อายตนะ กับตัวสภาพธรรมที่เป็นอายตนะ


    แต่ถ้ามีความเข้าใจก่อน ว่า นี่คือ ธรรม จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ แม้ว่าไม่ต้องใช้คำว่าอายตนะ แต่ว่ามีความเข้าใจในภาษานั้น คือเข้าใจลักษณะสภาพธรรมในภาษานั้น ต่อไปได้ยินคำไหนก็สามารถที่จะเข้าใจได้ เช่น ในขณะนี้มีเห็น ใช่ไหม แล้วก็มีสิ่งที่ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นด้วย เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือ ตา แล้วก็ไม่มีสิ่งที่กระทบตา เห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเห็นนี้ขณะนี้ ก็จะต้องมีธรรม ไม่ใช่แต่เฉพาะเห็นอย่างเดียว ต้องมีจักขุปสาทแล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เรายังไม่พูดถึงภาษาบาลีเลย แต่ว่าให้เข้าใจในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่าจะต้องมีจักขุปสาท คือ สิ่งที่สามารถกระทบกับสีสันวัณณะในขณะนี้ได้แน่นอน แล้วก็ต้องมีจิตเห็นด้วย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จึงปรากฏได้

    ทั้งหมดเป็นอายตนะ หมายความว่าเป็นที่ประชุม ที่ต่อ ที่ทำให้จิตเกิดขึ้นแล้วก็รู้อารมณ์ คือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะเหตุว่าจะมีสภาพธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีสภาพอื่นเกิดร่วมด้วยเช่น เวลาที่จิตเกิดขึ้น เกิดตามลำพังจิตอย่างเดียวได้ไหม ธรรมทั้งหลายที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตกับเจตสิกจะแยกจากกันได้ไหม จิตเกิดตรงนี้ เจตสิกไปเกิดตรงโน้น ไม่ได้เลย แต่ที่ใด ขณะใดที่จิตเกิด ที่นั่นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องมีเจตสิก และจิตต่ออยู่ด้วยกัน หรือว่าเป็นที่เกิด ทั้งจิต และเจตสิกเป็นอายตนะ แต่เรียกชื่อต่างกันไป คือ สำหรับจิตเป็นมนายตนะ เพราะว่าเราสามารถที่จะใช้คำหลายคำเรียกชื่อจิตได้ มนะก็ได้ มโนก็ได้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงอายตนะ ใช้คำว่า “มนายตนะ” สำหรับธรรมทุกอย่างที่เกิดแล้วก็ดับ แต่ขณะที่เกิดต้องมีสภาพธรรมเกิดร่วมด้วย แล้วเราก็จำแนกอายตนะออกไปเป็นส่วนๆ แต่ส่วนที่ไม่ได้จำแนกก็เป็นธัมมายตนะ เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรมอยู่แล้ว แม้เจตสิกก็เป็นธัมมายตนะ เพราะเจตสิกไม่ใช่จิต

    เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตก็เป็นมนายตนะ เจตสิกก็เป็นธัมมายตนะ เช่น ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก รวมเป็นธัมมายตนะ คือต้องมีในขณะที่จิตเกิด

    เพราะฉะนั้นในขณะเห็นเดี๋ยวนี้ ต้องมีจักขุปสาท ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ภาษาบาลีใช้คำว่า "รูปายตนะ" และก็ต้องมีจิต และก็ต้องมีเจตสิกด้วย

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ถ้าศึกษาต่อไป ก็ไม่สงสัยเลยในเมื่อเข้าใจในเรื่องของความเป็นอายตนะ ก็คือว่า ที่ใดที่มีสภาพธรรมเกิดขึ้น ที่นั้นก็จะต้องมี "อายตนะ" มีการประชุมรวมกัน แล้วแต่ว่าที่นั้นมีอายตนะอะไรบ้าง เช่น ขณะเห็น ต้องมีจักขุปสาทเป็นจักขายตนะ คือเติมเข้าไปว่าอยู่ตรงนั้น มีอยู่ตรงนั้น ถ้าปราศจากสิ่งนั้นแล้วก็จิตเห็นเกิดขึ้นไม่ได้ เป็นที่ต่ออันหนึ่ง ขณะนั้นก็เป็น"จักขายตนะ" และก็ต้องมีสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏเป็น"รูปายตนะ"ขาดไม่ได้ และก็ต้องมีจิตเป็น"มนายตนะ" และก็ต้องมีเจตสิกเป็น "ธัมมายตนะ" หมายความว่าถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ เมื่อได้ยินเกิดทางทวารอื่น ก็ต้องมีโสตปสาท ต้องมีเสียง และก็ต้องมีจิตได้ยิน และก็ต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังได้ยินนี้เอง ถ้าได้ยินแล้วเข้าใจ เวลาใครพูดเรื่องอายตนะ ไม่สงสัยเพราะเข้าถึงอรรถ เข้าใจความหมาย ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่ชื่อ แล้วก็สงสัยว่าชื่อนี้คืออะไร แปลว่าอะไร ได้แก่อะไร แต่สภาพธรรมในขณะที่ได้ยินนั้นเอง จิตเป็นมนายตนะ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นธัมมายตนะ และก็ต้องมีโสตปสาทรูป ขาดไม่ได้เลย ก็ต้องเป็น "โสตายตนะ" และก็ต้องมีเสียงซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าสัททะ เพราะฉะนั้นเสียงที่กำลังปรากฏตรงนั้น ต่อตรงนั้น ประชุมตรงนั้น ก็เป็น "สัททายตนะ" ในเมื่อเสียงอื่นที่ไม่ได้ยินก็เกิดไปดับไปโดยไม่เป็นอายตนะ

    เพราะฉะนั้นก็เข้าใจได้เลยถึงคำว่า อายตนะ และก็เข้าใจตัวสภาพธรรมที่เป็นอายตนะด้วย เพราะฉะนั้น "อนุบาล" ก็คือเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วชื่อตามมาทีหลัง เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจความหมายของ “อายตนะ” ก็รู้เลย หมายถึงสภาพธรรมที่ประชุมมีอยู่ต่อกันเป็นปัจจัยให้มีการได้ยิน หรือมีการเห็น หรือว่ามีสภาพที่รู้อารมณ์

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55


    หมายเลข 6570
    19 ม.ค. 2567