การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละอภิชฌาและโทมนัส


    เรื่องของจิตตานุปัสสนาประการต้น คือ สราคจิต ได้แก่ จิตที่เป็นโลภมูลจิต มีความยินดี มีความพอใจ มีความต้องการในอารมณ์ที่ปรากฏ ข้อสำคัญคือ ถึงแม้ว่าจะเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะต้องฟังด้วยความแยบคาย ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่า เมื่อฟังเรื่องของการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว ก็เกิดความต้องการขึ้นมาอีกแล้ว ต้องการที่จะเจาะจงรู้ลักษณะของโลภมูลจิต บางท่านอาจจะเป็นอย่างนั้น ถ้าท่านไม่มีความแยบคายในการฟัง เพราะความต้องการอย่างละเอียดคอยติดตาม คอยกระซิบ คอยแทรกอยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่ท่านยังไม่รู้เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง อย่างโลภมูลจิต ก็เป็นจิตที่มีเป็นปกติประจำวัน และก็มีมากด้วย

    ถ้าจะระลึกในขณะที่กำลังเดินไปเพื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นจิตประเภทไหน ขณะนั้นกำลังเดินไปเพราะความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามปกติ เกิดระลึกถึงสภาพของจิตได้ จิตในขณะนั้นจะเป็นจิตประเภทไหน เป็นความต้องการไหม ก็เป็นโลภมูลจิต เป็นสราคจิต

    การเจริญสติปัฏฐานนั้นละอภิชฌา และโทมนัส ไม่ใช่ส่งเสริมให้ท่านมีความต้องการ หรือให้มีความอยากจะรู้นั่นรู้นี่ แต่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วแต่สติ สติจะระลึกรู้ลักษณะของกายก็ได้ ของเวทนาก็ได้ ของจิตประเภทใดๆ ก็ได้ ไม่ต้องเลือก ไม่ต้องเจาะจงว่าจะต้องเป็นประเภทนั้นประเภทนี้ แต่ของธรรมใดๆ ก็ได้ ที่เป็นของจริงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้น มากขึ้น และระลึกทันที รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทันที ส่วนการที่จะรู้มาก ละคลายได้ ก็ต้องแล้วแต่ว่าสติระลึกได้บ่อยๆ เนืองๆ มากแค่ไหน


    หมายเลข 6395
    6 ต.ค. 2566