กุศลหรืออกุศลอยู่ที่การสั่งสม


    ผู้ฟัง ที่แสดงมาทั้งหมดก็เป็น ๕ ประเภทแล้ว ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตจนกระทั่งถึงสันตีรณจิต วันนี้คงจะต้องต่อเป็นโวฏฐัพพนะ รับต่อจากสันตีรณจิตนั้น วิถีจิตลำดับต่อมา ก็คือโวฏฐัพพนจิต สำหรับเราพูดโวฏฐัพพนจิตนั้น ความหมายหรือว่าอรรถพยัญชนะนั้นจะเป็นอย่างไร ผมขอการบเรียนถามท่านอาจารย์สมพรครับ โวฏฐัพพนะ มีความหมายอย่างไร

    สมพร โวฏฐัพพนจิต ถ้าเราจะแปลก็แปลได้ ๒ อย่าง กำหนดอารมณ์ก็ได้  ตัดสินอารมณ์ก็ได้ แต่ว่าอันไหนมันเหมาะสมดี เราก็ใช้อันนั้น ที่เราใช้คำว่า ตัดสิน เพราะว่าสันตีรณะ แปลว่า พิจารณา ตัวอย่าง เราพิจารณาอะไร เราก็ตกลงใจ ตัดสินว่าเป็นอย่างนี้ๆ  เพื่อให้มันเข้ากับเรื่อง

    เพราะฉะนั้นสันตีรณะแปลว่าพิจารณาแล้ว พิจารณาอารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏเป็นสี หรือเป็นเสียงอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็เมื่อจิตตัวนี้ดับไปแล้วก็มีการตัดสินแน่ชัดลงไปว่าดีหรือไม่ดี โดยแยบคาย หรือไม่แยบคาย เรียกว่าตัดสินอารมณ์

    ผู้ฟัง ในเรื่องโวฏฐัพพนจิต ตัดสินอารมณ์ ก็ไม่ใช่หมายความว่าลักษณะที่ว่าเราตัดสิน แต่เป็นลักษณะของจิตอย่างนั้นเอง ซึ่งไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน แต่ทำหน้าที่อย่างนั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เรื่องธรรมที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วก็แต่ละคนก็พิจารณาให้ละเอียดขึ้นได้  อย่างคำว่า “วิบาก” ต้องทราบเลยว่า จักขุวิญญาณเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก

    เพราะฉะนั้น ๓ ดวงนี้ทำกิจต่างกันอย่างไร คือ จักขุวิญญาณทำกิจเห็น ทำกิจอื่นไม่ได้เลย เพียงเห็น เมื่อเห็นดับไปแล้วต้องมีจิตอื่นเกิดต่อ ต้องเป็นของที่แน่นอน แล้วเมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับ จิตที่เกิดต่อนั้นก็รู้อารมณ์นั้นต่อ  ภาษาไทยเราจะใช้คำว่ารับ หรือภาษาบาลีก็ใช้คำซึ่งมีคำแปลอย่างเดียวกัน สัมปฏิจฉันนะ ก็หมายความว่ารู้อารมณ์เดียวกันต่อ และเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อก็ต้องเป็นจิตที่ทำอีกกิจหนึ่ง แม้ว่าจะมีอารมณ์เดียวกัน คือ จิตหนึ่งเห็นแล้วก็ดับ จิตต่อไปก็รู้อารมณ์นั้นต่อ จิตต่อไปก็พิจารณาอารมณ์ต่อ แล้วก็ต่อจากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของวิบากแล้ว เป็นเรื่องของกิริยาจิต ซึ่งเมื่อกิริยาจิตที่ทำกิจนี้ คือ โวฏฐัพพนจิตดับไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อตามการสะสม ซึ่งโวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นกระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ คือว่ากุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ อารมณ์กระทบจริง เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ ซึ่งโทสะก็เกิดได้ โลภะก็เกิดได้ หรือกุศลจิตก็เกิดได้ หมายความว่าเรื่องของอารมณ์เป็นเรื่องของวิบาก ซึ่งจะต้องเห็น จะต้องได้ยิน จะต้องได้กลิ่น จะต้องได้ลิ้มรส จะต้องได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก

