ปัญญารู้สภาพธรรมทีละลักษณะ


    ผู้ฟัง ปัญญาจะมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังนี่มีบัญญัติเป็นอารมณ์หรือไม่

    ผู้ฟัง มีเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจถูก สุตตมยญาณ จินตมยญาณ

    ผู้ฟัง ต้องเป็นเรื่องราวของธรรมด้วยจึงกล่าวว่าเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปัญญาเจตสิก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เป็นความเข้าใจเรื่องราว สามารถที่จะเชื่อมโยงเรื่องนี้ไปสู่เรื่องนี้ได้

    ท่านอาจารย์ ได้ ถ้าเป็นความเห็นถูกว่ามารดาบิดามีคุณ ก็เป็นความเห็นถูก ไม่ใช่ความเห็นผิด

    ผู้ฟัง เพราะอย่างนั้นจะบอกว่าทะเลชื่อจะไม่ดีเลยเสียทีเดียวก็ไม่ใช่ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ที่จะไม่มีชื่อเป็นไปไม่ได้ จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรโดยไม่รู้บัญญัติ ใครก็อยู่ไม่ได้ จานข้าวก็ไม่รู้ เมื่อสักครู่นี้ก็จะตักข้าวใส่จานใช่ไหม ถ้าไม่รู้ว่าเป็นจาน เป็นข้าว ก็ตักไม่ถูก รับประทานไม่ได้ จะอยู่ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วไม่คิดตามหรือระลึกตามก็คงจะไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ใช้คำถูกต้องป็นผู้ที่ฉลาดในโวหาร มิฉะนั้นก็แย่ใช่ไหม ขันธ์ ๕ ที่นี่สร้างพระเชตุวัน หรือขันธ์ ๕ โน้น อะไรก็ยุ่งกันไปใหญ่

    ผู้ฟัง ปัญญาที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องราวของธรรมแต่ว่าคิดตามการแก้ปัญหาอย่างเรื่องราวต่างๆ เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ กำลังทำงานเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ประเภทไหน ค่อยๆ รู้ไป

    ผู้ฟัง ก็คือโลภะ ถ้าไม่มีโลภะก็จะไม่เข้าใจกระบวนการหรือระบบที่จะทำให้เข้าใจในเรื่องราวมากยิ่งขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่ใช่กุศลต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด

    ผู้ฟัง ซึ่งต่างจากความเข้าใจเรื่องราวของธรรมที่จะนำไปสู่ความเข้าใจจริงๆ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือปัญญา คนที่กำลังรู้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ รู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้นหรือไม่ กำลังเห็นแท้ๆ เลย รู้ไหมว่าเห็นคืออะไร เพราะฉะนั้นไม่มีทางเลยที่วิชาการอื่นจะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะว่าวิชาทั้งหมดเป็นเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่รู้เรี่องชื่อ เรื่องราว แต่ว่ามีลักษณะปรากฏกับสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐานที่กำลังรู้ลักษณะเฉพาะแต่ละลักษณะ ทีละลักษณะ จนกว่าทุกอย่างเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มีผู้ที่ถามว่าจะต้องไปรู้ทำไมสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้ววันหนึ่งๆ ไม่ได้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลยหรือ จะได้ไปรู้อย่างอื่น จะชอบก็ชอบในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะไม่ชอบก็ไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นความสำคัญ และรูปอื่นจะปรากฏไหมในชีวิตประจำวัน ภาวรูปปรากฏไหม โอชารูปปรากฏไหม ก็ไม่ได้ปรากฏ แต่รูปที่ปรากฏเป็นปกตินี้ที่จะทำให้รู้ได้ว่าไม่ใช่นามธรรม และก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และก็ติดข้อง เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรม รู้วิชาอื่นทั้งหมดก็คือไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิตด้วย

    ผู้ฟัง แต่เพียงขั้นรู้เรื่องราวสืบต่อความเป็นเหตุเป็นผลกัน จากเรื่องหนึ่งไปสู่เรื่องหนึ่ง ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ขั้นไหน

    ผู้ฟัง ขั้นเข้าใจเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ของอะไร

    ผู้ฟัง ของธรรม

    ท่านอาจารย์ ต้องของสภาพธรรม ไม่ใช่เรื่องเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125


    หมายเลข 8834
    26 ม.ค. 2567