ความหมายของวิญญาณ


    บุษบง เมื่อกี้เราได้กล่าวคำว่า “อโหสิกรรม”  และ “ปัญญา” ทางโลกก็เข้าใจกันไปอีกทางหนึ่ง ก็จะมีอีกคำหนึ่งที่ดิฉันคิดว่า คำนี้ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ทำให้เข้าใจผิด แปลกไป คือ คำว่า “วิญญาณ” โดยทั่วๆไปก่อนจะมาฟังธรรมของท่านอาจารย์ ก็เข้าใจว่า พอตายไป วิญญาณก็ล่องลอยไป ออกไป ก็ไม่รู้ว่า ไปอยู่ที่ไหน แต่เมื่อมาฟังท่านอาจารย์แล้ว วิญญาณจะเกิดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คือ ทั้ง ๖ ทาง จะเกิดในแต่ละขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก อันนี้จะพอถูกต้องบ้างไหมคะ

    ท่านอาจารย์    ค่ะ ถูกต้องค่ะ เพราะเหตุว่าอย่างที่ว่า เราเข้าใจธรรมหรือคำที่ใช้กันเอาเอง โดยที่ไม่ได้ศึกษาก็เข้าใจผิด อย่าง “วิญญาณ” ก็คิดว่าต้องออกจากร่างเวลาตาย แต่เขาไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว จะเรียก “วิญญาณ” หรือจะเรียกว่า “จิต” ความหมายอันเดียวกัน คือ เป็น.สภาพรู้ เป็นธาตุรู้

    บุษบง ทีนี้ถ้าพูดให้ละเอียดขึ้น ทางตา เวลาเห็น ต้องเป็นจักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ หมายความจิตรู้โดยอาศัยตา ถ้าไม่มีตาแล้วเห็นไม่ได้ เป็นจิตก็จริง กำลังนอนหลับไม่เห็น เป็นจิตก็จริง กำลังคิดนึกไม่เห็น  เพราะฉะนั้นเป็นจิตอีกชนิดหนึ่งซึ่งต้องอาศัยตา จึงจะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ชื่อว่า “จักขุวิญญาณ” ถ้าทางหู ก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่งซึ่งต้องอาศัยโสตปสาท จึงเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะเหตุว่าถ้าโสตปสาทไม่มี จิตได้ยินเสียงก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยของจิตที่จะเกิดขึ้นแต่ละขณะ ต้องอาศัยสภาพที่เป็นปัจจัยเฉพาะของจิตนั้นๆ

    บุษบง เพราะฉะนั้นความหมายของวิญญาณก็กระจ่างแจ้งขึ้น

    พอมาถึงกายปสาท หมายถึงปสาททั้งร่างกายจะมีอยู่ทั่วตัว ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ซึมซาบอยู่ทั่วตัวค่ะ

    บุษบง ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย

    ท่านอาจารย์ เว้นส่วนที่ไม่สามารถรับกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ อย่างเวลาที่ชา หรือปลายผม ปลายเล็บ ไม่มีกายปสาท ส่วนใดที่ไม่มีกายปสาท ส่วนนั้นก็ไม่กระทบกับสิ่งที่กระทบกาย

    บุษบง อย่างฉีดยา เข็มมาถูกที่กาย นั่นแหละคือกระทบกายปสาท และขณะนั้นก็มีวิญญาณเกิดขึ้นด้วยใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงวิญญาณ คือ จิต ไม่เคยขาดไปเลยสักขณะเดียว ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วแต่ว่าจิตขณะไหนทำกิจอะไร ทำหน้าที่อะไร อย่างกำลังนอนหลับสนิท จิตก็ทำกิจภวังค์ ภวังค์ก็คือดำรงภพชาติ ยังไม่ให้ตาย ต้องตื่นอีก เห็นอีก ได้ยินอีก

    เพราะฉะนั้นตอนที่ตื่นกับตอนที่หลับ ก็ต่างกันโดยกิจ  แต่ต้องเป็นจิตที่เกิดดับสืบต่อและทำหน้าที่ต่างๆกัน

    บุษบง ถ้าพูดถึงภวังคจิต ขณะที่เกิดจะมีลักษณะอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นอนหลับสนิทเลย เป็นใคร อยู่ที่ไหน ก็ไม่รู้ ใช่ไหมคะ


    หมายเลข 8156
    7 ก.ย. 2558