ภวังค์ กับ ที่เกิด เป็นคนละอย่างกันใช่หรือไม่


    ผู้ฟัง ทวาร กับ ที่เกิด คนละอย่างกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าเมื่อกล่าวถึงคำใด หมายความว่าอย่างไร เช่น ถ้าได้ยินคำว่า “ภวังค์” หมายความว่ากล่าวถึงกิจหรือหน้าที่ของจิต เพราะว่าจิตทุกชนิดที่เกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่งกิจใด เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า “ปฏิสนธิเป็นกิจของจิต” ถ้าได้ยินคำว่า “ภวังค์เป็นกิจของจิต” แต่ยังไม่ได้กล่าวว่าจิตใดทำกิจนั้น และก็จิตกี่ประเภทที่สามารถจะทำกิจนั้นได้ เช่น ปฏิสนธิจิตหรือปฏิสนธิกิจมีกี่ประเภทที่เป็นผลของอกุศล กรรมคืออกุศลวิบากก็ทำปฏิสนธิกิจได้ ทำกิจอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้แสดงว่าบรรดาวิบากทั้งหลายแต่ละประเภททำกิจอะไรได้บ้าง จิตที่ทำกิจปฏิสนธิจะทำกิจเห็นไม่ได้ ทำกิจได้ยินไม่ได้แม้ว่าเป็นวิบาก ก็จะได้เห็นว่าจิตที่เป็นวิบากทำกิจปฏิสนธิได้แก่จิตอะไรบ้าง และจิตเห็นแม้ว่าจะเป็นวิบากก็จริง แต่จะทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ ทำได้เฉพาะกิจเห็นเท่านั้น เวลาที่กล่าวถึงคำต้องรู้ว่ากล่าวโดยกิจหรือไม่ ถ้ากล่าวถึงภวังค์กล่าวโดยกิจ ถ้ากล่าวถึงจิตเห็น ภาษาบาลีจะใช้คำว่า “ทัสสนกิจ” ทำกิจเห็น

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าที่เกิดของจิต

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าถึงเฉพาะรูปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะว่าจิตจะเกิดโดยที่ไม่เกิดที่รูปนั้นไม่ได้เลย ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตทุกประเภทจะต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดใน ๖ รูป รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตมี ๖ รูป จักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจิตเห็นคือจักขุวิญญาณ โสตปสาทรูปเป็นที่เกิดของจิตได้ยินคือโสตวิญญาณ ฆานปสาทรูปเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณคือจิตได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณก็เกิดที่ชิวหาปสาทรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตที่ลิ้มรส กายวิญญาณก็เกิดที่กายปสาทรูป ต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็มีจิตมากกว่านี้อีก จิตอื่นนอกจากนี้ทั้งหมดเกิดที่หทยวัตถุ ซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอื่นนอกจากจิต ๑๐ ดวง

    ผู้ฟัง จะกล่าวได้ไหมว่า ทางปัญจทวาร ถ้าเป็นจักขุวิญญาณจิต ก็จะมีจักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิต และเป็นทวารด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำว่า “ทวาร” เป็นความหมายหนึ่ง เวลาที่ใช้คำว่า “วัตถุ” เป็นอีกความหมายหนึ่ง และได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร การศึกษาปรมัตถธรรมก็เป็นการที่เราจะได้ทราบถึงความจริงที่ว่า จิตจะเกิดสลับที่ไม่ได้ จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุคือเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ เป็นจักขุทวาร แต่เวลาที่ใช้คำว่า “จักขุทวาร” ไม่ได้หมายความถึงที่เกิดของจิต แต่หมายความว่าเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตาที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เฉพาะแต่จักขุวิญญาณเท่านั้นที่รู้อารมณ์ทางตาที่ยังไม่ดับ เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็อาศัยจักขุปสาทเป็นทวารที่จะรู้รูปที่กระทบจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ จักขุปสาทเป็นรูป ทวาร ๖ เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑ วัตถุ ๖ เป็นรูปทั้ง ๖ ต้องเป็นรูปเท่านั้น

    ถามว่า ขณะนี้สามารถจะรู้ได้อย่างนั้นไหมว่ากำลังมีจิตเกิดที่รูปไหน

    ผู้ฟัง ไม่สามารถจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ แต่สามารถจะรู้ได้ว่า เวลาที่จิตเห็นเกิดขึ้นต้องเกิดที่จักขุปสาทรูปเป็นจักขุวัตถุ

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่เกิดขณะเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้บอกไว้ว่าเกิดขณะเดียวกัน และเกิดพร้อมกันก็ไม่ได้ด้วยเพราะว่ารูปซึ่งจะเป็นที่เกิดของจิต และเป็นปัจจัยให้จิตเกิดต้องเป็นในฐิติขณะคือรูปนั้นต้องเกิดก่อน ยิ่งเรียนจะยิ่งเพิ่มขยายกระจายออกไปเยอะ แต่พื้นฐานก็คือว่ามีความเข้าใจชัดเจน ไม่สงสัย ไม่คลาดเคลื่อนในคำที่เราได้ยินได้ฟังจนมั่นคง

    ผู้ฟัง ครั้งแรกคิดว่าเกิดพร้อมกันจึงมาเปรียบกับทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม จะเห็นได้ว่า คิดเองไม่ได้ ไม่ได้เลย เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เพราะฉะนั้นสาวกคือผู้ที่ฟัง และพิจารณาให้เข้าใจตามที่ทรงตรัสรู้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะคิดเอง

    ผู้ฟัง ภวังคุปัจเฉทะคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวารเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ แต่ไม่ใช่ทวารเมื่อปัญจทวาราวัชนนจิตเกิด

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 107


    หมายเลข 7767
    22 ม.ค. 2567