เหตุให้เกิดความเห็นผิด


    อดิศักดิ์   คือถ้าตรึกไปในทางกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกแล้ว ที่ท่านอาจารย์บอกว่า น่าจะมีเรื่องความเห็นผิดอยู่ด้วย แต่ก็อย่างไรก็แล้วแต่ ตรงนั้นก็ยังไม่สงสัย ทีนี้สงสัยสำหรับผู้ที่ปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเขาเข้าใจไม่ตรงกับในพระไตรปิฎก  จะเป็นการทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิไหม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เข้าใจว่ามีรูปนั่งรูปนอน

    ส.   อันนั้นเป็นความเห็นผิดแล้ว  นี่คุณกฤษณากำลังพูดถึงเหตุที่จะให้เกิดความเห็นผิด

    อดิศักดิ์   เขาก็ยังปฏิบัติอยู่อย่างนี้ มีรูปนั่งมี รูปนอนมี

    ส.   แต่ก่อนที่จะเห็นผิดอย่างนี้ อะไรทำให้เขาเกิดความเห็นผิดอย่างนี้

    อดิศักดิ์   ก็คือไม่ได้เสพพระสัทธรรมที่ถูก

    ส.   หมายความว่ามีความโน้มเอียงที่จะมีความเห็นผิดง่ายๆ ในทุกเรื่อง ไม่มีการพิจารณาเลย ในเรื่องแม้บาปบุญก็ไม่มีการพิจารณาว่า ทำอย่างนี้สมควรหรือเป็นบาปหรือเปล่า

    อดิศักดิ์   แต่บาปบุญเขาก็รู้

    ส.   ไม่ใช่คะ ไม่ได้พูดถึงกรณีนี้ เพราะเหตุว่าคุณกฤษณาถามถึงเหตุให้เกิดความเห็นผิด ไม่ใช่ขณะที่มีความเห็นผิดแล้ว

    กฤษณา   เหตุที่ให้เกิดความเห็นผิด  คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต  

    ส.   ทีนี้ก่อนที่จะเห็นผิดอย่างนี้

    กฤษณา   ก็อาจจะมีเหตุที่มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย หรือว่าเสพบุคคลผู้ที่มีทิฏฐิวิบัติ หรือว่าเบือนหน้าหนีพระสัทธรรมหรือว่า หรือเป็นผู้มากด้วยมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าประการที่ ๕ ที่เราจะพูดถึงต่อไป เชิญอาจารย์สุรีย์ค่ะ

    สุรีย์   เราอาจจะสรุปได้ว่า โทสะเป็นเหตุให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้เหมือนกัน

    ส.   ไม่ควร เพราะเหตุว่าถ้าเราคิดว่าโลภะเป็นเหตุ โทสะเป็นเหตุ โมหะเป็นเหตุ ทุกคนก็มี แต่เขาไม่มีความเห็นผิดได้ เขาสามารถที่จะพิจารณาเหตุผลให้ตรงแล้วก็เข้าใจถูกได้ เพราะฉะนั้นการที่จะวางหลักขีดเส้นตายไปเลย ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นแม้แต่คำพูด อย่างที่เมื่อกี้ “สมน้ำหน้า” ขณะนั้นจิตที่พูดเป็นเพียงกำลังของความพอใจที่คนนั้นได้รับผลกรรมอย่างนั้น หรือว่าเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดแทรก หรือว่าโน้มเอียงไปที่จะเห็นผิด  เพราะจริงๆทุกคนไม่ใช่ผู้จัดการโลก กรรมสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่เป็นผู้ที่จะต้องไปพลอยสมน้ำหน้ากับคนที่ทำผิด เพราะเหตุว่าเขาต้องได้รับผลของกรรมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ทำตามคำสอนจริงๆ เมตตาได้ไหม ควรไหม ถ้าถามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดง แม้แต่กับคนที่ทำผิด เราเป็นมิตรได้ไหม เรามีกรุณาได้ไหม แล้วระหว่างการที่ควรเป็นมิตรกับควรสมน้ำหน้า ควรจะเป็นอย่างไหน

