ปัญญาเกิดแล้วละ


    พระ   ฟังจากที่ท่านอาจารย์ว่า จิตเกิดจะมีเจตนาด้วย อย่างนั้นแสดงว่า จิตที่เกิดดับ มีกรรมตามขึ้นมาเลย

    ท่านอาจารย์    ต้องเข้าใจว่า เจตนาเกิดกับจิตทุกชนิด เพราะฉะนั้นเกิดกับกุศล ก็เป็นกุศลเจตนา เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลเจตนา และถึงแม้ว่าจะทำกรรมหรือไม่ทำกรรม จะหลับจะตื่น เจตนาก็ต้องเกิดกับจิตประเภทนั้นๆอยู่แล้ว แต่เจตนาขณะที่นอนหลับ ใครรู้บ้างคะ ไม่รู้ ขณะที่ตื่น รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง อย่างขณะที่เห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เขาเป็นชาติวิบาก คือ เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเจตนาจะไปทำกุศลไม่ได้ จิตเห็น เจตนาที่เกิดกับจิตเห็น จะไปทำกุศล เป็นบุญ เป็นบาปไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ทำให้เจตนานี้เกิดพร้อมจิตที่เห็น เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นเจตนาก็มีหลายระดับขั้น อย่างเวลาที่โกรธ อยากจะทำอะไรบ้างคะ ขณะนั้นเจตนาเกิดแล้วที่จงใจจะทำอย่างนั้นๆ ที่ไม่ดี เวลาที่กุศลจิตเกิด อยากจะทำอะไรบ้าง อยากจะไหว้พระสวดมนต์ หรือช่วยเหลือคนอื่น หรือให้ทาน หรืออะไร ขณะนั้นก็เป็นเจตนา คือ ความจงใจที่เป็นกุศลที่พอเห็นได้

    เพราะฉะนั้นสภาพของเจตนาที่ปรากฏที่พอจะรู้ได้ ก็คือเมื่อเป็นกุศล หรือเมื่อเป็นอกุศลเท่านั้น แต่เวลาที่เกิดกับจิตอื่นๆ ไม่สามารถจะรู้ได้เลย แต่แม้กระนั้นเจตนาก็ต้องเกิดขึ้นทำกิจของเจตนา

    เพราะฉะนั้นคำว่า “อนัตตา” กว้างขวางและรวมธรรมไว้มาก ทั้งที่เรายังไม่เคยรู้แล้วก็ค่อยๆรู้ขึ้น  เพราะไม่รู้อะไร เริ่มขวนขวายที่จะรู้แล้ว ที่จะฟังอีก เพื่อที่จะให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่รู้ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าสอนอะไรก็สอนไป เราก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ควรที่จะรู้ว่า พระองค์ตรัสรู้และทรงแสดงธรรมซึ่งเราสามารถได้ยินได้ฟัง พิจารณาเข้าใจได้

    ข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่กล่าวถึงในตอนต้น คือ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเองดีกว่าปัญญาของคนอื่นไหมคะ เที่ยวไปถามเขา ฉันถึงญาณไหน รู้อะไรบ้าง หรืออะไรอย่างนี้ นั่นไม่ใช่ปัญญาค่ะ ไม่มีความรู้อะไรเลย แต่ว่าขณะใดที่เข้าใจ เราเองเป็นผู้รู้ว่าเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็รู้ว่าไม่เข้าใจ ก็ถูก คือ เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง  ขณะที่ไม่เข้าใจก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่เข้าใจก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เข้าใจเท่านั้นเอง และก็กลับมาไม่เข้าใจอีกก็ได้ ไม่ใช่ว่าเข้าใจ คือ ปัญญาจะต้องเกิดตลอดเวลา ปัญญาเกิดแล้วก็ดับ เช่นเดียวกับโทสะเกิดแล้วก็ดับ โลภะเกิดแล้วก็ดับ ทุกอย่าง อนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งซึ่งไม่เที่ยงเกิดดับ จะเป็นสุขไปไม่ได้เลย แล้วก็เป็นอนัตตาด้วย

