อรรถกถาแสดงขัดแย้งกับพระไตรปิฎกหรือไม่


    ถาม   ผมสงสัยในอรรถกถา อ่านแล้ว บางทีก็คิดว่า จะไปขัดกับพุทธพจน์หรือไม่ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผลของกุศลกรรมนี้จะต้องให้ผลเป็นสุข แต่ในอรรถกถา สารัตถปกาสินี มีข้อความตอนหนึ่งบอกว่า พวกมิจฉาทิฏฐิเห็นโบสถ์ก็ดี เห็นพระเจดีย์ก็ดี แล้วไม่ชอบ ปิดตา แสดงความไม่พอใจ แต่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่ว่าจิตที่เห็นก็เป็นกุศลวิบาก กุศลวิบากนี้ทำให้ท่านไม่ชอบ ต้องปิดตา แสดงว่าไม่เป็นสุขนี่ครับ เพราะฉะนั้นอรรถกถาบทนี้จะขัดกับพุทธพจน์หรือไม่ครับ

    ส.   ยาวไปหลายเรื่อง แล้วก็ปนรวมกันหลายทวาร การที่จะเข้าใจสภาพลักษณะสภาพธรรมได้ต้องช้าๆหน่อยไงคะ แล้วก็ทีละทวารจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องของทวารตา คือ จักขุทวาร ก็อย่าเพิ่งผ่านไปจนกระทั่งถึงมโนทวาร มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่เข้าใจลักษณะของจักขุทวาร เพราะเหตุว่ารวมผสมปนกับทางมโนทวารแล้ว เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องทวารก็มีประโยชน์ที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้สามารถประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปได้ แต่ต้องมีความเข้าใจถูก  แม้แต่สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ไมใช่ทางใจ ต่างกันอย่างไร สภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่ทางใจ ต่างกันอย่างไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรม คือ นามธรรม จิตและเจตสิก เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่ดูเหมือนนั่งอยู่อย่างนี้ แล้วก็เห็นด้วย ได้ยินด้วย แต่ละทวารที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็สืบต่อกับทางใจ จนกระทั่งไม่สามารถรู้ลักษณะแท้ๆของจิตที่เกิดขึ้นทางจักขุทวาร เห็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับทางใจเลย ยังไม่ถึงทางใจ แต่ว่าปกติธรรมดา เวลาที่จักขุทวาร คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางจักขุทวาร ดับหมดไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ คั่น แล้วมโนทวาร คือ จิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากทางจักขุทวาร แต่ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร สืบต่อจากทางจักขุทวาร เป็นไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน จนไม่สามารถจะรู้ความต่างกันของจักขุทวารและมโนทวาร โสตทวารและมโนทวาร ชิวหาทวารและมโนทวาร ฆานทวารและมโนทวาร กายทวารและมโนทวารได้ จึงอยู่ในโลกของสมมติสัจจะเรื่อยมา ทั้งๆที่ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นของแท้แน่นอน เพราะเหตุว่ากำลังปรากฏ จะเปลี่ยนสภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ก็ยังไม่รู้ความจริงของเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าทางใจเกิดขึ้นสืบต่อรับรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา แล้วก็จดจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จนลืมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ สติปัฏฐานไม่ใช่ไปรู้ลม แล้วเห็นสิ่งต่างๆที่ผิดจากปกติในขณะนี้ แต่ว่าสติปัฏฐานคือ เมื่อไม่รู้ เพราะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั่นคือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา สติปัฏฐาน คือ ระลึกได้ ที่จะพิจารณาว่า สภาพธรรมทางตากำลังปรากฏ เป็นของจริงอย่างหนึ่ง จนกว่าจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เมื่อนั้นจึงชื่อว่า รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน 

    แล้วทางตาเปรียบเหมือนสมุทร กว้างใหญ่จริงๆ ไม่เต็ม สามารถจะเห็นถึงพระจันทร์ พระอาทิตย์ ดาวต่างๆ ซึ่งอยู่แสนไกล ถ้ามองไปก็กระทบกับจักขุปสาท แล้วก็ปรากฏได้ เพราะฉะนั้นจึงทำให้ดูเหมือนว่า เป็นโลกซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุ จักรวาล สัตว์ บุคคลต่างๆ เต็มไปหมด แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว นั่นคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีจริง แล้วสมมติเป็นสัตว์บ้าง เป็นบุคคลต่างๆ เป็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นดาวต่างๆ แต่ถ้ากระทบสัมผัสทางกาย สิ่งที่ปรากฏ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว


    หมายเลข 7549
    21 ส.ค. 2558