เราอยู่ในโลกของความคิด ๒


    ถ้าฟังสิ่งที่ถูกต้อง ปัญญารู้ถูกต้อง นั่นคือปัญญา ความรู้ถูกต้องเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อนั้นคือปัญญา และต้องเจริญขึ้นมากกว่านี้มากมาย ถึงจะรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน และทั้งหมดนี้มีในพระไตรปิฎก  เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ความจริง และทุกคนพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย มีตา ไม่ใช่เห็นชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนเป็นใครก็ไม่ทราบ ก็เห็นอย่างนี้แหละ และก็สุขทุกข์ไปตามเรื่องของชาติก่อน และอีกไม่นานเราก็จะจากโลกนี้ แต่เราก็จะเห็นอีก แล้วเราก็เปลี่ยนสุขเปลี่ยนทุกข์ใหม่ ตามเรื่องใหม่ที่เราเห็น

    เพราะฉะนั้นเราก็อยู่ในโลกของความคิดถึงสิ่งที่กระทบตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง

    นี่เป็นปัญญาหรือยังคะ ที่เข้าใจ ไม่ใช่เราเลย เป็นปัญญา ขณะที่เข้าใจก็เป็นปัญญา พอหลงลืมสติ ไม่ระลึกให้ถูกต้อง ไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็หายไปอีกแล้ว ปัญญาก็หมดไป

    นี่คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    เข้าใจเรื่องที่ต้องเจริญขึ้นแล้วใช่ไหมคะว่า นิดเดียวแค่นี้ไม่พอ ถ้าเข้าใจแล้วเอาอะไรมาแลกกับปัญญาก็ไม่เอา จะให้กลับเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลย ก็คงไม่เอา ใช่ไหมคะ

    ที่จริงก็คงไม่ยากเกินไปนะคะ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีปรากฏ เพียงแต่ว่าเราไม่เคยฟัง เราก็เลยไม่เคยคิดในแนวของธรรม เราก็ไปคิดเอาเอง เป็นตัวตน เป็นเรื่องราว ตลอดไปตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ทั้งๆที่เรื่องราวต่างๆ ไม่มีเลย ก็คิดเอา พอถึงชาติหน้าก็ลืมหมด เสียเวลา จริงๆแล้วก็ไม่ต้องคอยจนถึงชาติหน้า เพียงแค่คืนนี้ เดี๋ยวเราก็ลืมหมด วันนี้เรามานั่งที่นี่ ฟังอะไร ตอนที่เราหลับสนิท เราเป็นใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ก็หมดเลย พอตื่นมาก็ต่อเรื่องเก่า คือจำไว้ ตราบใดที่ยังเป็นคนนี้ก็จำเรื่องของโลกนี้ พอเป็นคนใหม่ ชาติหน้าเราก็ลืมเรื่องนี้สนิท ใครจะมาบอกอะไร เราก็ไม่มีทางที่จะจำได้

    คนที่เราจากเขามาจากโลกก่อน ป่านนี้เขาก็อาจจะยังคิดถึงเรา ร้องไห้ เป็นลูก เป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย แต่เราก็ไม่รู้ ไปเห็นเขากำลังนั่งร้องไห้คิดถึงใคร เราก็ไม่รู้อีกว่า อาจจะเป็นเราก็ได้ จำไม่ได้เลย หมด แล้วคืนนี้ก็คืออย่างนี้ ทุกคืนๆ

    เพราะฉะนั้นก่อนที่จะต้องทุกข์ไป สุขไปในวันหนึ่งๆ ชั่วระหว่างที่ยังไม่หลับ ก็ให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว เดี๋ยวก็ลืมหมด

    เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรสำคัญมากมายที่เราจะต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน สิ่งที่สำคัญ คือ การอบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง  ไม่ถูกใครหลอก เอาสิ่งที่ไม่จริงมาบอกว่าจริง ซึ่งในพระธรรมได้อุปมาไว้ไพเราะมากว่า

    คนตาบอดแสวงหาผ้าขาว ก็มีคนหนึ่งที่เอาผ้าดำไปให้เขา แล้วบอกว่า ผ้าขาว คนตาบอดนั้นก็แสนจะดีใจ คิดว่าตัวได้ผ้าขาว ความจริงก็เป็นผ้าดำ

    เพราะฉะนั้นคำสอนที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง แล้วเราหลงเชื่อ เราก็คิดว่า สิ่งที่เราเชื่อเป็นความถูกต้อง หรือว่าเป็นพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ต่อเมื่อใดที่เราตาดี เราก็รู้ว่า นี่ผ้าดำ ไม่ใช่ผ้าขาว ใช่ไหมคะ เราก็รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่ถูก แต่ต้องอาศัยการฟัง เพราะว่าคำว่า “สาวก” คือ ผู้ฟัง สาวโก คือ ผู้ฟัง ถ้าไม่ฟัง ไม่มีทางที่เราจะคิดเองได้


    หมายเลข 7993
    6 ก.ย. 2558