    เมื่อรู้อย่างนี้ ปัญญาเกิดแล้ว พระพุทธศาสนาจริงๆ ละ ซึ่งยากไหมคะเรื่องละ ยากแสนยาก แต่ควรไหมคะที่จะละ เห็นไหมคะ มีสิ่งที่เรารู้ว่า ยาก แต่เป็นสิ่งที่เคยอบรม เพราะฉะนั้นเราก็ฟังธรรมเพื่อให้ปัญญาเกิด ทำกิจของปัญญา คือ ละความต้องการ

    เพราะฉะนั้นถ้ามีการชักชวนในเรื่องใดก็ตาม ที่จะให้เกิดการได้ ขณะนั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าเป็นคำที่ทำให้เราเกิดปัญญาแล้วละ นั่นเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่ควรละอย่างยิ่ง ก็คือโลภะและอวิชชา ความติดข้องกับความไม่รู้ ทำไมจึงเป็น ๒ อย่าง เพราะเหตุว่าเราติดข้องตั้งแต่เกิด เป็นความจริงไหมคะ แต่เราไม่รู้ ใช่ไหมคะ เห็นนี่ติดแล้ว ทันทีที่เห็น ติดทันทีในสิ่งที่เห็น ทันทีที่ได้ยินเสียงก็ติดในเสียง ทันทีที่ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้เรื่อง คิดนึก ถ้าเราไม่ใช่คนที่กำลังโกรธเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่เราเกิดคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้น เราจะคิดด้วยความติดข้องในเรื่องที่คิด ถ้าเราไม่ติดข้องในเรื่องนั้น เราก็คิดเรื่องอื่น ใช่ไหมคะ แม้แต่ความคิดของเรา ยังต้องคิดด้วยโลภะ ด้วยความติดข้องในแต่ละเรื่องที่คิด

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ หนีรอดพ้นจากโลภะเมื่อไร ทางตาเห็นติดทันที  ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นจึงนำมาซึ่งทุกข์ เพราะไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว เรื่องราวต่างๆ มี ชั่วขณะที่คิด จิตคิดไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน แต่หลังเห็นแล้วจิตคิด หลังได้ยินแล้ว จิตได้ยินดับแล้ว จิตคิดต่อ หลังจากได้กลิ่นแล้ว จิตคิดต่อ

    เพราะฉะนั้นเราอยู่ในโลกของความคิดตลอดเวลา เหมือนโลกใบหนึ่ง โลกของคนเดียว ซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับกระทบกับสิ่งนั้นนิดหนึ่ง แล้วก็คิด สิ่งที่กระทบไม่เหลืออยู่เลย แต่ความคิดจับไว้แน่น และจำไว้เหนียวแน่นว่า เป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นก็เหมือนมีเราตั้งแต่เกิดจนตาย  แต่ผู้ที่ตรัสรู้แล้วรู้ว่า จิต เจตสิก รูปเกิดแล้วดับ ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็ทำหน้าที่ต่างๆกัน

    เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริงๆ จะรู้ว่า เวลาที่ไม่รู้เราติด แต่เวลารู้เราค่อยๆละ แต่ไม่ใช่ละฮวบฮาบทันที จะหมดกิเลสวันนี้ บ่ายนี้ เดือนนี้ แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก ก็ละความไม่รู้เพิ่มขึ้น ละความติดข้องเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นเรื่องของการละแสนยาก แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมเป็นเรื่องละ จึงจะเป็นธรรมที่ถูกต้อง เพราะผู้ที่เห็นโทษของความติดจึงจะสอนว่า สิ่งที่ควรคือความติด ซึ่งเป็นโลภะ และทรงแสดงหนทางที่จะละความติดข้องด้วย คือ การอบรมเจริญปัญญา


    หมายเลข 8511
    10 ก.ย. 2558