หาแต่เรื่องราวจนลืมสภาพธรรม


    มธุรส จิตที่เกิดดับแต่ละขณะ นอกจากปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ปุถุชนจะรู้ได้เฉพาะการเรียนและเข้าใจแค่นั้น แต่ทำไมเวลาที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ทำไมเราถึงสามารถระลึกรู้ได้ ไม่ทราบจะอธิบายด้วยเหตุผลอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์    ก่อนประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ต้องระลึกก่อนใช่ไหมคะ เพราะว่ามีตัวจริงๆขณะนี้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดว่า ไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่เจตนา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเรียนเรื่องลักษณะของสติ และสติก็มีหลายขั้น ถ้าสติที่เป็นสติสัมปชัญญะ ตามปกติ ตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ นิดเดียว เพราะเหตุว่าแข็งปรากฏ ปกติไม่เคยระลึกตรงแข็ง ก็คิดเรื่องราวต่างๆไปเลย แต่ขณะนี้ อย่างนี้ สติเกิดระลึกที่แข็ง ได้ ลักษณะแข็งปรากฏกับกายวิญญาณ และปรากฏกับสติด้วย เพราะถ้าไม่มีกายวิญญาณ แข็งจะปรากฏได้ไหมคะ ไม่ได้ แต่เมื่อแข็งเกิดแล้วเป็นปกติ ไม่เคยมีสติระลึกตรงนั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่แข็งปรากฏตามปกติ สติก็ระลึกที่แข็งตามปกตินั่นแหละ และค่อยๆเข้าใจลักษณะที่แข็งต่างกับสภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง  ก็เป็นสิ่งที่ความกินเวลา ทำให้ดูเหมือนกับว่า แล้วเมื่อไร แล้วอย่างไร ก็เป็นอย่างนี้ ระลึกอีกก็เป็นอย่างนี้ ระลึกอีกก็เป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

    การจัดด้ามมีด จับทีเดียวสึก เป็นไปไม่ได้เลย แต่อาศัยการจับบ่อยๆ ก็สึกได้ ฉันใด เวลาที่สติปัฏฐานเกิด คนนั้นก็เริ่มเข้าใจ เพราะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย รู้ว่าขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่เรา  ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ แต่เป็นขั้นที่เพียงเริ่มเข้าใจความต่างของสติสัมปชัญญะกับสติขั้นอื่น

       มธุรส ในความหมายของหนูก็คือว่า อย่างเช่น สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ หรือว่าทวิปัญจวิญญาณ ปุถุชนคงไม่สามารถเห็นได้ ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นกุศล อกุศล เราจะระลึกและรู้ได้ ก็เลยสงสัยว่าเป็นเพราะอะไรคะ แต่ที่หนูคิด ไม่ทราบจะเกี่ยวกับเรื่องกำลัง หรือเพราะเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ ทำให้เรารู้สึกได้

    ท่านอาจารย์    ตอนนี้เราก็มาหาเรื่อง คือ กลับมาหาเรื่อง ทั้งๆที่สภาพธรรมกำลังปรากฏให้สติสัมปชัญญะระลึก เราก็กลับมาที่เรื่อง ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นเรารู้กำลังของเราว่า ขณะนี้เป็นธรรมก็ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นการรู้ของเราก็ต้องตามลำดับตรงตามที่ศึกษา คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ อย่างเสียงก็มีลักษณะปรากฏความเป็นเสียง ลักษณะของเสียง ก็มีจริง ใช่ไหมคะ หรือว่าแข็ง หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือคิดนึก ก็มีลักษณะจริงๆให้รู้ว่าเป็นสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นเมื่อเรายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งต่างกันเป็นนามธรรมและรูปธรรม แล้วเราไปคิดถึงสัมปฏิจฉันนะ คิดถึงปัญจทวาราวัชชนะ ขณะนั้นเราไปคิดเป็นเรื่องราว


    หมายเลข 8451
    10 ก.ย. 2558