เป็นอาสวะเพราะหมักดอง สะสม ไหลอยู่เป็นประจำ


    ส.   ที่ว่าเป็น “อาสวะ” เพราะว่า หมักดอง สะสม ไหลอยู่เป็นประจำเหมือนกับแผล ซึ่งย่อมมีเลือด หรือหนองไหลออก

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีตา เป็นทางไหลออก มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เป็นทางออกของกิเลส คือ ทันทีที่เห็น “รูป” หยุดยั้งความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏไม่ได้ เพราะมีอวิชชาซึ่งเป็นอาสวะ ๑ ในอาสวะ ๔

    เพราะฉะนั้นกามาสวะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ฏฐัพพะ หมักดอง แล้วสะสมพอกพูนอยู่ พร้อมที่จะไหลอยู่ทุกขณะที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นั่นเป็น “กามาสวะ” ซึ่งเป็นความจริง ทุกท่านพิสูจน์ได้ เวลาที่หลงลืมสติ ไปแล้วกับความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

       ภวาสวะ คือ ความพอใจในภพ ในความเป็นอยู่ ซึ่งแม้ว่าผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคลละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ  สามารถที่จะดับกามาสวะ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นสมุจเฉท คำว่า “เป็นสมุจเฉท” คือ ไม่มีเชื้อที่จะเกิดขึ้นได้เลย ที่พระอนาคามีบุคคลจะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นพระอนาคามีดับกามตัณหา คือ ความยินดีพอใจในรูป ซึ่งปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏในจมูก ในรสที่ปรากฏทางลิ้น ในการกระทบสัมผัสซึ่งปรากฏทางกาย

    เพราะฉะนั้นพระอนาคามียังมีความพอใจในอะไรอยู่ ลองคิดดูถึงสภาพของจิต ที่ต่างกันจากความเป็นปุถุชน ซึ่งพอใจไปหมดทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี สามารถที่จะดับสนิทซึ่งความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ  เพราะฉะนั้น เวลาเห็นนี้ ปุถุชนนี้ยินดีแล้ว พอใจแล้ว เป็นอาสวะ เกิดขึ้นแล้ว ไหลไปแล้วทันที แต่พระอนาคามีไม่มีอนุสัยกิเลสที่จะทำให้เกิดความยินดีพอใจ ซึ่งเป็นกามาสวะเลย

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเป็นกุศลจิตสำหรับพระอนาคามี ไม่ใช่เป็นอกุศล ในเมื่อวิถีจิตของผู้ที่เป็นปุถุชนนี้ เวลาเห็นแล้ว โลภมูลจิตเกิด ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ โทสมูลจิตประกอบด้วยความรู้สึกไม่แช่มชื่นเกิด ถ้าขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ โมหมูลจิตเกิด ถ้าขณะนั้นไม่ประกอบด้วยโลภะและโทสะ และถ้าในขณะนั้นไม่เป็นไปกับกุศลซึ่งเป็นทาน หรือเป็นศีล หรือเป็นความสงบของจิต หรือเป็นสติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด แต่พระอนาคามีไม่มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นใด ๆ ที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏที่ลิ้น สิ่งใด ๆ ที่กระทบสัมผัสกาย

    เพราะฉะนั้นย่อมเป็นโมหมูลจิตในบางครั้ง ถ้าเป็นอกุศล แต่ว่าไม่มีโทสมูลจิตเกิดอีกต่อไป แล้วก็ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกุศลจิต ซึ่งเมื่อเป็นกุศลแล้ว ย่อมสงบ เพราะฉะนั้นพระอนาคามีบุคคลยังยินดีพอใจในกุศลซึ่งเป็นความสงบ แม้เมื่อมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่าพระอนาคามียังไม่ได้ดับภวาสวะ ความยินดีพอใจในภพ ในชาติ ในการเกิดขึ้นของจิต ในการเป็นไปในระหว่างที่ยังไม่จุติ

    นี่คือความต่างกันนะคะ เพราะฉะนั้นอาสวะจึงมี ๔ ได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิด และอวิชชาสวะ ความไม่รู้ ซึ่งมีอยู่ในขณะที่ไม่ได้บรรลุคุณธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ อวิชชาสวะก็ยังคงมีอยู่ แต่ว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ดับทิฏฐาสวะ ผู้ที่เป็นพระอนาคามีแล้วดับกามาสวะ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับอาสวะและกิเลสทั้งหมด


    หมายเลข 7000
    24 ส.ค. 2558