มหาภูตรูป ๔ - ๑
ผู้ฟัง มีคำถามข้างหลังที่ทบทวน ท่านอาจารย์ตั้งคำถามว่า ขันธ์อะไรไม่ใช่ปรมัตถธรรม ดิฉันก็นึกว่า นิพพานก็ไม่ใช่ขันธ์ แต่นิพพานก็เป็นปรมัตถธรรม ดิฉันก็เลยงง ไม่ทราบว่าคำตอบที่ถูกคืออะไร
ท่านอาจารย์ คำตอบที่ถูก คือ ไม่มี
ผู้ฟัง ไม่กล้าที่จะตอบว่า ไมมี
ท่านอาจารย์ การศึกษานี่ต้องกล้าพอที่จะตัดสินใจ เป็นเครื่องทดสอบเหตุผลว่า คนนั้นมีความมั่นใจในเหตุผลจริงๆ หรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง มั่นใจในเหตุผล ต้องตอบตามความเป็นจริง
บุษบง ดิฉันคิดว่า เรื่องรูปเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะว่าเรามองเห็น และอยู่กับเราตลอดเวลา อย่างจิตนี่มองไม่เห็น เดาเอาบ้าง แต่รูปอยู่กับเรา ทุกคนก็มองเห็น มองไม่เห็นตัวเองก็เห็นของคนอื่น รูปจะเกิดจากเหตุปัจจัย ๔ อย่าง คือ กรรม อุตุ จิต อาหาร
คำว่า “อาหาร” กับ “โอชา” จะมีความหมายเหมือนกันไหมคะ
ท่านอาจารย์ เหมือนค่ะ แต่บางคนที่ไม่ได้ศึกษา อาจจะคิดว่าอาหารที่มองเห็นตามร้าน ที่อยู่ตรงหน้าเราที่จะรับประทาน
ผู้ฟัง อย่างรส หมายความว่าจะต้องมากระทบ หรือจะคำว่า “ผัสสะ” ที่ลิ้น แล้วจะแยกเป็นรสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยว อันนี้คือรส แต่โอชา คือ สิ่งที่เลี้ยงร่างกายทั้ง ๒๘ รูป อยู่ได้เพราะอาหาร ก็จะเห็นว่า “รส” กับ “อาหาร” ต่างกันอย่างไร อธิบายอย่างนี้ได้ไหมคะ
ท่านอาจารย์ คือว่าเวลานี้เราจะพูดถึงรูป เพราะเหตุว่ารูปมีจริง แล้วเริ่มด้วยมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะอยู่ที่ตัวเราแท้ๆ แต่เราไม่เคยรู้ความละเอียดของรูปเลย แต่เดี๋ยวนี้ให้ทราบว่า ใครจะเรียกว่า “เลือด” ใครจะเรียกว่า “เนื้อ” ใครจะเรียกว่า “ปอด” ใครจะเรียกว่า “กระดูก” ก็ตาม แต่รูปใหญ่ๆ รูปจริงๆ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน ที่ใช้คำว่า “มหาภูต” มี ๔ อย่าง ที่เราใช้คำว่า ธาตุทั้ง ๔ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ ธาตุดินก็ไม่ใช่ดินที่ปลูกต้นไม้ แต่หมายความถึงสภาพธรรมใดก็ตามที่มีลักษณะแข็งหรืออ่อน นั่นคือลักษณะของธาตุดิน
เพราะฉะนั้นในห้องนี้มีธาตุดินไหมคะ มีดินไหม มี แล้วก็เป็นธาตุด้วย เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นรูปธรรม อะไรก็ตามที่แข็ง ที่สามารถกระทบสัมผัสได้ นั่นคือธาตุดิน เพราะฉะนั้นที่ตัวเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า กระทบสัมผัสจริงๆ ไม่ต่างกับวัตถุอื่นเลย ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา กระทบทีไรก็คืออ่อนหรือแข็ง ถ้ากระทบหมอน กระทบเก้าอี้ก็คืออ่อน และแข็ง
เพราะฉะนั้นลักษณะของธาตุชนิดนี้ก็คืออ่อนหรือแข็ง แล้วก็เปลี่ยนลักษณะของธาตุนี้ไม่ได้ด้วย แล้วไม่มีใครเป็นเจ้าของธาตุนี้ด้วย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และปัจจัยที่ให้เกิดธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็คือ กรรม ๑ จิต ๑ อุตุ คือ ความเย็น ความร้อน ๑ อาหาร ๑