    นี่เป็นตอนหนึ่งของวัฏฏะ คือ “วิปากวัฏฎ์” ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่หลังจากนั้นแล้วไม่ใช่วิบากอีกต่อไป เริ่มที่จะเป็นเหตุ คือ เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะเตรียมจิตเตรียมใจไว้ก่อนว่า ถ้าอารมณ์นี้มากระทบแล้วละก็ถึงจะเป็นอนิฏฐารมณ์ ก็จะดี จะไม่โกรธ หรือว่าถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็จะไม่ชอบ จะไม่รัก ไม่มีการที่จะเตรียมตัว หรือว่าจะไปฝืนกระแสของธรรมที่เป็นการสะสมสืบมาของแต่ละคนได้ เพราะว่าจิตจะต้องเกิดขึ้นทำกิจการงาน

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในชีวิตของเรา บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล แต่อีกคนทำไมกุศลมากกว่าอกุศล เพราะการสะสมของเขาที่จะทำให้ไม่ว่าจะรับรู้อารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์ กุศลจิตเขาเกิดได้มาก ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์เขาก็มีเมตตา หรือว่าไม่โกรธได้ หรือว่าถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ เขาก็ไม่ติดไม่ข้อง ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ขึ้นอยู่กับการสะสม ซึ่งการสะสมจะมีจิตหนึ่งซึ่งทำกิจเมื่อถึงกาละที่จะต้องเกิดก่อนกุศลหรืออกุศล จิตนั้นทำโวฏฐัพพนกิจ คือหลังจากที่กระทบอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม จิตของใครจะเป็นกุศลหรืออกุศลแล้วแต่โวฏฐัพพนจิต ซึ่งมีกิจทำโวฏฐัพพนะ อย่างที่อาจารย์บอกเมื่อกี้นี้ว่า  จะใช้คำว่าตัดสิน หรือจะใช้คำว่า กำหนด แต่ดิฉันก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจคำว่า กำหนด คือถ้าใครจะไปใช้คำว่า “กำหนด” ก็ไม่รู้ว่าจะไปกำหนดอย่างไร แต่ว่าคำอธิบายในอรรถกถาก็มีว่าพิจาณาโดยรอบ หมายความว่าเมื่อโดยรอบแล้วก็สามารถที่จะรู้ หรือว่าจะใช้คำว่ากำหนดลงไปได้ว่า อันนี้เป็นอะไร แต่จริงๆแล้วไม่ใช่  จิตนี้กระทำทางให้กุศลจิตหรือ อกุศลจิตเกิดต่อ เพราะว่าอารมณ์ ก็คืออนิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์นั่นเอง สัมปฏิจฉันนะ ถ้าอารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ก็ต้องรู้อารมณ์นั้นต่อที่เป็นอารมณ์เดียวกัน สันตีรณะก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเหตุว่าพิจารณาอารมณ์ที่ดี ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ วิบากนั้นก็ต้องเป็นไปตามกรรม เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรม แต่โวฏฐัพพนะไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยาจิต แล้วก็ทำโวฏฐัพพนกิจ คือ หลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับแล้ว กุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด โดยที่ว่า ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่การสะสม ซึ่งโวฏฐัพพนะก็ไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะไปตัดสิน แต่ว่าเพียงกระทำกิจ ทำทางให้กุศลจิตซึ่งสะสมมาเกิดขึ้น หรือว่าให้อกุศลจิตซึ่งสะสมมาเนิ่นนานนั้นเกิดขึ้นเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า การที่เราได้ศึกษาธรรม ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาว่า บังคับบัญชาไม่ได้ อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี จะเกิดกุศลจิต จะเกิดอกุศลจิต เป็นไปตามวิถีจิตทั้งสิ้น


    หมายเลข 8909
    12 ก.ย. 2558