เริ่มละด้วยความเข้าใจ


    พระ   ขอเจริญพร กรรมฐานในอรรถกถา มหาสติปัฏฐานสูตรที่ท่านกล่าวไว้ว่า กายเปรียบเหมือนเกวียน เพราะอรรถว่าไม่รู้ ลมที่เกิดจากจิตเปรียบเหมือนโค จิตเปรียบเหมือนสารถี เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะเดิน เราจะยืน วาโยธาตุที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวก็เกิดขึ้น อิริยาบถมีเดินเป็นต้น ย่อมเป็นไปเพราะความไหวตัวแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่การทำของจิต ต่อจากนั้นสัตว์ก็เดิน สัตว์ก็ยืน เรายืน เราเดิน ด้วยอานุภาพของตนเอง อันนี้ไม่ทราบว่าจะมนสิการอย่างไรในการเจริญสติปัฏฐาน ทำลายฆณสัญญาลงได้

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดทุกคนก็ศึกษาโดยปริยัติว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่ถ้าจะใช้คำว่าจะทำ ก็ต้องผิดแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องละ

    พระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระวินัยหรือว่าพระธรรม ต้องตั้งต้นด้วยการละทั้งหมด คือ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็ละความไม่รู้ ละความเข้าใจผิด ละความเห็นผิด หรือถึงแม้พระวินัยก็ตามแต่ เป็นเรื่องของการละชีวิตของคฤหัสถ์ คือ ละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะศึกษาพุทธศาสนาได้ผล ได้ประโยชน์ที่แท้จริง ต้องเป็นผู้ที่รู้จริงๆว่า ศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อละ  โดยมากที่คิดว่า เพื่อจะเอา หรือเพื่อจะได้ ตั้งต้นก็ผิด เพราะฉะนั้นไม่มีทางเลยที่จะได้อะไร นอกจากได้อกุศล หรือว่าได้ความเห็นผิด หรือว่าได้โลภะ แต่นี่เป็นการที่จะสละหรือละทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นโดยขั้นการฟังทราบว่า ไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆแล้ว ไม่มีเราจะทำอีกต่อไป แน่นอนที่สุด มีแต่ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในเรื่องลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้แต่เรื่องของจิตชวาโยธาตุ คือ ธาตุลมซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ที่จะทำให้มีการนั่ง นอน ยืน เดิน หรือว่าเคลื่อนไหวก็ตาม ทรงแสดงเพื่อที่จะให้เห็นจริงๆว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน

    เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า ที่เรียนทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่าง บางคนก็บอกว่า เขาชอบปฏิบัติ นี่ก็ถ้าเข้าใจจริงๆแล้วก็ผิดอีก ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย นอกจากเป็นผู้ที่รู้ว่า สติเกิดหรือหลงลืมสติ นี่คือปัญญา เพราะรู้ว่าไม่ใช่เราที่ระลึก แต่เป็นสติที่เกิดจึงระลึก เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องละตั้งแต่ตอนต้นทีเดียวเจ้าค่ะ

    พระ   อันนี้จะทำอย่างไรจะให้ละความรู้สึกเป็นอัตตา ความรู้สึกว่าเป็นเราลงได้

    ท่านอาจารย์ ทำอย่างไรนี่ใช้ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นเรื่องทำ ต้องตั้งต้นใหม่เลยว่า เข้าใจ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาไม่เกิดแล้วอะไรจะละ โลภะก็ละไม่ได้ โทสะก็ไปละตัวตนไม่ได้ ความสงสัยก็ไปละตัวตนไม่ได้ เมตตาก็ไปละความเป็นตัวตนไม่ได้ ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่จะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน นอกจากปัญญาอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องชีวิตปกติธรรมดาที่จะมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น แล้วก็รู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ เพราะว่าไม่ใช่เรา เป็นมรรค ๘ หรือไม่ใช่เรา เป็นมรรคมีองค์ ๘ แต่มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่เจตสิก ๘ ประเภท ซึ่งไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าต้องการอะไร แต่ให้ทราบความจริงว่า ขณะใดที่สติเกิดคือขณะที่กำลังระลึก แล้วก็เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดคือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติในขณะนี้ นี่คือการเริ่มละ คือ ไม่ใช่เราที่จะทำเพื่อจะให้ได้อะไร แต่เป็นการเริ่มละด้วยการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่สติเกิดก็รู้ว่าไม่ใช่เรา นั่นคือความละการยึดถือสติว่า เป็นเราที่จะทำ


    หมายเลข 8906
    12 ก.ย. 2558