มหัคคตะ


    ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ได้อธิบายความหมายของคำว่า “มหัคคต” ซึ่งมีข้อความว่า

    ชื่อว่า “มหัคคต” เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เพราะมีผลไพบูลย์

    กิเลสเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะข่มได้โดยง่าย เพราะเหตุว่าเวลาที่เห็นก็เกิดความพอใจไม่พอใจทันที แต่ในขณะที่จิตเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิต ขณะนั้นจะเป็นขณะที่แนบแน่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบทางมโนทวาร ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้นถ้าฌานจิตเกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าไรก็ตาม อาจจะเป็น ๕ นาที ๑๐ นาที ชั่วโมงหนึ่ง ๒ ชั่วโมง หรือ ๒ วัน ขณะที่เป็นฌานจิต ภวังคจิตจะไม่เกิดคั่นเลย ไม่เหมือนกับเวลาที่เป็นกามาวจรจิต ซึ่งเป็นขณะที่เล็กน้อยและสั้นมาก ซึ่งใช้คำว่า “ปริตตะ” “ปริตธรรม” เพราะเหตุว่าเห็นนิดหนึ่ง แล้วก็ได้ยิน ได้ยินนิดหนึ่ง แล้วก็เห็น หรือว่าแล้วก็คิดนึก เพราะฉะนั้นเป็นชั่วขณะที่สั้นจริงๆ เวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้นเห็น เมื่อรูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป ภวังคจิตต้องเกิดทันที ก่อนที่มโนทวารวิถีจิตจะรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากทางปัญจทวารวิถี

    เพราะฉะนั้นก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏชั่วขณะที่เล็กน้อยและสั้นมาก เพราะว่าเดี๋ยวก็เห็นทางตา เดี๋ยวก็ได้ยินทางหู ประเดี๋ยวก็ได้กลิ่น ประเดี๋ยวก็ลิ้มรสที่ปรากฏ ประเดี๋ยวก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ประเดี๋ยวก็คิดนึก ในขณะเหล่านี้เองเป็นขณะสั้นๆ เพราะท่านผู้ฟังไม่เพียงแต่เห็น คิดด้วย คนละวิถีจิต แล้วก็ได้ยินอีก แล้วก็คิดอีก เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และจิตซึ่งรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นปริตธรรม

    เพราะฉะนั้น คำว่า “ปริตธรรม” นี้ เป็นชื่อแห่งธรรมฝ่ายกามาวจร แต่สำหรับ “มหัคคตะ ซึ่งได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต เป็นมหัคคตะ เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้

    เวลาที่อัปปนาสมาธิเกิด เป็นฌานจิต ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จึงชื่อว่า สามารถข่มกิเลส แต่ถ้าฌานจิตดับแล้ว กามาวจรจิตเกิด หลังจากเห็นแล้ว อกุศลเกิดทันที ถ้าไม่ใช่กุศล

    เพราะฉะนั้นกามาวจรจิตข่มกิเลสไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อกิเลสยังไม่ได้ดับ เวลาเห็นแล้ว กิเลสก็เกิด  เวลาได้ยินแล้ว กิเลสก็เกิด เวลาได้กลิ่นแล้ว กิเลสก็เกิด เวลาลิ้มรสแล้ว กิเลสก็เกิด เวลาที่กระทบสัมผัสแล้ว กิเลสก็เกิด มีใครรู้บ้างไหมคะว่า กิเลสเกิดอยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ข่มและไม่ได้อบรมเจริญหนทางที่จะดับ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด โดยไม่รู้ตัวเลยค่ะว่า เป็นวิสัยของกิเลส ซึ่งเมื่อยังไม่ได้ดับ ก็จะเกิดต่อจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นโทษของกิเลสซึ่งเกิดต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ว่าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้พยายามหาทางที่จะข่มกิเลส แล้วก็รู้ว่าทางเดียวที่จะข่มได้ คือ ต้องไม่เห็น ต้องไม่ได้ยิน ต้องไม่ได้กลิ่น ต้องไม่ลิ้มรส ต้องไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่าถ้าเห็น รู้ได้เลยว่า กั้นกิเลสไม่ได้ ต้องรู้อย่างนี้จึงจะอบรมเจริญถึงอัปปนาสมาธิ เพื่อที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และต้องเป็นผู้ที่รู้ด้วยว่า ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เพราะเหตุว่าเมื่อฌานจิตไม่เกิด เมื่อเห็น กิเลสก็เกิด เมื่อได้ยิน กิเลสก็เกิด

    ด้วยเหตุนี้ชั่วขณะที่รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต ขณะนั้นเป็นสภาวะอันใหญ่ ชื่อว่า “มหัคคตะ” เพราะสามารถข่มกิเลสได้ โดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เหมือนพระอนาคามีบุคคล ซึ่งเห็น แต่ดับความยินดีพอใจในรูป ได้ยิน แต่ดับความยินดีพอใจในเสียง ได้กลิ่น แต่ดับความยินดีพอใจในกลิ่น  ลิ้มรส แต่ดับความยินดีพอใจในรส กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ดับความยินดีพอใจในเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นจิตจึงต่างกันเป็นระดับขั้น

    สำหรับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต มี ๓ ชาติ คือ เป็นชาติกุศลประเภทหนึ่ง เป็นชาติวิบากประเภทหนึ่ง เป็นชาติกิริยาประเภทหนึ่ง


    หมายเลข 7270
    20 ส.ค. 2558