คำเตือนเพื่อความตรง


    ท่านอาจารย์ คงได้ยินคำว่า “สัจบารมี” เป็นผู้ที่ตรง และจริงใจตั้งแต่เริ่มฟังพระธรรม และเมื่อฟังแล้วก็เห็นว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์เท่ากับความจริงที่ปรากฏแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรงต่อการเห็นประโยชน์ว่า ควรรู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วใครบ้างคะที่คิดอย่างนี้ คนที่ไม่คิดอย่างนี้ก็มี อย่างนั้นจะตรง และเห็นประโยชน์ของความจริง สัจจะหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นเพียงเท่านี้ก็ยังไม่พอ เพราะเหตุว่าวาจาจริง มี วาจาเท็จ ไม่จริง ก็มี เคยพูดบ้างไหม วาจาอย่างไหน แสดงถึงความเป็นผู้มั่นคงจริงๆ หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า กำลังของกุศลเท่านั้น ที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ และกุศลก็ไม่ใช่เกิดวันนี้วันเดียว ที่เคยสะสมมามีความมั่นคง หรือมีความหวั่นไหว ก็แล้วแต่การสะสม เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้เห็นประโยชน์ของคุณความดีทั้งหมดที่เป็นบารมี และเป็นผู้ที่มั่นคงด้วย บางคนก็บอกว่า พูดไม่จริงนิดๆ หน่อยๆ ไม่เห็นเป็นไรเลย ใครก็ไม่เดือดร้อน บางทีเขาอาจจะสบายใจขึ้นด้วยซ้ำไป ถ้าเราจะไม่พูดความจริงอย่างนั้น แต่เราเป็นผู้มั่นคงในคำจริง ไม่พูดก็ได้ หรือพูดคำอื่นซึ่งไม่ใช่คำไม่จริงก็ได้ ที่จะทำให้คนอื่นสบายใจขึ้นก็ได้

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ แม้คำเล็กคำน้อยที่ไม่จริง ก็ไม่กล่าวจนกระทั่งเป็นอุปนิสัยมั่นคง เพราะฉะนั้นคำจริงของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็จะต่างกับคำจริงของคนที่อยากได้ประโยชน์ เพราะได้ยินว่า สัจวาจา คือ พูดจริง พอมีอันตราย ไฟจะไหม้ก็นึกถึงนกคุ่ม หรืออะไรก็ตาม แล้วไปนั่งพูดอย่างนั้น ไม่ใช่เลยนะคะ ต้องเป็นอัธยาศัยที่มั่นคงที่ตรงต่อความจริงในสันตาน คือ การเกิดดับสืบต่อมาแต่ละชาติ จนกระทั่งถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบันเมื่อไร ถึงจะดับเหตุที่ทำให้กล่าววาจาที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า กิเลสมากมาย เหนียวแน่น หนาแน่น และติดแน่นด้วย อยู่ในจิตเลย ที่จะเอาออกไปได้ไม่ใช่วิสัยของอกุศล แต่ต้องเป็นปัญญาด้วยที่มีความเข้าใจถูกต้อง และอบรมคุณความดีทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้นเรื่องราวในพระไตรปิฎกทั้งหมด ก็เป็นการศึกษาให้เห็นประโยชน์ของกุศล ไม่ใช่เราเผินๆ แล้วอยากจะได้ประโยชน์ ก็เลยทำอย่างนั้นบ้าง แต่ต้องเป็นผู้ตรงทั้งหมดเลย ทั้งบารมีทั้ง ๑๐ ด้วย


    หมายเลข 8453
    18 ก.พ. 2567