สัมปยุตธรรม


    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบความหมายของสัมปยุตธรรมว่า ปรมัตถธรรมมี ๔  คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑

    สำหรับจิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน พร้อมกัน ปราศจากกันไม่ได้ แยกกันไม่ได้ เมื่อเกิดพร้อมกันแล้ว ก็ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดที่เดียวกัน นั่นคืออรรถของสัมปยุตธรรม

    ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคินีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า

    จริงอยู่ เมื่อรูปธรรมและอรูปธรรมเกิดร่วมกัน รูปย่อมเกิดกับอรูป แต่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สัมปยุตต์กัน

    อรูปก็เหมือนกัน คือ เกิดร่วมกับรูป แต่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สัมปยุตต์กัน

    และรูปก็เกิดร่วมกับรูป แต่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สัมปยุตต์กัน

    ส่วนอรูปโดยนิยมทีเดียว เกิดร่วมกันกับอรูป เกี่ยวข้องกัน สัมปยุตต์กันทีเดียว

    ที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ก็เพื่อที่จะให้ประจักษ์ชัดจริง ๆ ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมนั่นเอง โดยขั้นของการฟัง ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ที่จะค่อย ๆ ปรุงจนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด แล้วก็น้อมระลึกพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรม รู้ลักษณะของรูปธรรม จนกว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏ โดยสภาพที่แยกขาดจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่สัมปยุตต์กัน แม้ว่าจะเกิดร่วมกัน

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า สำหรับนามธรรม คือ จิตและเจตสิกนี้ ใช้คำว่า “สัมปยุตตะ” เพราะเข้ากันได้ และเกี่ยวข้องโดยเหตุ ๔ ประการ ท่านใช้คำว่า โดยประการต่าง ๆ คือ นอกจากจะเกิดร่วมกันแล้ว ก็ยังรู้อารมณ์เดียวกันด้วย

    ดูเป็นเรื่องธรรมดา ใช่ไหมคะ แต่ให้เห็นว่า สภาพของนามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียด ละเอียดกว่ารูปธรรม ซึ่งรูปธรรมก็แยกออกเป็นรูปหยาบและรูปละเอียด แต่แม้กระนั้นสภาพธรรมที่เป็นรูปละเอียด ก็ยังไม่ละเอียดเท่ากับนามธรรม


    หมายเลข 7098
    23 ส.ค. 2558