สติเกิดขึ้นจะพิจารณารูปารมณ์ให้ชัดอย่างไร


    ผู้ฟัง    แล้วอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการปฏิบัติ เมื่อกี้อาจารย์กล่าวว่า เห็นช้อน เห็นส้อม เห็นถ้วย เห็นจาน ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็เห็นเป็นช้อน เป็นถ้วย เป็นจาน แต่ว่าขณะที่มีสติ จะเห็นว่าเป็นรูปารมณ์ เป็นสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏได้ทางตานี้   ปรากฏไม่ใช่รูปารมณ์ แต่ปรากฏเป็นช้อน เป็นส้อม ทั้งๆที่สติเกิดขึ้น เห็นก็รู้ว่า นั่นเป็นช้อน นั่นเป็นส้อม ทีนี้ในเมื่อสติเกิดขึ้น รูปารมณ์ที่ปรากฏ แต่ว่ารู้ไม่ชัด จะพิจารณาอย่างไรครับ

    ส.   ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ หนทางเดียวค่ะ ท่านผู้ฟังไม่ต้องการเหตุเลยนะคะ ต้องการผลค่ะ ว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ แต่พอบอกว่าระลึกบ่อยๆ เนืองๆ รู้สึกว่าไม่ต้องการ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง    ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ ก็ระลึกมามากแล้ว

    ส.   ค่ะ เพราะไม่ต้องการจะระลึกอีกต่อไป เพราะว่ามากแล้ว เพราะฉะนั้นต้องการรู้เหมือนกับต้องการตกน้ำ แล้วว่ายเป็นทันที ไม่ต้องหัด

    ผู้ฟัง    เรื่องนี้ที่ท่านอาจารย์ว่า ตกน้ำว่ายเป็นทันทีก็มี มีตัวอย่าง

    ส.   เป็นสิ่งที่เป็นไปได้นะคะ แม้แต่เพียงฟังคาถาสั้นๆ ก็ยังประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบ้าง เช่น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ  ท่านพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือบางท่านก็สามารถที่จะเป็นถึงพระอรหันต์ได้โดยรวดเร็ว เป็นเอตทัคคะในการรู้แจ้งโดยพลัน เช่น ท่านพระพาหิยทารุจิริยะ แต่ไม่ได้หมายความว่า โดยไม่มีเหตุที่สะสมมา

    เพราะฉะนั้นอยากจะรู้ แต่เบื่อตอนที่จะต้องระลึกบ่อยๆเนืองๆ แล้วไม่รู้สักที เมื่อยังไม่รู้ ก็ยังไม่รู้ค่ะ จะให้ขณะที่ยังไม่รู้เป็นความรู้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอดทน วิริยะอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญวิริยารัมภกถา คำพูดที่จะให้เกิดวิริยะ ความเพียร ไม่ใช่ให้ไปเพียรทำอย่างอื่นเลย เพียรระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ แล้วยังไม่รู้ ให้ค่อยๆรู้ขึ้นๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆได้ ซึ่งถ้าไม่อาศัยการค่อยๆระลึก ค่อยๆรู้ แล้วจะประจักษ์แจ้ง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการประจักษ์แจ้งต้องมาจากเหตุ คือ การอดทนที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ จนกว่าความรู้จะเกิดขึ้น


    หมายเลข 7435
    21 ส.ค. 2558