ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมในสมัยโน้นกับในสมัยนี้ผิดกัน สมัยโน้นผู้ที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฟังพระธรรม ซึ่งทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยละเอียดให้คนนั้นเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม คือ เพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาเพื่อเข้าใจจริงๆ ผู้นั้นไม่ได้เบือนหน้าจากพระสัทธรรม แต่ถ้าการศึกษานั้นไม่เป็นไปเพื่อที่จะเข้าใจ ไม่มีทางที่จะถึง ไม่มีทางที่จะรู้ปริยัติสัทธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นที่ว่าไปปฏิบัติไม่มีหนทางที่จะเป็นไปได้ หรือผู้ที่เรียนแบบที่ว่ายังไม่สนใจปฏิบัติ สนุกสนานกับการเรียน ชอบฟัง เป็นเรื่องความรู้ เป็นเครื่องเจริญปัญญา ลับสมอง ลับสติปัญญา เหมือนกับว่าตัวเองจะมีความสามารถที่จะรับฟังพิจารณาเหตุผล แต่ไม่เข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็ไม่ได้เห็นประโยชน์จริงๆ ว่า เรียนเพื่ออะไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วผู้เดียวที่สามารถจะให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น บุคคลอื่นไม่สามารถจะมาชี้แจงเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    นี่แสดงให้เห็นว่ามีสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วเราไม่รู้ เพราะฉะนั้นการฟังพระสัทธรรมหรือปริยัติสัทธรรมก็เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจขึ้นๆ แล้วก็ประจักษ์ความจริงได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นจะเป็นการเบือนหน้าหนีพระสัทธรรมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการศึกษา และปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจว่าเรียนเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง บางคนศึกษาแล้ว แต่ก็อาจจะยังไม่ใช่เป็นผู้ที่ไม่เบือนหน้าหนีพระสัทธรรม เพราะว่าเรียนแบบเรียนเล่นๆ ไม่ได้เรียนเพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ว่าเรียนจริงๆ แต่ไม่เข้าใจธรรม เรียนสอบ เรียนที่จะได้รู้ว่าจบปริจเฉทที่ ๑ ที่ ๒ แล้วอะไรอย่างนี้

    ผู้ฟัง อันนี้ก็ยังอาจจะเป็นการเบือนหน้าหนีพระสัทธรรมได้เหมือนกันเพราะว่าไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง ค่ะ เพราะฉะนั้นความหมายข้อนี้ลึกซึ้ง


    หมายเลข 9023
    2 ม.ค. 2567