จิตที่เกิดขึ้นต้องเป็นชาติใดชาติหนึ่งเสมอ


    อ.วิชัย สำหรับการเกิดขึ้นของมนุษย์ แต่ละท่านก็มีจิตปฏิสนธิในภูมิที่เป็นมนุษย์ จิตที่เป็นปฏิสนธิเป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติวิบาก

    อ.วิชัย หลังจากที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังทรงเห็น หรือไม่

    ผู้ฟัง เห็น

    อ.วิชัย จิตเห็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติวิบาก

    อ.วิชัย เป็นภูมิอะไร

    ผู้ฟัง เป็นกามาวจรภูมิ

    อ.วิชัย ดังนั้นจิตเห็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นภูมิอะไร

    ผู้ฟัง เป็นกามาวจรภูมิ

    ท่านอาจารย์ มี ๒ คำ ชาติ (ชา-ติ) แปลว่าการเกิด และภูมิก็คือระดับขั้นของจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่เรากล่าวถึงจิต เราไม่ได้กล่าวถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด เราจะกล่าวถึงเฉพาะจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบุคคลนั้นเราจะสมมติเรียกว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือท่านพระสารีบุตร หรือใครก็ตามแต่ เรากล่าวเฉพาะจิต เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงเรื่องชาติ (ชา-ติ) การเกิด ก็จะมีต่างกันเป็น ๔ ประการ คือเป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ จะเกิดที่ใด กับพรหมบุคคล หรือใครๆ ก็ตามแต่ จิตที่เกิดขึ้นต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดเสมอ ถ้าเป็นกุศลในขณะนั้นจะเป็นวิบากซึ่งเป็นผลไม่ได้ และถ้าเป็นวิบากขณะนั้นจะไปเป็นเหตุซึ่งเป็นกุศล และอกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องกล่าวเต็ม กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลวิบากก็เป็นผลของอกุศลกรรม เป็นสิ่งที่เตือนย้ำให้เรารู้ว่าคำว่า " วิบาก หมายความถึงจิต และเจตสิก" เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้ รูปของแต่ละท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานด้วย ทำให้รูปร่างหน้าตาต่างกันหมดเลย สูง ต่ำ ดำ ขาว แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปจะเป็นอย่างไร รูปขาว รูปสีต่างๆ ก็แล้วแต่ ก็เป็นเพียงแต่สิ่งที่เป็นผลของกรรมที่ทำให้รูปนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นรูปจะเป็นวิบากเป็นผลโดยตรงจริงๆ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าอกุศลเป็นเรื่องของจิต เวลาที่มีเจตนาที่เบียดเบียนคนอื่นต้องการให้บุคคลอื่นเดือดร้อน เพราะฉะนั้นเมื่อมีเจตนาอย่างนั้น ผลไม่ใช่คนอื่นจะเดือดร้อนเพราะความคิด หรือการกระทำของเรา แต่เจตนาของบุคคลนั้นเองต่อไปข้างหน้าก็จะเป็นปัจจัยให้จิตประเภทหนึ่งซึ่งเป็นวิบากที่ไม่ดี เป็นผลของกรรมคือเจตนาที่ได้กระทำไปแล้วเกิดขึ้น ผลของกรรมก็คือว่าหลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว เพราะว่ากรรมให้ผลตั้งแต่ปฏิสนธิ คือขณะแรกที่เกิดถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมจะเกิดเป็นคนไม่ได้ จะเกิดในสวรรค์ก็ไม่ได้ ต้องไปเกิดเป็นเปรต หรืออสูรกาย เกิดในนรก หรือเกิดเป็นเดรัจฉาน นั่นคือปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบาก แต่ถ้าเป็นกุศลวิบาก ก็จะไปเกิดในอบายไม่ได้ ไปเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสรูกาย เป็นเดรัจฉานก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ทำให้กุศลวิบากทำกิจขณะแรกคือปฏิสนธิเกิดขึ้น นั่นคือผลของกรรม แต่ก็ยังไม่พอ ไม่เพียงแต่ทำให้ปฏิสนธิ แต่ยังทำให้บุคคลนั้นไม่สิ้นชีวิตระหว่างยังที่ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไร เช่นขณะที่หลับสนิทเป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรมที่ทำให้ต้องเป็นบุคคลนี้อยู่ แม้ว่าจะทำกุศลมหาศาล จะเปลี่ยนให้คนนั้นเป็นเทวดา นางฟ้าทันทีในชาตินั้นได้ หรือไม่ ไม่ได้ ต้องตายก่อน ต้องหมดสิ้นกรรมนั้นก่อน และกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดในภพอื่นจึงจะให้ผลได้

