สมถะคืออะไร ๒


    ท่านอาจารย์ กุศลทุกประเภทสงบจากอกุศล รู้ว่าจิตเป็นอกุศลมาก เพราะฉะนั้นคนที่มีปัญญา ต้องมีปัญญาจึงสามารถอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องใช้คำว่า “ภาวนา” เพราะคำว่า “ภาวนา” ทีนี้ หมายความว่าอบรมให้เพิ่มขึ้น ให้มากขึ้น ให้เจริญขึ้น เพราะว่าทานก็นิดเดียว ศีลก็นิดเดียว แล้ววันหนึ่งก็ให้ทานไม่มาก ไม่บ่อย ศีลก็ไม่บ่อย เพราะฉะนั้นระหว่างที่ไม่มีทาน ศีล จิตจะไม่สงบเลย เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เพียงแค่นี้ที่เห็น ไม่รู้แล้วว่า อกุศลติดตามมาทันทีที่เห็นแล้ว ทันทีที่ได้ยินเสียง ไม่รู้เลยว่า อกุศลหรือกุศลติดตามมา ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเรายังไม่มีการรู้ว่าลักษณะใดเป็นกุศล ลักษณะใดเป็นอกุศล ความไม่รู้นั่นเองก็ทำให้เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น หลังลิ้มรส หลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตามด้วยอกุศล ผู้มีปัญญารู้ ผู้ไม่มีปัญญาบอกว่า ฉันไม่มีอกุศล วันหนึ่งๆ ฉันไม่มีอกุศลเลย จะมาว่าฉันมีอกุศลได้อย่างไร  ก็ไม่ได้ไปทำบาป ไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ ไม่ได้ไปเอาของของคนอื่น คนที่มีปัญญาจึงรู้ว่า ถ้าจิตตรึกนึกถึงสภาพของจิตที่สงบ ไม่ใช่เรื่องของกุศล ถ้าเวลาที่นึกถึงทาน บางครั้งเกิดความมานะ ความสำคัญตน เราสามารถให้ทานได้ถึงอย่างนี้ บางคนก็เกิดโลภะ ความติดข้องว่า ทานให้แล้วจะได้ไปเกิดบนสวรรค์  จะได้มีทรัพย์สมบัติมากๆ อย่างนั้นจิตไม่สงบเลย แต่ผู้มีปัญญาจะรู้ว่า สภาพของจิตที่สงบคืออย่างไร ขณะนั้นไม่มีนิวรณธรรมเลย ไม่มีกามฉันทะ พยาปาทใดๆ แล้วก็รู้ด้วยว่า อารมณ์ใดจะทำให้จิตเป็นกุศลเพิ่มขึ้นบ่อยๆ เพราะการคิดของเราถ้าคิดด้วยอกุศลจิต อกุศลจิตก็เพิ่มขึ้น ถ้าคิดด้วยกุศลจิต ความสงบก็เพิ่มขึ้น หรือกุศลก็เพิ่มขึ้น  อย่างคนที่มีเมตตา ไม่ใช่จะเจริญเมตตา แต่อบรมให้มีเมตตา ไม่ว่าจะเจอใคร ทันทีเลยค่ะ เมตตาเกิด ไม่ใช่มานั่งท่อง ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข ท่องแต่ว่าจิตขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า ใช่ไหมคะ นี่เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปัญญาก็สามารถเข้าใจได้ถูกต้องว่า ถ้าตรึกหรือนึกถึงอารมณ์ใดแล้วเป็นกุศลเพิ่มขึ้น สงบเพิ่มขึ้น อารมณ์นั้นเป็นสมถภาวนา หรือเป็นสมถกัมมัฏฐาน หรือเป็นอารมณ์ของสมถะ ซึ่งก่อนพุทธกาล จะไม่มีพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เพราะไม่มีการตรัสรู้  ไม่มีการระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาที่บางคนไม่รู้ นั่งท่องพุทโธ แต่เขาไม่สามารถมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ขณะที่นึกถึงคำว่า พุท กับคำว่า โธ จิตสงบหรือเปล่า เราก็ท่องอะไรก็ได้ คำไหนก็ได้ แต่ไม่มีปัญญาพอที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสงบไหม แต่ขณะที่เราฟังธรรม หรืออ่านพระธรรมแล้วมีความซาบซึ้งในพระปัญญาคุณ ในพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะรู้เลยว่า ขณะนั้นจิตของเราเกิดปีติ แล้วก็มีความสงบขณะที่กำลังเข้าใจธรรม เขาสามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นอริยสาวก สมถภาวนาของท่านเหล่านั้นจะเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นประเภทเหล่านี้ นี่คือการอบรมสมถภาวนา

    แต่สำหรับสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นกุศล เกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะ ที่สามารถระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะนั้นจะสงบไหม ที่กำลังรู้ลักษณะจริงๆ ประกอบด้วยปัญญาต่างระดับกับสมถภาวนา

    เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า มีข้อความที่กล่าวว่า มรรคมีองค์ ๘ พร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนา สำหรับวิตก ซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะกับสัมมาทิฏฐิ นั่นเป็นองค์ของวิปัสสนา นอกจากนั้นเป็นองค์ของสมถะ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ว่า สมถะ คือ สงบ เมื่อไร ถ้าเป็นอกุศล ไม่ต้องพูดกันเลย สงบไม่ได้ ใครก็ตามจะไปนั่งพูด พุทโธ พุทโธ อยู่ชั่วโมงหนึ่ง โดยที่ไม่มีสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิต จะบอกว่า กำลังทำสมถภาวนา เป็นไปไม่ได้ หรือว่าไปดูซากศพ แล้วก็คิดว่าตัวเองสงบ แต่ความจริงตกใจกลัว ขณะนั้นก็สงบไม่ได้เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจสภาพปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะศึกษาหรือพบข้อความใดๆในพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรม ให้สอดคล้องกันด้วย


    หมายเลข 8281
    8 ก.ย. 2558