มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือไม่


    ผู้ฟัง ที่เราเข้าใจว่ามีคนรับผลของกรรม มีคนกระทำกรรมแม้ขณะนั้นก็เป็นทิฏฐิเจตสิกอย่างหนึ่งใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เรื่องราวหรือว่าเชื่อว่ามีสัตว์บุคคลจริงๆ มีตัวตนจริงๆ ถ้าคุยกับเด็กๆ ก็จะมีแต่เรื่องราวใช่ไหม กับความทรงจำ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้ว่าในขณะนั้นมีความเห็น ยึดมั่นในความเห็นอย่างนั้นหรือเปล่าว่ามีสัตว์ บุคคล ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นสัตว์เป็นบุคคลจริงๆ

    ผู้ฟัง จิต และเจตสิกตัวนี้จะละคลายได้ด้วยธรรมอะไร

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม สักกายทิฏฐิจะไม่สามารถละได้เพียงเรื่องราวที่เข้าใจว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง เพราะอย่างถ้าเกิดเข้าใจเพียงเรื่องราวแค่ว่าทำกรรมชั่วก็ได้รับผลกรรมชั่วหรือว่ามีการเกิดชาติหน้า

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความเข้าใจในเหตุผล

    ผู้ฟัง แต่ว่าก็ยังเป็นสัตว์ บุคคลที่รับผลของเรื่องราวนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ สัตว์ บุคคล ไม่ได้ทำกรรมหรือว่ากรรมที่เกิดขึ้นมี

    ผู้ฟัง เป็นกรรมที่เกิดขึ้นมี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็พูดเรื่องกรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดยังไม่เข้าใจว่าสัตว์ บุคคลไม่มีก็ยังเป็นทิฏฐิอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องแยกสัญญาความจำ บัญญัติเรื่องราวกับความเห็นผิดในสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เพราะว่าการที่เราจะไปอธิบายเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรมให้คนภายนอกรู้ มันก็ต้องเป็นเขาที่รับผลของกรรมเพราะเขาทำกรรมอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการที่จะมีปัญญาความเห็นถูกก็เห็นถูกหลายเรื่องตามลำดับขั้น จนกระทั่งเห็นถูกถึงไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์บุคคล กุศลธรรมกับอกุศลธรรม อันไหนดีอันไหนชั่ว นี่คือเรื่องราวใช่ไหม แล้วก็บอกได้โดย หรือว่าถ้าใครบอกว่าอกุศลดีนั่นคือเห็นผิด แต่ถ้าตราบใดยังบอกว่าอกุศลไม่ดี กุศลดี นั่นคือเห็นถูกในระดับของกุศล และอกุศล ท่านที่นั่งฟังก็มีเรื่องราวของความเห็นผิดมาก แต่ว่าไม่ได้กล่าวถึงใช่ไหมเพียงแต่ฟังไปเรื่อยๆ แต่เข้าใจว่าบางอย่างก็ยังคงสงสัยหรือว่าบางอย่างก็ยังไม่รู้ว่าเป็นความเห็นผิดหรือเปล่า หรือความเห็นผิดต่างๆ นาๆ มีอยู่ก็ยังไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ด้วยตัวเองว่าเป็นความเห็นผิดหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ถ้าได้ฟังพระ ธรรมแล้วก็คงจะพิจารณาด้วยตัวเองได้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125


    หมายเลข 9117
    26 ม.ค. 2567