อย่าฟังเผิน


    ก็คงไม่ลืมนะคะ ธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าทุกขณะเป็นธรรม ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย แม้แต่เดี๋ยวนี้เป็นธรรม แต่ความลึกซึ้งของสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียด โดยเข้าใจจริงๆ ก็ไม่สามารถเห็นความลึกซึ้งของธรรมได้ ก็ดูเผินๆ เหมือนเป็นสิ่งธรรมดา แต่ทุกคำถ้าไตร่ตรองก็สามารถเข้าใจว่า เราเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังวันแล้ววันเล่า บ่อยๆ เรื่องของสิ่งที่มีจริงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แค่ไหน และถ้าเป็นคำถามให้คิด ก็อาจทำให้เราเริ่มเข้าใจความละเอียด เช่นถ้าถามว่า คำที่ว่า “ทุกสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม” กับ “ธรรมคือสิ่งที่มีจริง” แค่นี้ค่ะ เหมือนกันหรือเปล่า หรือความเข้าใจละเอียดขึ้นอย่างไร เช่น ถ้าคนที่ไม่เคยฟังธรรมเลย จะให้เขารู้ได้อย่างไรว่า ธรรมคืออะไร ก็บอกว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ พอที่จะเข้าใจได้ สิ่งที่มีจริง แต่ก็ต้องคิด เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ หรือเปล่า เมื่อเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งนั้นแหละเป็นธรรม

    นี่ก็เป็นความเข้าใจในเรื่องของการฟังว่า ธรรมคืออะไร แต่เวลาที่ศึกษาแล้วฟังธรรมต่อไป ถ้าเราจะเปลี่ยนเป็น “สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้เป็นธรรม” แทนที่จะบอกว่า “ธรรมคือสิ่งที่มีจริง” แต่บอกว่า “สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้เป็นธรรม” ความเข้าใจต่างกันไหมคะ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมคือสิ่งที่มีจริงเป็นปริยัติ ให้เราเข้าใจความหมายของคำ เวลาที่ใช้คำว่า “ธรรม” คืออะไร มิฉะนั้นแล้วเราก็จะพูดคำที่ไม่เข้าใจ แต่ถ้าบอกว่า ธรรมก็คือสิ่งที่มีจริงทุกขณะ คนที่ฟังเผินก็รับไป สิ่งที่มีจริงทุกขณะ แต่ถ้าไตร่ตรอง อะไรกำลังมีจริงขณะนี้ เห็นมีจริงๆ เป็นธรรม แต่ก็ยังไม่เคยคิด ไม่เคยเข้าใจเลยว่าเป็นธรรม ต่อเมื่อไรที่ระลึกได้ว่า เห็นขณะนี้เป็นธรรม เริ่มเข้าใจแล้วว่า ธรรมอยู่ที่ไหน ได้ยินขณะนี้เป็นธรรม ก็เริ่มรู้ลักษณะที่ได้ยิน เพราะได้ยินมีจริงๆ และก็เริ่มเข้าใจว่า ได้ยินนี่แหละเป็นธรรม ไม่เหมือนกับฟังขั้นปริยัติว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แต่ก็ยังไม่ถึงแต่ละลักษณะว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นธรรม ได้ยิน ขณะที่ได้ยินเกิดขึ้นเป็นธรรม จากไม่ได้ยิน แล้วก็เกิดได้ยิน แล้วได้ยินหายไปไหน ไม่เคยคิดเลยว่า ได้ยินขณะนี้เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็หมดไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย แต่ก็ไปสนใจในเรื่องราวของสิ่งที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถเข้าใจความจริงของธรรมว่า จากไม่มีก็เกิดมี แล้วก็หามีไม่

    เพราะฉะนั้นความละเอียดของธรรม ก็คือว่า ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจธรรมที่มีจริงๆ ขึ้น โดยความเคารพอย่างยิ่งที่จะตรงต่อธรรม มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ในชีวิตประจำวันได้

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเรื่องราวมากๆ แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เอง คิดมีจริงๆ แล้วหายไปไหน ไม่กลับมาอีกเลย เสียงมีจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป แล้วไม่กลับมาอีก

    นี่คือลักษณะของธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นของใคร มีใครเป็นเจ้าของ หรือว่าจะเปลี่ยนแปลงความจริงของธรรมได้ เพราะฉะนั้นความเป็นผู้เคารพธรรม ก็คือศึกษาจนมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรม ซึ่งก็จะต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ แล้วก็พิจารณาไตร่ตรอง แล้วเข้าใจตัวธรรมแท้ๆ จริงๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นแล้วก็หมดไปอยู่เรื่อยๆ ค่ะ


    หมายเลข 8735
    19 ก.พ. 2567