วิบากต่างกันเพราะความวิจิตรของกรรมและจิตที่สะสมมาต่างๆกัน


    สำหรับอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการต่าง ๆ คือ

    ๑. ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์

    ๒. ชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ๓. ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติ อันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก   

    ซึ่งทุกท่านก็จะเห็นได้ว่า วิบากที่เกิดขึ้นต่าง ๆ กันไป ตามการสั่งสมของกรรมและกิเลส ซึ่งเนื่องกับลักษณะของจิตประการที่ ๔ คือ

    ๔. อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    นี่เป็นอรรถ คือ ลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งสืบเนื่องกับลักษณะประการที่ ๓ ที่ชื่อว่า ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก   

    วิบากที่ปรากฏต่างกันนี้ ต่างกันตามอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ที่ว่า ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงครบถ้วนทั้งอรรถและพยัญชนะ “วิบาก” ซึ่งเป็นผลในปัจจุบันของชาตินี้ของทุกท่านต่างกัน เพราะความวิจิตรของกรรมและจิตที่สะสมมาในอดีตต่าง ๆ กัน

    เพราะเหตุว่าที่ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตร แปลว่าต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ที่วิจิตร คือ ต่าง ๆ ตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    ต้องมีเหตุที่ทำให้จิตต่างกัน เพราะฉะนั้น อะไรจะเป็นเหตุที่ทำให้จิตต่างกัน จิตเป็นสังขารธรรม เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นซึ่งจะต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง โดยเจตสิกเป็นธรรมชาติอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เพราะฉะนั้นเจตสิกนั่นเองเป็นสัมปยุตธรรมที่เกิดกับจิตที่ทำให้จิตต่าง ๆ กันไป

    ในอดีต จิตของแต่ละท่านก็ต่างกันมาก จนกระทั่งทำให้ผล คือ วิบากในปัจจุบันต่างกัน ไม่ว่าจะมีประชาชนมากน้อยสักเท่าไรในโลกย่อมต่างกันตามกรรม ตามความวิจิตรของเหตุ ตั้งแต่รูปร่างหน้าตา จนกระทั่งถึงการได้ลาภ การเสื่อมลาภ การได้ยศ การเสื่อมยศ สุขและทุกข์ นินทา สรรเสริญ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลซึ่งมาแต่เหตุในอดีตที่ต่างกัน เมื่อเหตุในอดีตซึ่งทำให้ผลในปัจจุบันต่างกันตั้งแต่เกิดตลอดจนกระทั่งถึงแม้แต่จะสิ้นชีวิต ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า แต่ละท่านจะจากโลกนี้ไปโดยอาการอย่างไร ในวันไหน นอกบ้าน หรือว่าในบ้าน บนบก หรือว่าในน้ำ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ด้วยโรคภัยไข้เจ็บชนิดหนึ่งชนิดใด ก็ย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งเป็นเหตุในอดีต วิบากในปัจจุบันชาติที่เห็นก็ต่างกันจริง ๆ และไม่ใช่แต่เฉพาะวิบากในปัจจุบันที่ต่างกัน แม้เหตุคือความวิจิตรของจิตในปัจจุบันชาตินี้เอง ก็ยิ่งต่างกันออกไปอีก สำหรับที่จะให้เกิดวิบาก คือ ผลข้างหน้าที่ต่างกันออกไป

    เพราะฉะนั้น ความต่างกัน คือ ความวิจิตรไม่มีที่สิ้นสุดตามสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

     


    หมายเลข 7097
    23 ส.ค. 2558