สมาธิที่มั่นคงมีประโยชน์


    สมาธิมีอุปการะ มีความมั่นคง คืออะไร เราอาจจะพูดได้ว่า สมาธิมั่นคง เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่ปัญญา แต่มั่นคงอย่างไร เพราะว่าลักษณะของสมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง เป็นเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็มีเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ แต่มั่นคงไหม มั่นคงพอหรือยัง มั่นคงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางใจ เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางเรื่องราวต่างๆ แต่ความมั่นคงก็คือว่า ขณะนั้นประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีทางที่สมาธิจะมั่นคงได้

    เวลาที่อกุศลเกิด เราใช้คำว่า “มีสมาธิ” แต่เราไม่ได้บอกว่า สมาธิอะไร ขณะที่ใจจดใจจ่ออ่านเขียน หรือทำอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกทวารทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกขณะไป ขณะนั้นมั่นคงหรือ เราอาจจะคิดว่าขณะนั้นมั่นคงพอสมควร เพราะว่าลักษณะของสมาธิปรากฏว่าตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งมากพอสมควรที่จะสังเกตได้ แต่ก็ยังไม่มั่นคงในความหมายที่ว่า เกื้อกูลแก่ปัญญา

    ที่ว่า “มั่นคง” ทีนี้ ต้องหมายความว่า เมื่อมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะสมาธิตั้งมั่นคงที่นั่น ขณะนี้ก็มีเห็น มีได้ยิน สติไม่เกิด สมาธิจะมั่นคงที่ไหน แต่ถ้าขณะนั้นสติสัมปชัญญะเกิด รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมากขึ้น ความมั่นคงของสมาธิก็ปรากฏ ปัญญาที่รู้ชัดก็ปรากฏลักษณะของสมาธิที่มั่นคงด้วยในขณะนั้น เพราะแนบแน่นอยู่ที่อารมณ์เดียว ทำให้ปัญญาสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นไม่เพียงแต่ชื่อ แล้วเราก็คิดเอง หรือคาดคะเน แต่ต้องเป็นการเข้าใจความหมายของแต่ละคำด้วย ที่ว่า สมาธิที่มั่นคงมีประโยชน์ต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าขณะนั้นเมื่อปัญญาสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ความมั่นคงที่สมาธิกำลังตั้งมั่นในอารมณ์นั้นก็มากขึ้น และปัญญาที่รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรม ก็ลองคิดถึงว่า ความมั่นคงของสมาธิจะแค่ไหน เพราะว่าขณะนั้นเกิดร่วมกับปัญญา


    หมายเลข 8337
    18 ก.พ. 2567