ธรรมชาติของจิตสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี


    อ.ธิดารัตน์ ก็ขอกล่าวถึงคำว่า “สั่งสม” ในธัมมสังคณี ที่อธิบายเรื่องของจิต ท่านจะใช้คำว่าย่อมสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี คำว่า “สั่งสม” ท่านจะมีใช้อยู่ในธัมมสังคณี และจะมีอยู่ในอรรถกถา และก็ทั่วไปจะพบได้ในพระไตรปิฎก

    ท่านอาจารย์ ก็ขอกล่าวถึงคำภาษาบาลี เพราะว่าบาลีไม่มีแน่ “สั่งสม” เป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับผู้แปลว่าผู้แปลคัมภีร์นั้นจะใช้คำอะไร ถ้าผู้แปลคัมภีร์ในยุคนั้นจะใช้คำว่า “สะสม” และเราก็เข้าใจได้ กับผู้แปลอีกท่านหนึ่งจะใช้คำว่า “สั่งสม” ก็เข้าใจได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความจำกัดว่า เมื่อผู้แปล แปลจากอรรถสาลินีซึ่งเป็นภาษาบาลีแล้ว ใช้คำว่าสั่งสมแล้ว เราจะใช้คำอื่นไม่ได้ ที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจได้ หรือว่าไม่จำเป็น ตายตัวว่าทุกครั้งที่พูดเรื่องลักษณะของจิตจะใช้คำว่าสะสมไม่ได้ ต้องใช้คำว่าสั่งสม อันนั้นก็ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าภาษาบาลีไม่มีคำว่าสั่งสม ขึ้นอยู่กับผู้แปล ขอเรียนเชิญอาจารย์สมพรอธิบาย

    อ.สมพร เรื่องสั่งสม กับสะสม ซึ่งก็ไม่แปลกกัน เพราะว่าบางคนชำนาญมาในคำว่าสั่งสม บางคนชำนาญมาในคำว่าสะสม ก็คือจิตนั่นเอง สั่งสม หรือสะสม หมายความว่าที่อาจารย์กล่าวว่าสั่งสมสันดาน ถูกแล้ว คือว่าแม้พระองค์ก็ไม่ทรงละเลยคำพูดของประชาชน ไม่ใช่เอาแต่คำของพระองค์อย่างเดียว สิ่งใดที่รู้ได้ด้วยอำนาจบัญญัติพระองค์ก็อนุโลมตามในที่นี้คำว่า “สะสม” “สั่งสม” คือสะสมของจิต หรือสั่งสมของจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราชำนาญอย่างไหน แต่เราเข้าใจว่าจิตนั้นเป็นธรรมชาติสะสมจริงๆ เพราะว่าสันดานของเราถ้ามีโลภะมากก็สั่งสมโลภะมากเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในภายใน ถ้าเราสะสมโทสะมากเราก็โกรธง่าย เพราะฉะนั้นสะสม หรือสั่งสมขอให้ละ โลภะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นใจความอย่างสำคัญ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52


    หมายเลข 6515
    18 ม.ค. 2567