    เพราะฉะนั้นในชาตินี้ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ในเรื่องกรรม และผลของกรรม เพราะว่าเมื่อผลของกรรมทำให้เกิด และทำให้ดำรงภพชาติแล้วก็ยังไม่พอ ยังทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นขณะนี้รู้ได้เลย เป็นผลของกรรม กรรมทำให้จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาทเกิด เพื่อเป็นทางที่จะให้ผลของกรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นบางคนจะหนีไฟไหม้ หรือว่าจะหนีโรคภัยต่างๆ หรือว่าทุกข์กายบาดแผลต่างๆ ก็หนีไม่ได้ เมื่อถึงกาละที่กรรมนั้นจะให้ผล กายวิญญาณก็เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบกาย หลีกเลียงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทำให้ทุกคนมีความมั่นใจ เข้าใจถูก เพราะขณะนี้มีผลของกรรมแล้ว มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมาจากเหตุที่สมควร ถ้าเป็นกุศลวิบากก็มาจากกุศลกรรม ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็มาจากอกุศลกรรม

    การเข้าใจอย่างนี้จะทำให้กุศลจิตเพิ่มขึ้น คือไม่เบียดเบียนใคร ไม่หวังร้ายใคร เพราะเหตุว่าเขาไม่มีทางที่จะได้รับผล ถ้าไม่ใช่เป็นกรรมของเขาเอง แต่เราผู้คิดจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นวันหนึ่งวันใดข้างหน้า เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวถึงว่าแม้ขณะนี้เราก็ได้แล้ว ซึ่งผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นถ้าเราหวังในผลเช่นลาภยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งคนส่วนใหญ่จะอดหวังไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจเรื่องกรรมจึงหวังสิ่งข้างหน้าที่ยังไม่เกิดด้วยความติดข้อง แต่หารู้ไม่ว่าขณะนี้กำลังได้รับผลที่หวังแล้วจากอดีตที่เคยหวัง เพราะฉะนั้นจะหวังอะไรอีกในเมื่อขณะนี้เป็นผลของความหวังที่ได้เคยหวังมาแล้ว เท่านั้นเอง หวังอีก หวังจะได้อีก ก็แค่เห็นอย่างขณะนี้แล้วก็หมดไป ถ้าหวังจะได้สิ่งที่ดีอีกก็จะได้ยินเหมือนขณะนี้แล้วก็หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากความติดข้องกับความหวังในสิ่งที่เป็นเพียงรูปที่ปรากฏทางตา เป็นเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก เป็นรสที่ปรากฏทางลิ้น เป็นโผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกายเท่านี้

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็จะมีความมั่นคงไปจนกระทั่งถึงสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย จะหวังรู้อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้น นี้ก็แสดงให้เห็นว่าถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ความสัมพันธ์ของความเข้าใจทั้งหมดก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มั่นคงขึ้น และถ้ายังคงมีความไม่รู้ลักษณะของความติดข้องจะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ หรือไม่ หรือแม้เพียงแต่คิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าถูกปิดบังไว้ด้วยความติดในสิ่งที่กำลังปรากฏ และด้วยการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา นี้เป็นเรื่องของชาติซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เอาชื่อออกหมด สภาพของจิตที่เกิดขึ้นเป็นอกุศลก็ยังคงเป็นอกุศล อรูปพรหมบุคคลไม่ได้เกิดในภูมิมนุษย์ เวลาที่ทำฌาณจิตขั้นสูงจนกระทั่งถึงไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เวลาเกิดก็มีแต่นามธรรมคือจิต และเจตสิกเกิดในอรูปพรหมภูมิ มีอกุศลจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง มีอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ นี้ก็คือความละเอียดซึ่งเราจะเห็นความต่างของภูมิ มิฉะนั้นก็ไม่มีความต่างเลย แต่ทรงแสดงระดับขั้นของจิต ซึ่งเราก็จะทราบว่าจิตที่เกิดจะให้มี ๕ ภูมิก็ไม่ได้ ๖ ภูมิก็ไม่ได้ เพราะว่าภูมิแรก ภูมิต้น ภูมิต่ำที่สุดก็คือกามาวจรจิตเป็นกามภูมิ ระดับไหน ระดับที่เป็นธาตุที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะติดในอะไร ติดอย่างอื่นได้ หรือไม่ ต้องติดในสิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นรูปจะไปติดในเสียงได้ หรือไม่ในขณะที่กำลังเห็นรูป ไม่ได้ ในขณะที่ได้ยินเสียงจะไปติดในกลิ่นได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่เคยรู้เลย อย่างละเอียดแล้ว แม้หนึ่งขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้น และดับไป หลังจากนั้นก็คืออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดคือจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต เป็นปกติธรรมดา นี่คือภูมิต่ำที่สุดคือกามภูมิต้องเป็นอย่างนี้ และก็ชาติอกุศลก็มากมายเหลือเกิน เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจจริงๆ วันหนึ่งๆ ก็มีแต่อกุศลจิตมากกว่ากุศลจิตแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องทราบว่านี้เป็นเรื่องชาติ ถ้ากล่าวถึงชาติคือ ๔ ชาติ กุศล ๑ อกุศล ๑ เป็นเหตุ วิบากเป็นผล กิริยาคือไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50


    หมายเลข 6493
    18 ม.ค. 2567