ปัญญาจะเจริญก็ตรงนี้


    ศีลกันต์   ในตอนเช้า ได้ยินอาจารย์กล่าวว่า “ตามรู้” ไม่ใช่ให้เราไปตามรู้ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    รู้ตามสภาพธรรมที่มีปกติ ไม่ใช่ไปทำ

    ศีลกันต์   รู้ตาม หรือตามรู้

    ท่านอาจารย์    ได้ทั้งนั้นค่ะ

    ศีลกันต์   เหมือนกันหรือครับ ตามรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์    ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปทำอะไรขึ้น

    ศีลกันต์   จดจ้องได้ไหม

    ท่านอาจารย์    ทำไมต้องไปจดจ้อง

    ศีลกันต์   คือส่วนมากจะไม่ทัน

    ท่านอาจารย์    ก็เลยจดจ้อง นี่ก็ผิดแล้ว นี่สำคัญมากตรงนี้

    ศีลกันต์   จดจ้องนี่

    ท่านอาจารย์    ค่ะ เพราะว่าหนทางมี ๒ อย่าง ทางถูกกับทางผิด ถ้าเราไม่รู้ทางถูกจริงๆ เราไปทางผิดโดยตลอด เพราะฉะนั้นมรรคเป็นสภาพธรรมที่เห็นยาก เพราะลึกซึ้งว่า นี่คือสภาพธรรมที่มี ไม่ต้องทำอะไร รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีตามปกติ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มี กำลังปรากฏตามปกติ ถ้าผิดจากนี้ ทำไมต้องจดจ้อง

    ศีลกันต์   ระลึกรู้ ใช่ไหมครับ ถ้าจะใช้คำพูดที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์    ระลึกก็หมายความว่า ขณะนี้แข็งมีมาตลอดเวลาที่เรานั่ง แต่เมื่อไรกำลังรู้ตรงนั้น นั่นคือสติระลึก เมื่อกี้นี้รับประทานอาหาร เดี๋ยวนี้มานั่งที่นี่ ตรงไหนก็มีแข็ง แต่ว่าระลึกที่แข็งหรือเปล่า ขณะที่ไม่ระลึก คือ แข็งก็แข็งไป ไม่มีการเข้าใจในความเป็นธาตุแข็งซึ่งรู้ได้ทางกาย แล้วก็เกิดดับด้วย แต่เวลาที่มีการระลึก ก็เพราะเหตุว่ามีการเข้าใจที่ถูกต้องว่า สติปัฏฐาน คือ การระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปกติ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นทางกายทวารวิถีเกิดแน่นอน จึงได้มีการรู้แข็ง  แล้วเมื่อทางกายทวารวิถีดับแล้ว เป็นภวังค์แล้ว มโนทวารวิถีปกติจะเกิดสืบต่อ  แต่ว่าวาระหลังๆ จะเป็นบัญญัติเรื่องราว ใช่ไหมคะ แต่ตอนที่ไม่ใช่บัญญัติ ก็คือขณะที่กำลังค่อยๆรู้ลักษณะนั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติ คือ แทนที่จะเป็นบัญญัติ ก็เป็นกำลังค่อยๆเข้าใจลักษณะนั้น

    ศีลกันต์   ที่อาจารย์กล่าวว่า “รู้ยาก” หมายความว่า แข็งปรากฏ นี่เราไม่รู้ ใช่ไหมครับ ลักษณะนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์    เราไม่รู้หนทางด้วยว่า นี่คือทางที่ปัญญาจะเจริญ ปัญญาจะเจริญก็ตรงนี้แหละค่ะ ไม่ใช่ตรงอื่น ตรงเห็น ตรงได้ยิน ตรงได้กลิ่น ตรงลิ้มรส ตรงรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตรงคิดนึก ทั้งหมดมีอยู่ ๖ ทางในชีวิตประจำวัน ถ้าปัญญาจะรู้ ก็คือรู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ ๖ ทาง จะไปรู้อื่น นี่ไม่มีทางเลย

    ศีลกันต์   ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็หมายความว่า ไม่มีปัญญา

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่ปัญญา ถ้าปัญญารู้ ก็รู้สิ่งที่ปรากฏนี่แหละ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น

    ศีลกันต์   และรู้อย่างอื่นที่ไม่ใช่ปัญญา รู้อะไรครับ

    ท่านอาจารย์    บัญญัติ เรื่องราว คิดนึกขั้นปริยัติ

    ศีลกันต์   อย่างแข็งนี่ก็เป็นเรื่องราวไปเลย ถูกต้องไหมครับ

    ท่านอาจารย์    ค่ะ ก็ไม่มีการรู้ว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่งนี่คะ คุณศีลกันต์กำลังกระทบอะไรคะ

    ศีลกันต์   แข็งแล้วก็เมื่อย

    ท่านอาจารย์    แล้วกำลังจับอะไร

    ศีลกันต์   จับไมค์

    ท่านอาจารย์    เห็นไหมคะ ก็เป็นไมโครโฟนไปแล้ว

    ศีลกันต์   แล้วเราจะระลึกอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่เรา เมื่อไรสติเกิด

    ศีลกันต์   ไม่ใช่เรา หมายความว่าปัญญา

    ท่านอาจารย์    ยังไม่ถึงปัญญาที่จะรู้แจ้งชัด เพราะว่าจะต้องอบรมด้วยสติปัฏฐานจนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณ  วิปัสสนาญาณ คือ ความแจ้งชัด ประจักษ์แจ้ง ต้องมาจากการค่อยๆระลึกไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น ถ้าสติรู้ ก็หมายความว่าขณะนั้นมีการระลึกตรงแข็ง ไม่ใช่ระลึกตรงอื่น เพราะว่าแข็งมีให้รู้ว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นธรรมไปหมด ๖ ทาง ตัวเราจะไม่มี แต่พอไม่ ๖ ทาง ก็จะมีตัวเราอยู่ตรงนั้นบ้าง อยู่ตรงนี้บ้าง  อยู่ตรงโน้นบ้าง กำลังแข็งๆนี่ก็นึก กำลังแข็งๆ ก็จดจ้อง กำลังแข็งๆ ก็ทำอย่างไรปัญญาจะเกิด ก็สารพัด

    ศีลกันต์   ที่ปัญญาระลึกรู้ทางทวารใดทวารหนึ่งนั้น ก็เป็นเรื่องของปัญญา

    ท่านอาจารย์    เรื่องของสภาพธรรมที่อาศัยการฟังเข้าใจ ถึงได้เกิดระลึกได้ค่ะ ไม่มีใครที่จะเกิดระลึกขึ้นมาโดยไม่อาศัยการฟังเข้าใจเลย  ไปฟังวันแรก สภาพปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มี ๓ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป แค่นี้สติจะระลึกไหม แต่ฟังแล้วฟังอีก เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ วันหนึ่งก็มีการระลึก ก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอนัตตา ไม่มีเราที่ต้องไปทำอะไรเลย เพราะสติเกิดจึงระลึก ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่ระลึก


    หมายเลข 8250
    7 ก.ย. 2558