การระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต


    ขอให้พิจารณาดูว่า การที่รู้สราคจิต หรือว่าโลภมูลจิตนั้น เป็นการกระทำกิจทั้ง ๔ ในอริยสัจจ์หรือไม่

    กิจที่ ๑ คือ การรู้ทุกข์ ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตบ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมจะทำให้ประจักษ์ความไม่เที่ยงของสราคจิต ของโลภมูลจิตได้ว่า เป็นทุกข์ เป็นทุกขอริยสัจจะ ในขณะที่พิจารณาสภาพลักษณะของโลภมูลจิต ก็เป็นการกระทำกิจของทุกขอริยสัจจ์ คือ การพิจารณารู้ พร้อมกันนั้นก็เป็นการละสมุทยสัจจ์ที่มีการยึดถือ หรือพอใจว่า สราคจิตนั้นเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่พิจารณาลักษณะของสราคจิต ก็เป็นการกระทำกิจทั้ง ๔ คือ

    เมื่อพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ แล้ว จะทำให้ประจักษ์ความเกิดดับของสราคจิตได้ และในขณะที่พิจารณาลักษณะของสราคจิตนั้น ก็ถ่ายถอนความยินดีที่เคยยึดถือโลภมูลจิต สราคจิตว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล ในขณะที่พิจารณาบ่อยๆ จะทำให้เกิดการละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน ซึ่งจะทำให้เป็นการดับสนิทของการเห็นผิดที่ยึดถือสราคจิตว่าเป็นตัวตน ก็เป็นการที่จะทำให้แจ้งในอริยสัจจะที่ ๓ และในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสราคจิตครั้งหนึ่ง ก็เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นการกระทำกิจของอริยสัจจะที่ ๔ คือ การเจริญมรรค

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องของการที่จะพิจารณาลักษณะของโลภมูลจิต ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน


    หมายเลข 6398
    6 ต.ค. 2566