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ค่อยๆพิจารณาธรรม ตรง คือ กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาแล้วเข้าใจตรง ก็ไม่มีความเห็นผิด แต่ถ้าไม่มีการพิจารณาเลย แล้วก็โน้มเอียงไปในทางที่จะเห็นผิด เพราะว่ากำลังพูดถึงเหตุที่จะให้เกิดความเห็นผิด ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่พิจารณา ต่อไปก็เห็นผิดง่ายๆ  เพราะเหตุว่าไม่พิจารณาในเหตุในผล เหตุผลที่จะขอให้พิจารณาที่นี่ก็คือว่า ควรไหมที่จะสมน้ำหน้า หรือว่าควรจะเป็นมิตร แค่นี้ จะเป็นเหตุให้เกิดความเห็นผิดหรือความเห็นถูกที่จะโน้มเอียงไป ซึ่งวันหนึ่งก็จะเกิดมิจฉาทิฏฐิได้ ถ้าคิดผิด

    สุรีย์   ก็หมายความว่า ถ้ามีพยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกแล้วก็จะเป็นเหตุให้โน้มเอียงไป

    ส.   เป็นของธรรมดา ถ้าไม่โน้มเอียง เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับจิตของคนที่พูด ว่า เขาพูดโดยกำลังของโทสะ หรือว่าพอใจที่คนนั้นได้รับโทษเท่านั้น หรือเขามีความเห็นที่โน้มเอียงไปที่ว่า สมควรที่ทุกคนจะเป็นอย่างนั้นที่จะกล่าวโทษ รังเกียจ ไม่เป็นมิตรหรืออะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นเพียงตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ขอให้พิจารณา คือ ควรจะเมตตาหรือควรจะสมน้ำหน้า นี่จะได้เป็นทางที่จะรู้ว่าข้างหน้าต่อไป เราจะมีความเห็นผิดหรือเราจะมีความเห็นถูก ถ้าเราไม่เข้าใจเหตุผลจริงๆ ถ้าตอบว่าควรจะสมน้ำหน้า ถูกหรือผิด ถ้าคิดอย่างนั้นคือโน้มเอียงไปที่วันหนึ่งจะมีมิจฉาทิฏฐิได้ เพราะว่าไม่เข้าใจในเหตุในผล

    สุรีย์   หมายความว่าถ้าหากเรามีพยาบาทวิตกกับวิหิงสาวิตกอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งๆมันก็คือการ

    ส.   ไม่ใช่ค่ะ ใครๆก็ต้องมี กามวิตกก็ต้องมี พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกก็มีบ้าง แต่มีความเห็นผิดในเหตุในผลหรือเปล่า เช่น เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างไร  เอาเรื่องง่ายๆอย่างตัวอย่างเมื่อกี้นี้ ควรจะสมน้ำหน้าหรือว่าควรจะเป็นมิตร

    สุรีย์   สมน้ำหน้าใครคะ

    ส.   คนที่ทำผิดแล้วได้รับผลกรรม เมื่อเขาทำผิดแล้วเขาได้รับผลกรรมแล้วเราควรจะสมน้ำหน้า หรือเราควรจะเป็นมิตร หรือเราควรจะกรุณา นี่กำลังพูดถึงเหตุที่วันหนึ่งเราจะมีความเห็นผิด เพราะเหตุว่าเราไม่เป็นผู้พิจารณาธรรมให้ตรง เรื่องของการคิดเรื่องกามวิตก พยาบาทวิตก นี่เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่ต้องเป็นผู้ตรงด้วยที่จะพิจารณาในเหตุในผล ข้อสำคัญที่สุด คือ พิจารณาในเหตุในผล


    หมายเลข 9027
    13 ก.ย. 2558