โลกุตรกุศลให้ผลทันที


    สุรีย์   ถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ มรรคจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ทำกิจดับกิเลสเป็นสมุจเฉท มรรคจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วดับไป ผลจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น แล้วยังมีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ ผลจิตเกิด ๒ หรือ ๓ ขณะขึ้นไปใน ๗ ขณะของชวนจิตเดียวกับมรรคจิต เพราะฉะนั้นจิต ๒ ดวงจะเกิดต่อกันติดกันทันที ก็จะเกิดชาติเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ กุศลชาติและวิบากชาติ เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ทำไมจึงไม่มีกิริยาชาติ

    ท่านอาจารย์  เพราะเหตุว่าวิบากเป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้นเมื่อโลกุตตรกุศลจิตดับ โลกุตตรวิบากซึ่งเป็นผลของโลกุตตรกุศลเกิดสืบต่อทันที เท่านั้นค่ะ จะไม่มีการเกิดแบบ มหากิริยา หรือว่ารูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยาเกิดอีก

    สุรีย์   เหตุผลก็เพราะว่าเป็นจิต ๒ ดวงเกิดติดกัน

    ท่านอาจารย์  เป็นผล เป็นเหตุกับเป็นผล

    สุรีย์   เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์  เท่านั้นค่ะ

    สุรีย์   แต่ทีนี้ มันก็มีอย่างทางมโนทวารก็เป็นเหตุ เป็นผลที่ติดกัน เช่นมโนทวาราวชนจิต เสร็จแล้วก็มาชวนจิตซึ่งเป็นกุศลและอกุศลทั้งหลาย  แล้วต่อด้วย ตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบากจิต เข้าก็เกิดติดกัน แต่ทำไมยังมีกิริยาอยู่

    ท่านอาจารย์  อันนี้ไม่เกี่ยวกับติดหรือไม่ติด แต่หมายความว่าโลกุตตรจิตเป็นกุศล เพราะฉะนั้นให้ผลเป็นโลกุตตรวิบาก เท่านั้นค่ะ มีจิตเพียง ๒ ชาติ เพราะเหตุว่ากุศลอื่นเกิดบ่อยๆ แต่ว่าเวลาที่เป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อกุศลไม่มี จิตนั้นก็เป็นกิริยา ก็ยังเป็นกุศลซึ่งอาจจะเกิดได้อีกบ่อยๆ แต่เนื่องจากว่า กุศลนั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดผลอีก เพราะฉะนั้นจึงเป็นชาติกิริยา เหมือนผลไม้ซึ่งตัดโคนหรือรากแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นเหตุ

    สุรีย์   นั่นก็หมายความว่า กิริยามันไม่เป็นทั้งเหตุทั้งผล เพราะฉะนั้นในโลกุตตรจิตจึงไม่มี

    ท่านอาจารย์  กิริยาไม่ใช่กุศลและกิริยาไม่ใช่วิบาก

    สุรีย์   เป็นจิตที่เป็นเหตุและเป็นจิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้นในโลตุตตรจิตจะมีจิตที่เป็นเหตุ คือ กุศลจิตที่เป็นผลคือวิบากเท่านั้น

    เรื่องการรับผลของโลกุตตรกุศลต่างกับการรับผลของผลที่ได้รับผลของกุศลอื่นๆ เช่น ทาน ศีล และสมถภาวนา ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์  เพราะโลกุตตรกุศลเป็นจิตซึ่งดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เท่ากับดับภพชาติการเกิด เพราะฉะนั้นวิบากของเขาจะไม่ทำกิจปฏิสนธิเหมือนอย่างกับวิบากอื่น แล้วก็ไม่มีการที่จะให้ผลหลังจากนั้นด้วย เพราะเหตุว่าการที่ผลจิตจะเกิดอีก ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆจะมีผลเหมือนอย่างกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณพวกนี้ ต้องเป็นผลซึ่งมาจากเหตุ ซึ่งเป็นโลกุตตระ คือเป็นผลของโลกุตตรกุศล เหมือนอย่างรูปาวจรวิบาก ก็ไม่ใช่ว่าคนที่ทำฌานจิตจนถึงรูปาวจรจิตแล้ว แล้วก็อยู่ดีๆ รูปาวจรวิบากจิตก็จะเกิดขึ้นมาเป็นผล ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าผลต้องมีกิจการงานของผลนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นรูปาวจรวิบากจะทำกิจเพียง ๓ กิจเท่านั้น คือ ปฏิสนธิกิจเป็นรูปพรหมบุคคล แล้วก็ภวังคกิจซึ่งดำรงภพชาติความเป็นรูปพรหมบุคคล แล้วก็จุติกิจ ซึ่งสิ้นสุดความเป็นสภาพของรูปพรหมบุคคล เพราะฉะนั้นรูปาวจรวิบากก็ทำกิจเพียงเท่านี้ที่เป็นวิบาก สำหรับวิบากของอกุศลกับกุศลก็ทำได้มากกว่า คือ ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน

    นี่แสดงให้เห็นว่า ต้องรู้ประเภทของกุศลด้วยว่า ถ้าเป็นกุศลอย่างรูปาวจรจกุศลทำให้รูปาวจรวิบากทำ ๓ กิจเท่านั้น ผลของอรูปาวจรกุศลก็ทำให้ของอรูปาวจรวิบาก ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ๑ กิจ และของอรูปาวจรวิบากนั้นทำกิจเกิดดับดำรงความเป็นอรูปพรหมบุคคลอีกกิจหนึ่ง แล้วก็กิจสุดท้ายก็คือว่าทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นอรูปพรหมบุคคล นี่คือกิจของวิบากจิต

    เพราะฉะนั้นสำหรับโลกุตตรวิบากไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ได้ทำกิจภวังค์ ไม่ได้ทำกิจจุติเลย เพราะเหตุว่าเป็นผลของโลกุตตรกุศล ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อดับไปแล้วเป็นเหตุให้เกิดผลซึ่งทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วย

    นี่คือผลของโลกุตตรกุศลจิต ที่ทำให้วิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นผล โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วย แต่โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว

    เพราะฉะนั้นจิต ๒ ดวงนี้จึงต่างกัน คือดวงหนึ่งเป็นโลกุตตรกุศลทำกิจดับกิเลส ส่วนอีกดวงไม่ได้ดับกิเลส แต่เกิดขึ้นเป็นผลของจิตที่ดับกิเลสแล้ว แล้วก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ซึ่งเป็นผล

    นี่คือผลของโลกุตตรกุศล ต่างกับวิบากอื่นๆ

    สุรีย์   คือวิบากอื่นๆต้องใช้เวลารอ จนกว่าวิบากจิตซึ่งทำปฏิสนธิกิจเกิดจึงจะให้ผล

    ท่านอาจารย์  สำหรับรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล แล้วก็สำหรับอกุศลและกุศลก็ต้องอาศัยกาลเวลา แต่ว่าสำหรับทางฝ่ายกามาวจรกุศลนั้นมีวิบากจิตมากกว่าที่ทำเพียงกิจ ปฏิสนธิ ภวังค์  จุติ


    หมายเลข 8991
    13 ก.ย. 2558