โลภะติดในกุศลได้มั้ย


    สันติ  ทุกคนก็ยังพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่ แต่จะแยกแยะกันอย่างไร ระหว่างการเห็นประโยชน์ของธรรม กับการติดในธรรม หรือความติดข้องในการอยากให้สติเกิด

    ท่านอาจารย์    ค่ะ ติดในธรรม หมายความว่าอย่างไรคะ

    สันติ  ก็คิดว่า อยากจะเจริญกุศลให้มากๆ อย่างรู้ว่า ถ้าไปทัชมาฮาล ไม่ได้คุยธรรม คงจะมีแต่อกุศลทั้งนั้น อยู่สนทนาธรรมดีกว่า กุศลเจริญ หรือบางคนคิดว่า ถ้าคิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นก็ไม่มีประโยชน์

    ท่านอาจารย์    คุณสันติคะ สิ่งที่ยังไม่เกิดทั้งนั้นเลย  ไม่ว่าจะไปทัช หรือไม่ไปทัช ก็ยังไม่เกิดขึ้นสำหรับตอนนั้นที่เขายังไม่ได้ตัดสินใจ และเราพูดถึงเวลานี้ เราก็พูดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด ถ้าเกิดจะเป็นอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้สิ่งใดที่กำลังปรากฏ เราควรจะพูดถึงสิ่งนี้ แล้วเราจะเข้าใจมากขึ้น และเราก็จะรู้ว่า เรากลัวอะไรถ้าเราไปทัชมาฮาล ไม่มีตาหรือ ไม่มีเห็นหรือ ไม่มีสุขหรือ ไม่มีอะไรหรือ ก็มีทุกอย่าง เรานั่งที่นี่ก็มี โลภะเราก็มี แต่ว่าต่างอารมณ์ อารมณ์นั้นก็คืออารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ที่นี่

    เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่คนที่จะดับตัวเราชนิดที่แข็ง แล้วก็เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือเลย แต่เรารู้ว่า ต่อให้ไปทำอย่างฤๅษี อยู่ในป่า กินเผือก กินมัน ไม่กินรสอาหารที่อร่อย เราก็ไม่ได้ละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ  เพราะว่าสิ่งแรกที่ต้องละ คือ ความเห็นที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ซึ่งเป็นรากฐานของความเห็นผิดทั้งมวล เรากล้าพอที่จะเผชิญกับสิ่งที่สะสมมาที่รู้ว่า เราไม่ได้สร้าง  ไม่มีใครอยากมีโลภะเลย แต่โลภะเกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย

    นี่ต่างหากที่ต้องรู้ ไม่ใช่เราพยายามไปกีดไปกัน ไม่ให้โลภะโผล่โฉมหน้า แล้วเราก็ไม่รู้ตลอดไป ยับยั้งด้วยสมาธิจนกระทั่งถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ อุทกดาบสก็ประกาศว่าถึงแล้วซึ่งเวทย์ รู้แล้วทั้งหมด แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า นี่ไม่ถึง นี่ยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรเลย นี่เพียงแต่รู้จักกิเลสที่เกิด แต่กิเลสที่ไม่เกิดไม่รู้จัก กิเลสที่เป็นพืชเชื้อที่สะสมอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกิเลสที่ปรากฏ เขาไม่รู้ส่วนนี้

    เพราะฉะนั้นเรา อะไรก็เกิด โดยที่เราไม่อยากให้เกิด ใช่ไหมคะ โลภะ ใครอยาก โทสะ ใครอยาก พูดแต่สิ่งที่ดีเลิศทั้งนั้นเลย คือ ไม่ให้มีโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ  เดี๋ยวไปตรงนี้จะมี เดี๋ยวไปตรงนั้นจะมี ลืมไปว่า อยู่ก็มี เดี๋ยวนี้ก็มี แต่ว่าความเห็นของเราเป็นสิ่งแรกที่เราควรอบรมความรู้ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะเวลานี้ใครเกิดโลภะ ถ้าโลภะไม่เกิด ก็ไม่รู้ ใช่ไหมคะ ใครเกิดโทสะ ถ้าโทสะไม่เกิด ก็ไม่รู้ มีทั้งหมด แต่รู้เมื่อเกิด และปัญญาก็สามารถจะรู้อันนี้ค่ะ เพื่อที่จะดับเชื้อที่จะทำให้เกิด แต่ถ้าไม่รู้อันนี้ อันนี้ไม่ปรากฏ ไม่รู้ว่าไม่ใช่เราเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น เราไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าเลยที่จะให้อะไรเกิด แม้แต่โลภะขณะนี้ หรือโทสะขณะนี้ เราก็ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า เราเพียงคิดว่า เป็นเราเตรียม แต่สิ่งที่จะเกิดจริงๆ ไม่ใช่เพราะเราคิดจะเตรียม แต่เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะเกิด อย่างโลภะ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดก็เกิด

    สันติ  เห็นความต่างกันว่า การติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กับการติดในธรรม หรือคนที่เขาต้องการอยากให้กุศลจิตเกิด ความต้องการนั้นจะมีความแตกต่างอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์    เขาต้องรู้ว่า ความอยากเป็นสิ่งที่ต้องละ เวลาที่เขาอยาก เขาไม่รู้เลย ถึงแม้ตอนนี้เขาไม่อยากให้สิ่งนี้เกิด ประเดี๋ยวก็อยากเกิดอีกแล้ว เพราะว่ามันมี จะไม่ให้เกิดไม่ได้ จะกันอย่างไร

    สันติ  ก็ไม่ต่างกันนะครับว่า เวลาที่ความต้องการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กับความต้องการติดในกุศล ไม่อยากให้อกุศลเกิด

    ท่านอาจารย์    เราต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า อยากเป็นอยากเท่านั้น แต่ความเข้าใจเป็นความเข้าใจที่จะละความอยาก

    สันติ  ถ้าเกิดเป็นความเข้าใจตรงนี้ว่า ถ้าเขาไม่ต้องการอกุศล แต่ว่าต้องการกุศล ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริง ก็เหมือนกับการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าไม่ทรงห้ามใครเลย แต่ทรงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อยากคืออยาก ซึ่งต้องละ ตัวอยากนี่ต้องละ

    สันติ  คิดว่าถึงป้องกันอย่างไร ก็ต้องมีอกุศลแน่นอน แต่ถ้าเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม การที่จะมีการสังวร ระวัง เหล่านี้ก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้

    ท่านอาจารย์    ก็เป็นหน้าที่ของปัญญา สังขารขันธ์เรารู้เลย เว้นเจตสิก ๒ ดวง ที่เหลือเป็นสังขารขันธ์หมด หิริ โอตตัปปะ อะไรๆก็สังขารขันธ์ทั้งนั้น ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นวันไหนที่เราจะเข้าใจอย่างนี้ เพราะขณะนี้ที่กำลังคิดอย่างนี้ ก็เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แล้วเมื่อไรจะเป็นโลกของปรมัตถ์ที่แม้ขณะคิดอย่างนี้ ก็รู้ว่าเป็นธรรม  จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้นค่ะ

    โลภะติดในกุศลได้ไหมคะ


    หมายเลข 8376
    9 ก.ย. 2558