การรู้อายตนะ ๑๒ กับการอบรมเจริญปัญญา


    ผู้ฟัง การที่เรารู้อายตนะ ๑๒ เกี่ยวข้องกับการอบรมเจริญปัญญาอย่างไร เท่าที่ศึกษามาการอบรมเจริญปัญญาก็เพื่อที่จะรู้ลักษณะของรูปธรรม และนามธรรม คราวนี้มีชื่อถึง ๑๒ ชื่อ แล้วจะเป็นชื่อมากกว่าไม่เข้าใจลักษณะที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมไม่มีชื่อ ข้อนี้คงไม่ลืม แต่ต้องใช้ชื่อเพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎก และอรรถกถาทั้งหมดเป็นชื่อที่ส่องถึงหมายถึงสภาพธรรมอะไรซึ่งมีจริงๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าอายตนะหมายความถึงอะไรที่เราจะต้องรู้ว่าเป็นรูปเท่าไหร่ เพราะเหตุว่าอายตนะภายในมี ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่บอกว่าเป็นประโยชน์ต่อการที่จะเข้าใจหรือเจริญสติปัฏฐานให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็คือว่าสิ่งที่กำลังฟังในขณะนี้ทำให้เห็นว่า " ไม่มีเรา "แม้แต่ที่เคยเป็นลิ้นก็คือสภาพธรรมที่เมื่อกระทบกับแข็ง และแข็งปรากฏ ไม่ใช่แข็งที่เป็นไม่ใช่ปสาทไปกระทบแข็ง แล้วจิตที่รู้แข็งจึงจะปรากฏได้ แต่ต้องเป็นปสาทรูปที่เป็นกายปสาทรูปด้วย ไม่ใช่จักขุปสาทรูป ตัวจริงๆ ก็คือกายปสาทรูปกระทบกับรูปที่อาจจะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว จะใช้คำว่านุ่ม จะใช้คำว่าเหลว จะใช้คำว่าเหนอะหนะ จะใช้คำอะไรได้หมด แต่ลักษณะนั้นสามารถกระทบกับกายปสาท

    ให้เราเข้าใจว่าจริงๆ แล้วไม่มีเรา ไม่มีเราเลย ขณะที่กำลังนั่งอยู่ ขณะนี้ ไม่มีใครเลยนอกจากนามธรรมกับรูปธรรม และนามธรรมก็ไม่ได้รู้ไปทั้งหมดทุกอย่างในขณะจิตเดียว แต่ต้องอาศัยว่าอาศัยรูปอะไร รู้อะไร อาศัยทวารไหน รู้อะไร คือให้เห็นความเป็นอนัตตาซึ่งเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ปัญญาที่จะรู้จริง รู้ไม่ต่างจากอย่างนี้จึงสามารถที่จะสละความเป็นเราได้ ความเป็นเราทั้งหมดนี่ต้องไม่มี เพิกอิริยาบถซึ่งเป็นกายตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าที่กำลังนั่ง

    ความจริงก็คือขณะใดก็ตาม รูปใดปรากฏ ขณะนั้นรูปอื่นที่เคยยึดถือว่าเป็นกายโดยสมุฏฐานที่เกิดต่างๆ เกิดแล้วดับแล้วหมด แต่รูปที่ยังไม่ดับคือรูปที่กระทบจักขุปสาท และปสาทรูปขณะนั้นก็ยังไม่ดับด้วย แล้วลองคิดถึงจักขุปสาทว่ามองก็ไม่เห็นแต่ว่ามี แล้วความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรมเป็นปัจจัยคือเมื่อเป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปัจจัยให้จิตเห็นขณะนี้เกิดขึ้นโดยที่ว่าสิ่งอื่นในโลกทั้งหมดไม่มีเลยในขณะนั้น นี่คือการที่จะรู้ว่านี่คืออนัตตา จะเอาอัตตามาจากไหน ในเมื่อขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งกำลังเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเองแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมทั้งหมด คือให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริง ซึ่งจะทำให้มีความมั่นคงในการที่จะเข้าใจธรรมว่าธรรมเป็นอย่างนี้ แล้วก็อบรมเจริญปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งความจริงอย่างนี้ ผิดจากนี้ไม่ได้เลย เพราะว่าความจริงเป็นอย่างนี้ และจะไปรู้ผิดๆ จากอย่างนี้ได้อย่างไร

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83


    หมายเลข 7193
    20 ม.ค. 2567